คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 430/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยกับผู้เสียหายแต่งงานกันตามลัทธิศาสนาอิสลาม มีบุตรด้วยกัน 1 คน ต่อมาจำเลยกับผู้เสียหายแยกกันอยู่แต่มิได้หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน ดังนั้น การที่จำเลยพาผู้เสียหายไปกักขังเพื่อกระทำอนาจารและข่มขืนกระทำชำเรา จึงอาจเป็นกรณีที่จำเลยกระทำไปโดยเข้าใจว่าจำเลยมีสิทธิกระทำได้กับภริยาซึ่งมีบุตรด้วยกัน และบุตรก็ยังอยู่กับจำเลย อันเสมือนกับทำโดยวิสาสะ ย่อมไม่เข้าลักษณะกระทำโดยมีเจตนาร้ายไม่เป็นความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจาร หน่วงเหนี่ยวกักขัง และข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย
จำเลยถอดเอาแหวนและตุ้มหูของผู้เสียหาย โดยจำเลยบอกกับผู้เสียหายว่า ถ้ามีแหวนและตุ้มหูติดตัวอาจมีเงินหลบหนีได้แสดงให้เห็นว่า จำเลยมีเจตนาเพียงที่จะป้องกันมิให้ผู้เสียหายหลบหนี หามีเจตนาทุจริตที่จะเอาทรัพย์สินของผู้เสียหายเป็นประโยชน์ส่วนตัวไม่ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91,276, 284, 310, 339 และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 1,200 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 284 ประกอบมาตรา 83 มาตรา 310, 276 วรรคหนึ่ง และมาตรา 339เรียงกระทงลงโทษทุกกรรม โดยลงโทษความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจาร วางโทษจำคุก 1 ปี ฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังวางโทษจำคุก1 ปี ฐานข่มขืนกระทำชำเราวางโทษจำคุก 4 ปี ฐานชิงทรัพย์วางโทษจำคุก 5 ปี รวมจำคุกจำเลยมีกำหนด 11 ปี ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์เป็นเงิน 1,200 บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘…ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยได้กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความเป็นยุติว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยกับผู้เสียหายเคยอยู่กินฉันสามีภริยากันมาก่อน และเกิดบุตรด้วยกัน 1 คน ต่อมาจำเลยกับผู้เสียหายแยกกันอยู่โดยผู้เสียหายอยู่กับบิดามารดาของผู้เสียหาย ส่วนจำเลยอยู่ที่อื่น พิเคราะห์แล้วเห็นว่ากรณีที่จำเลยพาผู้เสียหายไปและหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหาย เพื่อให้ผู้เสียหายยอมอยู่กินเป็นสามีภริยากับจำเลยตามเดิม โดยจำเลยกับผู้เสียหายเคยอยู่กินเป็นสามีภริยากันมาก่อนแต่แยกกันอยู่เพราะจำเลยทะเลาะกับผู้เสียหายก่อนเกิดเหตุประมาณ 4 เดือน เท่านั้นตามข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฎชัดว่าจำเลยหย่าขาดกับผู้เสียหายตามกฎหมายอิสลามโดยนายหย่า มุหมีน บิดาผู้เสียหายเบิกความว่าจำเลยกับผู้เสียหายทำพิธีแต่งงานกันตามลัทธิศาสนาอิสลาม และนายหะยีตอหะ กาจิ โต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิดในหมู่บ้านพยานจำเลยเบิกความรับรองว่า จำเลยกับผู้เสียหายยังไม่ขาดจากการเป็นสามีภริยากัน การที่จำเลยพาผู้เสียหายไปเพื่อกระทำอนาจารและข่มขืนกระทำชำเรา จึงอาจเป็นกรณีที่จำเลยกระทำไปโดยเข้าใจว่าจำเลยมีสิทธิกระทำได้กับภริยาซึ่งมีบุตรด้วยกันและบุตรก็ยังอยู่กับจำเลย อันเสมือนกับทำโดยวิสาสะ ย่อมไม่เข้าลักษณะกระทำโดยมีเจตนาร้าย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจาร หน่วงเหนี่ยวกักขังและข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย ส่วนข้อหาฐานชิงทรัพย์นั้นข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่า ตอนที่จำเลยถอดเอาแหวนและตุ้มหูของผู้เสียหายซึ่งสวมใส่ไป จำเลยบอกกับผู้เสียหายว่าถ้ามีแหวนและตุ้มหูติดตัวอาจมีเงินหลบหนีได้ แสดงให้เห็นชัดว่าการที่จำเลยถอดเอาแหวนและตุ้มหูของผู้เสียหายไปนั้น จำเลยมีเจตนาเพียงที่จะป้องกันมิให้ผู้เสียหายหลบหนี หามีเจตนาทุจริตที่จะเอาทรัพย์สินของผู้เสียหายเป็นประโยชน์ส่วนตัวไม่…’
พิพากษายืน.

Share