คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 916/2521

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ลูกหนี้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตกับธนาคารเจ้าหนี้ ซื้อของจากต่างประเทศ ผู้ขายส่งของเข้ามายังธนาคารเจ้าหนี้แล้ว ลูกหนี้ไม่มีเงินชำระราคาจึงทำสัญญาทรัสตร์รีซีทรับของไปขายก่อน จะนำเงินมาชำระภายหลังลูกหนี้สลักหลังเช็คที่ลูกหนี้เป็นผู้ทรงขายลดแก่ธนาคารเจ้าหนี้ ดังนี้ หนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทไม่ได้กำหนดดอกเบี้ยไว้จึงเรียกได้ร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีตั้งแต่วันผิดนัด ไม่มีประเพณีหรือบทบัญญัติในพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ฯให้เรียกได้มากกว่านั้นธนาคารเจ้าหนี้ฟ้องเรียกเงินตามเช็คเมื่อธนาคารเรียกเก็บเงินไม่ได้เป็นการฟ้องตามเช็คอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1002 แม้ลูกหนี้มีบัญชีกระแสรายวันกับธนาคารก็ไม่ใช่บัญชีเดินสะพัดที่จะใช้อายุความ 10 ปี

ย่อยาว

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เห็นควรให้ลูกหนี้ชำระหนี้แก่ธนาคารเจ้าหนี้ โดยให้ดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี ตั้งแต่วันผิดนัด รวมเป็นเงิน 952,233.24 บาท ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเห็นชอบ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้จำนวนเงินเพิ่มให้ถูกต้องอีก 43.12 บาท ธนาคารเจ้าหนี้ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “สำหรับหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า ลูกหนี้ได้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตกับธนาคารเจ้าหนี้ในการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ และบริษัทต่างประเทศได้รับเลตเตอร์ออฟเครดิตสั่งซื้อสินค้าแล้ว ก็ได้จัดส่งสินค้านั้นมาให้ธนาคารเจ้าหนี้ในประเทศไทย โดยตัวแทนธนาคารเจ้าหนี้ในต่างประเทศได้ออกเงินชำระราคาสินค้าแทนธนาคารเจ้าหนี้ไปแล้ว ต่อมาสินค้าที่สั่งซื้อมาถึงประเทศไทย ธนาคารเจ้าหนี้ได้เรียกลูกหนี้มาออกสินค้า แต่ลูกหนี้ไม่มีเงินชำระจึงตกลงทำสัญญาทรัสต์รีซีทไว้กับธนาคารเจ้าหนี้ โดยรับมอบสินค้านั้นไปขายก่อนแล้วจะนำเงินมาชำระภายหลัง ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.12 ครั้นถึงกำหนดลูกหนี้ไม่นำเงินค่าสินค้ามาชำระ ธนาคารเจ้าหนี้ได้มีหนังสือทวงถามไปยังลูกหนี้ ลูกหนี้จึงนำเงินค่าสินค้าตามสัญญาทรัสต์รีซีทดังเอกสารหมาย จ.1 มาชำระให้โจทก์บางส่วน แล้วลูกหนี้ไม่นำเงินที่เหลือมาชำระให้ธนาคารเจ้าหนี้อีกเลย ส่วนเงินค่าสินค้าตามสัญญาทรัสต์รีซีทดังเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.12 ลูกหนี้ไม่เคยชำระให้ธนาคารเจ้าหนี้จนกระทั่งลูกหนี้ถูกศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ในการที่ลูกหนี้ไม่ชำระเงินดังกล่าว ธนาคารเจ้าหนี้จึงคิดดอกเบี้ยจากลูกหนี้ในอัตราต่าง ๆ ตามธรรมเนียมประเพณีของธนาคารดังที่แสดงไว้ในบันทึกที่เสนอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการขอรับชำระหนี้ มีปัญหาว่า เมื่อหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทดังกล่าวถึงกำหนด ธนาคารเจ้าหนี้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากลูกหนี้ในอัตราต่าง ๆ ตามธรรมเนียมประเพณีของธนาคารดังที่ยื่นขอรับชำระหนี้ได้หรือไม่

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามสัญญาทรัสต์รีซีทดังเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.12 มิได้มีข้อความปรากฏตกลงกันให้ธนาคารเจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยหรือมีข้อตกลงกันเป็นหนังสือให้คิดดอกเบี้ยกันแต่ประการใด ธนาคารเจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากลูกหนี้ในอัตราต่าง ๆ ดังที่แสดงไว้ในบันทึกที่เสนอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการขอรับชำระหนี้ได้และบันทึกนี้เป็นเอกสารของธนาคารเจ้าหนี้เป็นผู้ทำขึ้นเองฝ่ายเดียวย่อมไม่มีผลผูกพันลูกหนี้ในอันที่จะต้องชำระดอกเบี้ยตามนั้น ที่ธนาคารเจ้าหนี้ผู้ขอรับชำระหนี้ฎีกาว่า การคิดดอกเบี้ยตามบันทึกดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตามธรรมเนียมประเพณีของธนาคาร โดยอาศัยสิทธิตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ที่ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้กำหนดอัตราดอกเบี้ยตามบันทึกนั้นได้ เห็นว่า การปฏิบัติตามธรรมเนียมประเพณีการค้าของธนาคารในกรณีดังกล่าวจะมีอยู่จริงดังที่อ้างหรือไม่ ธนาคารเจ้าหนี้คงมีแต่นายจักรเพชร จันทร์วิสูตร พนักงานของธนาคารเจ้าหนี้เพียงปากเดียวมาให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ลอย ๆ ว่า การคิดดอกเบี้ยเช่นนั้นเป็นประเพณีของธนาคาร โดยไม่มีพยานอื่นมาสนับสนุน จึงมีน้ำหนักน้อยยากที่จะรับฟังเป็นความจริงได้ และตามทางสอบสวนของธนาคารเจ้าหนี้ก็ไม่ปรากฏว่าธนาคารเจ้าหนี้มีพยานหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดให้ธนาคารเจ้าหนี้หรือธนาคารอื่นใดมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราตามบันทึกดังกล่าวได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ที่ธนาคารเจ้าหนี้อ้างว่ามีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากลูกหนี้ได้ โดยอาศัยพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ที่ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้กำหนดอัตราดอกเบี้ยตามบันทึกที่ยื่นขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จึงรับฟังไม่ได้

ส่วนอายุความเรียกร้องหนี้ตามสัญญาขายลดเช็คนั้น ตามทางสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ความว่า ลูกหนี้ได้เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันไว้กับธนาคารเจ้าหนี้ และลูกหนี้ได้นำเช็คที่ผู้อื่นสั่งจ่ายให้แก่ลูกหนี้ลงวันที่ล่วงหน้ามาขายลดแลกเงินสดไปจากธนาคารเจ้าหนี้ โดยลูกหนี้สลักหลังเช็คและสัญญากับธนาคารเจ้าหนี้ว่า ถ้าธนาคารเจ้าหนี้เรียกเก็บเงินตามเช็คไม่ได้ ลูกหนี้ยินยอมชำระหนี้ตามเช็คแทน เมื่อเช็คนั้นถึงกำหนดธนาคารเจ้าหนี้เรียกเก็บเงินตามเช็คไม่ได้ และได้มายื่นขอรับชำระหนี้ตามเช็คนับแต่วันที่สั่งจ่ายถึงวันที่ธนาคารเจ้าหนี้นำมายื่นขอรับชำระหนี้เกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปี มีปัญหาว่า อายุความเรียกร้องขอรับชำระหนี้ตามสัญญาขายลดเช็ครายนี้จะใช้อายุความ 10 ปี ตามบทบัญญัติทั่วไป หรือ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1002 ศาลฎีกาเห็นว่า การที่ลูกหนี้ขายเช็คที่ผู้อื่นสั่งจ่ายแก่ลูกหนี้ให้แก่ธนาคารเจ้าหนี้ ลูกหนี้สลักหลังไว้เมื่อถึงกำหนดชำระเงินตามเช็ค ธนาคารเจ้าหนี้เรียกเก็บเงินตามเช็คนั้นไม่ได้เช่นนี้เป็นความสัมพันธ์ระหว่างลูกหนี้กับธนาคารเจ้าหนี้ในลักษณะเช็คอันเป็นตั๋วเงินประเภทหนึ่ง ซึ่งลูกหนี้ในฐานะผู้สลักหลังเช็คนั้นต้องรับผิดต่อธนาคารเจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้ทรง โดยถือว่าการสลักหลังนั้นเป็นการประกันใช้เงินตามเช็ค และลูกหนี้จะต้องผูกพันเป็นอย่างเดียวกันกับผู้สั่งจ่ายซึ่งคนเป็นประกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 840,867, 989 และตามสัญญาขายลดเช็คที่ลูกหนี้ทำไว้กับธนาคารเจ้าหนี้ ลูกหนี้ยังสัญญาว่าถ้าธนาคารเจ้าหนี้เรียกเก็บเงินตามเช็คไม่ได้ ลูกหนี้ยินยอมชำระหนี้ตามเช็คนั้นแทนเมื่อเช็คถึงกำหนด จึงเห็นได้ชัดว่าเป็นกรณีเรื่องเช็คซึ่งมีอายุความเรียกร้อง 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1002 หาใช่ใช้อายุความ 10 ปี ตามบทบัญญัติทั่วไปดังที่เจ้าหนี้อ้างในฎีกาไม่ และการที่ลูกหนี้เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันไว้กับธนาคารเจ้าหนี้นั้น ไม่ทำให้สัญญาขายลดเช็คกลายเป็นสัญญาที่มีลักษณะเป็นเรื่องบัญชีเดินสะพัดที่จะใช้อายุความ 10 ปี ดังที่ธนาคารเจ้าหนี้อ้าง เพราะกรณีไม่เข้าตามมาตรา 856 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กล่าวคือ จำเลยกับธนาคารเจ้าหนี้ไม่มีข้อตกลงกันว่า จะมีการเบิกเงินเป็นคราว ๆ ในวงเงินและเวลาที่ตกลงกัน และให้มีการหักทอนบัญชีเป็นคราว ๆ ทั้งไม่มีพฤติการณ์เช่นนั้น เมื่อกรณีเป็นเรื่องเช็คธนาคารเจ้าหนี้มิได้เรียกร้องให้ลูกหนี้ใช้เงินตามเช็คจนพ้นเวลา 1 ปี นับแต่วันที่เช็คถึงกำหนดแล้ว การที่ธนาคารเจ้าหนี้มายื่นขอรับชำระหนี้ตามเช็คนั้นย่อมเป็นอันขาดอายุความ”

พิพากษายืน

Share