คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1375/2563

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องฐานประกอบธุรกิจโรงแรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนตามกฎหมาย ส่วนกฎกระทรวง เรื่อง กำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ.2559 ออกโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตามที่จำเลยอ้างนั้น เป็นการออกกฎกระทรวงตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 เพื่อควบคุมอาคารที่จะนำมาประกอบธุรกิจโรงแรม จึงเป็นกฎกระทรวง ที่มิได้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของจำเลยตามฟ้อง กฎกระทรวงดังกล่าวจึงไม่ได้มีผลยกเลิกหรือยกเว้นความผิดของจำเลย การกระทำของจำเลยยังคงเป็นความผิดตามฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ.2547 มาตรา 4, 15, 59 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาท นับแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2560 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2561 เป็นเวลา 180 วัน
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 59 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุก 6 เดือน และปรับ 20,000 บาท และปรับอีกวันละ 10,000 บาท เป็นเวลา 180 วัน เป็นเงิน 1,800,000 บาท รวมจำคุก 6 เดือน และปรับ 1,820,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 เดือน และปรับ 910,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า กฎกระทรวง เรื่อง กำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ.2559 ออกโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยท้ายฎีกา เป็นกฎหมายที่ออกภายหลังยกเลิกหรือยกเว้นความผิดของจำเลยหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยประกอบธุรกิจโรงแรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ.2547 มาตรา 15 จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานประกอบธุรกิจโรงแรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนตามกฎหมายดังกล่าวจริง ส่วนกฎกระทรวง เรื่อง กำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ.2559 ออกโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยท้ายฎีกาที่จำเลยยกขึ้นอ้างนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 (3) และมาตรา 8 (1) (2) (7) และ (8) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2543 เป็นการออกกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 เพื่อควบคุมลักษณะอาคารที่จะนำมาประกอบธุรกิจโรงแรม จึงเป็นกฎกระทรวงที่มิได้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของจำเลยตามฟ้อง กฎกระทรวงท้ายฎีกาของจำเลยจึงไม่ได้มีผลยกเลิกหรือยกเว้นความผิดของจำเลยดังที่จำเลยอ้าง การกระทำของจำเลยยังคงเป็นความผิดตามฟ้อง และเมื่อจำเลยได้ชำระค่าปรับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นครบถ้วนแล้ว กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะงดหรือลดค่าปรับให้จำเลย คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share