คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 952/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันสมควรตาม ป.อ. มาตรา 371 ศาลชั้นต้นปรับ 1,000 บาท ความผิดฐานนี้จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ (4) การที่จำเลยอุทธรณ์ว่าไม่ได้กระทำความผิด ขอให้ยกฟ้อง จึงเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงในข้อหาดังกล่าวซึ่งต้องห้ามตามบทกฎหมายข้างต้น ความผิดดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยความผิดในข้อหาดังกล่าวจึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 80, 91, 288, 371, 376 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายสุปวิทย์ ผู้เสียหายที่ 1 และนายวัชระ ผู้เสียหายที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่น ส่วนข้อหาพาอาวุธมีด มีและพาอาวุธปืน โจทก์ร่วมไม่เป็นผู้เสียหาย จึงไม่อนุญาต และให้เรียกผู้เสียหายที่ 1 ว่า โจทก์ร่วมที่ 1 และให้เรียกผู้เสียหายที่ 2 ว่าโจทก์ร่วมที่ 2
โจทก์ร่วมที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่ารักษาพยาบาลและค่าเดินทาง 30,000 บาท ค่าขาดรายได้จากการทำงานวันละ 500 บาท รวม 3 เดือน เป็นเงิน 50,000 บาท และค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน 50,000 บาท รวมเป็นเงิน 130,000 บาท และโจทก์ร่วมที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่ารักษาพยาบาลและค่าเดินทาง 30,000 บาท ค่าขาดรายได้จากการทำงานวันละ 500 บาท รวม 3 เดือน เป็นเงิน 50,000 บาท และค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน 50,000 บาท รวมเป็นเงิน 130,000 บาท
จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 (ที่ถูก มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 กระทงหนึ่ง และมาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 60 กระทงหนึ่ง), 371, 376 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกรรม ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก 10 ปี ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยพลาดและฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุ ในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยพลาดซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 10 ปี ฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธไปในเมืองหมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับ 1,000 บาท รวมจำคุก 20 ปี 12 เดือน และปรับ 1,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบอาวุธมีดปลายแหลม ลูกกระสุนปืน และปลอกกระสุนปืนของกลาง กับให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมทั้งสองเป็นเงินคนละ 70,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยพลาด ความผิดฐานมีอาวุธปืนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ความผิดฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร และความผิดฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้านหรือที่ชุมนุมชน โดยลงโทษจำเลยฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับ 1,000 บาท ให้ยกคำขอให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ร่วมทั้งสอง รูปคดีไม่มีค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้พิจารณาสั่ง และให้คืนอาวุธมีดของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ สำหรับความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ศาลชั้นต้นปรับ 1,000 บาท ความผิดฐานนี้จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ (4) จำเลยอุทธรณ์ว่าไม่ได้กระทำความผิดคดีนี้ ขอให้ยกฟ้องจึงเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงในข้อหาดังกล่าวต้องห้ามตามบทกฎหมายข้างต้น ความผิดดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยความผิดในข้อหาดังกล่าวจึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ จึงให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในส่วนนี้เสีย
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงว่า จำเลยพยายามฆ่าผู้เสียหายทั้งสอง มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาตหรือไม่ เห็นว่า คำให้การของนางสาววารุณีกับนายอานนท์เป็นไปในทำนองเดียวกันว่า นายอานนท์กับพวกไล่ตามจำเลยซึ่งใช้มีดดาบฟันโจทก์ร่วมที่ 1 หลังจากนั้นจำเลยก็ใช้อาวุธปืนยิงนายอานนท์ นายอานนท์นั้นให้การในชั้นสอบสวนและเบิกความในฐานะเป็นประจักษ์พยานรู้เห็นเหตุการณ์โดยตรงเชื่อมโยงเป็นลำดับขั้นตอน และสอดคล้องกับพฤติการณ์ที่โจทก์ร่วมที่ 1 ถูกฟัน สาเหตุก็เพราะตน และอยู่ในสถานการณ์ใกล้ชิดต่อเนื่องกันโดยนายอานนท์ติดตามจำเลยและได้ใช้ไม้ปักธงตามจำเลยไปอย่างกระชั้นชิดจนต่อสู้กันแล้วจำเลยเอาอาวุธปืนที่พกติดตัวยิงนายอานนท์ แต่กระสุนพลาดไปถูกโจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งยังยืนดูเหตุการณ์ในจุดที่วิถีกระสุนทะลุผ่านไปถูกได้ ไม่ใช่เรื่องที่นายอานนท์จะปั้นแต่งขึ้นได้เอง บริเวณที่เกิดเหตุมีแสงไฟฟ้าสว่างเนื่องจากจัดงานประเพณี ทั้งแสงไฟหน้าบริเวณวัด นอกบริเวณก็มีร้านค้าเปิดไฟ อีกทั้งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยดูแลงานวัดก็ยังอยู่คอยระมัดระวังสถานการณ์ สำหรับจำเลยนั้น ที่จำเลยนำสืบต่อสู้ว่า จำเลยพาภริยา มารดาและบุตรอีก 2 คน ไปเที่ยวงานวัดที่เกิดเหตุ นั่งอยู่ทางด้านซ้ายของเวทีหมอลำ เห็นเหตุการณ์ขณะวัยรุ่นทะเลาะวิวาทกัน จนกระทั่งเลย 24 นาฬิกา เข้าสู่วันที่ 11 มีนาคม 2559 แล้วยังไม่ทันกลับ เห็นกลุ่มวัยรุ่นอยู่บริเวณถนนหน้าวัดปาขวดใส่กัน จึงพาภริยาและบุตรหมอบลงหลบข้างกำแพงประมาณ 5 ถึง 6 นาที จนกระทั่งเสียงปืนเงียบลง หากเป็นจริงดังที่จำเลยนำสืบก็ไม่มีเหตุอันใดที่ในการสอบคำให้การครั้งแรกจำเลยจะให้การปฏิเสธ อ้างว่ายังไม่พร้อมที่จะให้การในรายละเอียด ทั้งที่จำเลยก็น่าจะให้การได้ในทันที และสามารถนำภริยาและบุตรมายืนยันคำให้การของตนเสียทีเดียวเพื่อให้หลุดพ้นข้อกล่าวหา การที่จำเลยให้การต่อพนักงานสอบสวนหลังเกิดเหตุอีกครั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2559 เป็นเวลาล่วงเลยเป็นเวลานานน่าจะเป็นการทบทวนเพื่อปรุงแต่งเรื่องขึ้นเพื่อแก้ข้อกล่าวหาดังกล่าว จึงเป็นเรื่องง่ายที่จะกล่าวอ้าง ทำให้ไม่มีน้ำหนักหักล้างประจักษ์พยานโจทก์ที่เบิกความสอดคล้องเชื่อมโยงกันรับฟังได้ พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยเป็นคนใช้มีดดาบฟันโจทก์ร่วมที่ 1 และใช้อาวุธปืนยิงนายอานนท์จนกระสุนปืนพลาดไปถูกโจทก์ร่วมที่ 2 หากโจทก์ร่วมทั้งสองไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีก็อาจถึงแก่ความตาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง เมื่อพยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองรับฟังได้ว่าจำเลยใช้อาวุธมีดฟันโจทก์ร่วมที่ 1 และใช้อาวุธปืนยิงนายอานนท์จนกระสุนปืนพลาดไปถูกโจทก์ร่วมที่ 2 จนได้รับอันตรายสาหัส ถือว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ร่วมทั้งสอง โจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งเป็นผู้เสียหายย่อมมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยได้ จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสอง ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้จำเลยชดใช้แก่โจทก์ร่วมทั้งสองมานั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเหมาะสมตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว แม้โจทก์ร่วมทั้งสองไม่ได้ฎีกาในปัญหานี้มาด้วย แต่ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกคดีส่วนแพ่งขึ้นวินิจฉัยเพื่อให้เป็นไปตามผลแห่งคดีอาญาได้เพราะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 เฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 โดยให้บังคับคดีในส่วนคดีอาญาและในคดีส่วนแพ่งไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share