คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 265/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ การพิจารณาคำฟ้องของโจทก์ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาฯ ข้อ 6 วรรคหนึ่ง ที่แสดงให้พอเข้าใจถึงสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับมิใช่ต้องแสดงโดยแจ้งชัดตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172วรรคสอง ดังนั้น เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ใช้เครื่องหมายตราเป็ดว่ายน้ำและได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้มาตั้งแต่ปี 2521 จนถึงปัจจุบัน ส่วนเครื่องหมายตราเป็ดยืนโจทก์จดทะเบียนรับโอนมาจากผู้ที่จดทะเบียนไว้ก่อน แต่ต่อมาโจทก์ไม่ได้ขอต่ออายุการจดทะเบียนจึงถูกเพิกถอนเครื่องหมายการค้าทั้งสองดังกล่าว จากนั้นจำเลยซึ่งเคยเป็นผู้จัดการของโจทก์ได้นำเครื่องหมายการค้าทั้งสองของโจทก์ไปยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและนายทะเบียนก็รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวให้แก่จำเลย อันเป็นการขอจดทะเบียนโดยไม่สุจริต ซึ่งตามคำฟ้องย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าโจทก์กล่าวอ้างถึงข้อเท็จจริงเพื่อแสดงว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลย อันเป็นเหตุที่จะขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 67 แม้คำขอท้ายฟ้องของโจทก์จะขอให้บังคับจำเลยดำเนินการเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสองหากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยก็ตามแต่ก็เข้าใจได้ว่า โจทก์ประสงค์จะให้มีการเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยนั่นเอง ทั้งการที่โจทก์อ้างว่าตนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าซึ่งมีสิทธิดีกว่าจำเลย แต่จำเลยนำไปจดทะเบียนการค้าโดยไม่สุจริตก็เป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว และกรณีผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าผู้ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าฟ้องผู้ที่ได้จดทะเบียนการค้าไว้แล้วนั้นพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 67 ก็ให้อำนาจศาลสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าหากโจทก์แสดงได้ว่าตนมีสิทธิดีกว่าจำเลย จึงเป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยจะต้องนำสืบพยานหลักฐานเพื่อแสดงว่าใครเป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่ากัน ซึ่งไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนที่จะสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ เพราะเมื่อมีคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว ก็มีผลบังคับเป็นการเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยคำพิพากษาของศาลนั้นเอง โจทก์เพียงแต่นำคำพิพากษาไปแสดงแก่นายทะเบียนเพื่อจดแจ้งทางทะเบียนให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลเท่านั้น ไม่ใช่กรณีที่โจทก์ต้องฟ้องเพื่อให้ศาลบังคับนายทะเบียนแต่อย่างใด
การที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์ด้วยเหตุที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 6(3) นั้น เป็นกรณีที่นายทะเบียนพิจารณาสั่งตามมาตรา 16 โดยพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วหรือไม่เท่านั้นซึ่งเป็นคนละปัญหากับการที่ศาลจะวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าตามฟ้องดีกว่าจำเลยผู้ที่ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ ฉะนั้น แม้โจทก์จะอุทธรณ์คำสั่งนายทะเบียนที่ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือไม่ หรือคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะวินิจฉัยเรื่องความเหมือนคล้ายกันของเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับจำเลยอย่างไร ก็ไม่มีผลทำให้โจทก์เสียสิทธิฟ้องจำเลยตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 67 แต่ประการใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ผลิตและจำหน่ายสินค้าวัสดุก่อสร้างและลวดที่ทำด้วยโลหะโดยใช้เครื่องหมายการค้าเป็นรูปและคำประกอบกันคือเครื่องหมายการค้าตราเป็ดตั้งแต่ปี 2521 และได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2528 ทะเบียนเลขที่ 100856 สำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 13 เดิม (ของที่ทำด้วยโลหะซึ่งไม่เข้าในจำพวกอื่น) ทั้งจำพวก นอกจากนี้โจทก์ยังได้จดทะเบียนรับโอนเครื่องหมายการค้าตราเป็ด จากผู้อื่นซึ่งได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เมื่อวันที่28 ตุลาคม 2507 สำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 12 เดิม (เครื่องตัด จิ้ม และเครื่องมือมีคม) ทั้งจำพวกตามคำขอเลขที่ 51831 ทะเบียนเลขที่ 31173 แต่ต่อมาโจทก์ไม่ได้ขอต่ออายุการจดทะเบียนจึงถูกเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2538 และวันที่ 28 ตุลาคม 2537 ตามลำดับ แต่โจทก์ยังคงใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวตลอดมา โจทก์เพิ่งทราบว่าถูกเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เมื่อกลางปี 2543 ดังนั้นโจทก์จึงยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตราเป็ดต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2543 ตามคำขอเลขที่ 440026 สำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 6 (ใหม่) รายการสินค้า ลวดหนาม ลวดอาบสังกะสี ลวดตาข่าย ลวดตะแกรงตะแกรงเทพื้น ลวดผูกเหล็ก ต่อมานายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีหนังสือลงวันที่ 17พฤษภาคม 2544 แจ้งแก่โจทก์ว่า นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้มีคำสั่งปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์โดยเห็นว่าไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 6 เพราะเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าตราเป็ดของจำเลยที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว โดยจำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2538 ตามคำขอเลขที่ 298387สำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 6 (ใหม่) รายการสินค้า ลวดหนาม ลวดตาข่าย ลวดเหล็กตะปู ลวดอลูมิเนียม สังกะสี เหล็ก ฉากอลูมิเนียม และนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของจำเลยเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม2539 ตามทะเบียนเลขที่ ค 51139 โจทก์ยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีคำสั่งปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์ต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า นอกจากนี้โจทก์ยังตรวจพบอีกว่า เมื่อวันที่ 1ธันวาคม 2538 จำเลยได้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตราเป็ด สำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 8 (ใหม่) รายการสินค้า ค้อน มีด ตามคำขอเลขที่ 298386 และนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนให้เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2539 ตามทะเบียนเลขที่ค 51140 โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายดังกล่าวและจำเลยเคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างโจทก์ แต่ต่อมาจำเลยได้ถอนตัวจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและโอนหุ้นให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนคนอื่น จำเลยไม่ใช่เจ้าของเครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมาย จำเลยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายดังกล่าวโดยไม่สุจริต จำเลยจึงไม่มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าโจทก์ โจทก์ขอให้จำเลยเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและเลิกใช้เครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายแล้วแต่ไม่ได้ผล ขอให้บังคับจำเลยดำเนินการเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามคำขอเลขที่ 298386 ทะเบียนเลขที่ ค 51140 และคำขอเลขที่ 298387 ทะเบียนเลขที่ ค 51139 และห้ามจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายต่อไป หากจำเลยไม่ดำเนินการขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางตรวจคำฟ้องของโจทก์แล้ว มีคำสั่งว่า คำฟ้องของโจทก์มิได้ระบุว่าโจทก์มีสิทธิดีกว่าจำเลยอย่างไร แต่ยอมรับว่าจำเลยเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่นายทะเบียนรับจดทะเบียนแล้วโดยชอบ ส่วนที่โจทก์อ้างว่าที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 440026 โจทก์ได้อุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าแล้วนั้น ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้ดำเนินการจริงตามขั้นตอนของกฎหมายและผลการพิจารณาของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร อีกทั้งเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่จดทะเบียนไว้แล้วซึ่งโจทก์อ้างว่าเหมือนกับของโจทก์ที่ถูกเพิกถอนนั้น โจทก์ก็ยังไม่ได้จดทะเบียนใหม่แต่อย่างใด กรณีจึงยังฟังไม่ได้ว่ามีการโต้แย้งสิทธิเกิดขึ้น คำฟ้องของโจทก์จึงมิได้แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาอีกทั้งคำขอบังคับของโจทก์โดยสภาพแม้โจทก์จะชนะคดีก็ไม่อาจบังคับเอากับตัวจำเลยได้เพราะหน้าที่ดำเนินการเพิกถอนมิใช่ของจำเลย แต่เป็นอำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำขอบังคับของโจทก์จึงไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่รับคำฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า”มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ชอบด้วยกฎหมายแล้วหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539มาตรา 26 บัญญัติให้กระบวนพิจารณาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ และข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศของอธิบดีผู้พิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ซึ่งปรากฏว่าตามข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2540 ซึ่งออกตามความในมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ข้อ 6 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า คำฟ้องที่แสดงให้พอเข้าใจได้ถึงสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ให้ถือว่าเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นการพิจารณาว่าคำฟ้องของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่จึงต้องพิจารณาไปตามข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพ.ศ. 2540 ข้อ 6 วรรคหนึ่ง มิใช่พิจารณาว่าคำฟ้องต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ปรากฏว่า คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงว่า โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าตราเป็ด และได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ตั้งแต่ปี 2521 ตลอดมาจนปัจจุบัน ส่วนเครื่องหมายการค้ารูปเป็ด โจทก์ได้จดทะเบียนรับโอนมาจากผู้ที่ได้รับการจดทะเบียนไว้ก่อน แต่ต่อมาโจทก์ไม่ได้ขอต่ออายุการจดทะเบียน จึงถูกเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสองเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2538 และวันที่ 28 ตุลาคม 2537 ตามลำดับ ครั้นวันที่ 1 ธันวาคม2538 จำเลยซึ่งเคยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างโจทก์ แต่ได้ถอนตัวจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและโอนหุ้นให้หุ้นส่วนคนอื่นไปเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2527 ได้นำเครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายของโจทก์ดังกล่าวไปยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยจำเลยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตราเป็ด สำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 6 (ใหม่)รายการสินค้า ลวดหนาม ลวดตาข่าย ลวดเหล็ก ตะปู ลวดอลูมิเนียม สังกะสี เหล็กฉากอลูมิเนียม ตามคำขอเลขที่ 298387 และขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตราเป็ดสำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 8 (ใหม่) รายการสินค้า ค้อน มีด ตามคำขอเลขที่ 298386นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายให้แก่จำเลยพร้อมกันเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2539 ตามทะเบียนเลขที่ ค 51139 และค 51140 ตามลำดับ อันเป็นการขอจดทะเบียนโดยไม่สุจริตเพราะจำเลยรู้อยู่แล้วว่าโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าทั้งสอง จำเลยจึงไม่มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าโจทก์ ตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าโจทก์กล่าวอ้างถึงข้อเท็จจริงเพื่อแสดงว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลย อันเป็นเหตุแห่งการขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 67 แม้คำขอท้ายฟ้องของโจทก์จะขอให้บังคับจำเลยดำเนินการเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายดังกล่าวหากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยก็ตามก็เข้าใจได้ว่าโจทก์ประสงค์ที่จะให้มีการเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยนั่นเอง ทั้งการที่โจทก์อ้างในคำฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าซึ่งมีสิทธิดีกว่าจำเลย แต่จำเลยนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยไม่สุจริต ก็เป็นการกล่าวอ้างว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนเป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์แล้ว และกรณีผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าผู้ที่ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าฟ้องผู้ที่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้วนั้นพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2534 มาตรา 67 ก็บัญญัติให้อำนาจศาลเป็นผู้สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า หากโจทก์สามารถแสดงได้ว่าตนเป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าจำเลยผู้ซึ่งได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น จึงเป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยจะต้องนำสืบพยานหลักฐานเพื่อแสดงว่าใครเป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่านั้นดีกว่ากัน และไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่จะสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยไว้แต่อย่างใด โดยหากมีคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว ก็มีผลบังคับเป็นการเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยคำพิพากษาของศาลนั้นเอง ซึ่งโจทก์เพียงแต่นำคำพิพากษานั้นไปแสดงแก่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจดแจ้งทางทะเบียนไปตามคำพิพากษาของศาลเท่านั้น จึงไม่ใช่กรณีที่โจทก์ต้องฟ้องเพื่อให้ศาลบังคับนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าแต่อย่างใด เห็นได้ว่า คำฟ้องของโจทก์ได้แสดงให้พอเข้าใจได้ถึงสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับถือได้ว่าเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายตามข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2540 ข้อ 6 วรรคหนึ่ง แล้ว ส่วนกรณีที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์โดยอ้างเหตุผลว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ขอจดทะเบียนเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจึงไม่มีลักษณะเป็นเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 6(3) นั้นเป็นกรณีที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิจารณาสั่งตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 16 โดยพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วหรือไม่เท่านั้น ซึ่งแม้จะเป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันก็ตาม ก็เป็นคนละปัญหากับการที่ศาลจะวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าตามคำฟ้องดีกว่าจำเลยผู้ที่ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ ดังนั้น การที่โจทก์จะอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือไม่ หรือคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะมีคำวินิจฉัยเรื่องความเหมือนคล้ายกันของเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของจำเลยอย่างไร ก็ไม่มีผลทำให้โจทก์เสียสิทธิฟ้องจำเลยตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 67 แต่ประการใด ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์มานั้นศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้รับคำฟ้องของโจทก์ และให้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป

Share