คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7147/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะยื่นฟ้องจำเลยเฉพาะความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม ป.อ. มาตรา 291 แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องว่า การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้ร้องได้รับอันตรายสาหัส ผู้ร้องจึงเป็นผู้เสียหายมีสิทธิเรียกร้องทางแพ่งฐานมูลละเมิดเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ร่างกายโดยอาศัยมูลคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 และแม้คดีส่วนแพ่งของผู้ร้องจะขาดอายุความเนื่องจากไม่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในข้อหาประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 300 ภายในอายุความสิบปีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง ตามที่จำเลยฎีกาก็ตาม แต่ ป.วิ.อ. มาตรา 40 ก็บัญญัติว่า คำพิพากษาส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่ได้ยกปัญหาเรื่องอายุความขึ้นต่อสู้ในคำให้การ คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ การที่ศาลชั้นต้นหยิบยกเอาอายุความมาเป็นเหตุยกคำร้องของผู้ร้องจึงไม่ชอบ ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) และถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยที่จำเลยสามารถหยิบยกขึ้นในชั้นฎีกาได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางสาวพรรณนภา ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล 25,000 บาท ค่าขาดรายได้ 12,500 บาท ค่าเสียความสามารถในการประกอบอาชีพในอนาคต 300,000 บาท ค่าเสียหายได้รับความทุกข์ทรมานทางจิตใจ 300,000 บาท รวมเป็นเงิน 637,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง
จำเลยให้การคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและยกคำร้องของผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 (เดิม) จำคุก 3 ปี ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้องเป็นเงิน 237,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นยุติในชั้นฎีกามีว่า เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2557 เวลาประมาณ 20 นาฬิกา มีผู้ขับรถบรรทุกหกล้อของบริษัทอาคิเต็กกรุ๊ป จำกัด แล่นมาตามถนนบางขุนเทียน – ชายทะเล จากถนนพระราม 2 มุ่งหน้าชายทะเล เมื่อถึงที่เกิดเหตุซึ่งถนนแบ่งเป็น 2 ช่องเดินรถ รถแล่นสวนทางกัน รถบรรทุกหกล้อคันดังกล่าวเลี้ยวขวาเข้าบริษัทอาคิเต็กกรุ๊ป จำกัด ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้าม ขณะนั้นมีนายเกรียงศักดิ์ ผู้ตาย ขับรถจักรยานยนต์ หมายเลขทะเบียน บรว กรุงเทพมหานคร 648 มีนางสาวพรรณนภา ผู้ร้องนั่งซ้อนท้ายแล่นสวนมาแล้วพุ่งชนรถบรรทุกหกล้อ เป็นเหตุให้ผู้ตายได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา ส่วนผู้ร้องได้รับบาดเจ็บสาหัส สภาพความเสียหายของรถบรรทุกหกล้อและรถจักรยานยนต์ปรากฏตามรายงานผลการตรวจสภาพรถที่เกิดอุบัติเหตุ บันทึกผลการตรวจพิสูจน์สภาพและเครื่องอุปกรณ์รถยนต์ที่เกิดเหตุและภาพถ่ายที่เกิดเหตุคดีจราจร คนขับรถบรรทุกหกล้อได้หลบหนีไป พันตำรวจโทชินวุฒิ พนักงานสอบสวน มีความเห็นว่าเหตุประมาทเกิดจากจำเลยผู้ขับรถบรรทุก จึงยื่นคำร้องขอให้ศาลออกหมายจับจำเลยในข้อหาประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายสาหัส เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2560 จำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมตามหมายจับ
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกว่า จำเลยเป็นคนขับรถบรรทุกหกล้อในวันเกิดเหตุหรือไม่ เห็นว่า เหตุที่มีการจับกุมจำเลยดำเนินคดีนี้สืบเนื่องจากบริษัทอาคิเต็กกรุ๊ป จำกัด โดยนายชัยยุทธ ผู้จัดการฝ่ายบุคคล ยืนยันต่อพันตำรวจโทชินวุฒิว่า จำเลยเป็นพนักงานขับรถของบริษัทและในวันเกิดเหตุจำเลยเป็นคนขับรถบรรทุก หมายเลขทะเบียน 92 – 1758 กรุงเทพมหานคร คันเกิดเหตุ นอกจากนี้ยังมอบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน และสำเนาใบอนุญาตขับรถบรรทุกของจำเลยที่จำเลยนำมายื่นขณะสมัครเป็นพนักงานขับรถของบริษัทให้แก่พันตำรวจโทชินวุฒิไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งจำเลยนำสืบรับในส่วนนี้ว่าเอกสารดังกล่าวเป็นของจำเลย หลังเกิดเหตุจำเลยยังได้โทรศัพท์แจ้งเหตุให้นายชัยยุทธทราบก่อนจะหลบหนีไป อันเป็นการยืนยันต่อนายชัยยุทธว่าจำเลยเป็นคนขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุจริง นายชัยยุทธเป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคลของบริษัทไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน เชื่อว่าเบิกความไปตามความจริง ดังนี้ แม้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยาน แต่พยานแวดล้อมกรณีที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จำเลยเป็นคนขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุจริง ที่จำเลยนำสืบต่อสู้ว่า นายมานพซึ่งเป็นคู่แฝดกับจำเลย เป็นคนนำเอกสารของจำเลยมาแอบอ้างเป็นจำเลยเพื่อสมัครเป็นพนักงานขับรถของบริษัทอาคิเต็กกรุ๊ป จำกัด นั้น เห็นว่า หลังเกิดเหตุจำเลยได้หลบหนีไป เจ้าพนักงานตำรวจเพิ่งติดตามจับกุมจำเลยได้หลังจากนั้นเป็นเวลากว่า 10 ปี ในวันที่จำเลยถูกจับกุม จำเลยเพียงแต่ให้การปฏิเสธ จำเลยเพิ่งยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นภายหลังได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวและได้พบกับทนายความแล้ว แม้จำเลยจะมีนายมานพเป็นพยานเบิกความสนับสนุน แต่นายมานพเป็นพี่น้องกับจำเลย ย่อมอยู่ในวิสัยที่จะเบิกความช่วยเหลือจำเลยให้ไม่ต้องรับโทษ ทั้งนายมานพยังเบิกความเพิ่มเติมด้วยว่า ในวันเกิดเหตุขณะพยานขับรถกลับบริษัท พยานรู้สึกปวดท้องจึงลงจากรถและนั่งรถแท็กซี่ไปหาหมอที่คลินิกแห่งหนึ่ง และขณะอยู่ที่คลินิกพยานรู้สึกปวดท้องมากขึ้น พยานจึงโทรศัพท์แจ้งให้นายประภาสเด็กประจำรถเป็นคนขับรถกลับบริษัท ในเวลาต่อมาได้รับแจ้งจากนายประภาสว่าเกิดอุบัติเหตุรถชน เท่ากับว่านายมานพไม่ได้สมอ้างรับผิดแทนจำเลย เพียงแต่ซัดทอดนายประภาสเพื่อให้ตนเองพ้นผิดเท่านั้น จึงไม่มีน้ำหนักในการรับฟัง นอกจากนี้เมื่อพิจารณาข้อต่อสู้ของจำเลยโดยละเอียดแล้ว เห็นว่า การขับรถบรรทุกแตกต่างจากการขับรถยนต์ทั่วไป เนื่องจากสภาพรถบรรทุกมีขนาดใหญ่กว่ารถยนต์ทั่วไปมาก ผู้ขับขี่จึงต้องอาศัยทักษะและความชำนาญเป็นพิเศษ และต้องได้รับใบอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกเป็นการเฉพาะ โดยทั่วไปแล้วผู้ขอใบอนุญาตขับรถบรรทุกมักประกอบอาชีพรับจ้างขับรถบรรทุก ที่จำเลยนำสืบว่าประกอบอาชีพทำไร่ข้าวโพดและมีรถไถไว้ใช้งานในไร่นั้นจำเลยจึงไม่มีความจำเป็นต้องมีใบอนุญาตขับรถบรรทุก ส่วนนายมานพหากประสงค์จะสมัครเป็นพนักงานขับรถบรรทุก แสดงว่านายมานพสามารถขับรถบรรทุกได้ นายมานพน่าจะไปดำเนินการขอใบอนุญาตขับรถบรรทุกเป็นของตนเอง ไม่มีเหตุผลหรือความจำเป็นที่ต้องลักใบอนุญาตขับรถบรรทุกของจำเลยไปแอบอ้างเป็นจำเลยเพื่อสมัครงาน และเมื่อพิจารณาในส่วนของสำเนาใบอนุญาตขับรถบรรทุกของจำเลยในช่วงเกิดเหตุแล้ว ใบอนุญาตขับรถบรรทุกของจำเลยจะสิ้นอายุลงในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2547 เท่ากับว่าหลังจากนั้นนายมานพจะมีเพียงใบอนุญาตขับรถบรรทุกที่หมดอายุแล้วเท่านั้น ซึ่งเสี่ยงต่อการถูกเจ้าพนักงานตำรวจเรียกตรวจและจับกุม และที่จำเลยอ้างว่ามีการแจ้งความว่าใบอนุญาตขับรถบรรทุกสูญหายนั้น จำเลยก็ไม่มีหลักฐานการแจ้งความมาแสดง จึงเป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ ในทางกลับกันปรากฏว่ามีการต่อใบอนุญาตต่อเนื่องกับวันสิ้นสุดอายุของใบอนุญาตฉบับเดิม ราวกับว่าใบอนุญาตขับรถบรรทุกของจำเลยไม่เคยสูญหาย พยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบมานั้น ไม่สมเหตุผลและมีข้อพิรุธหลายประการดังที่ได้วินิจฉัย จึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ ส่วนที่จำเลยฎีกาในประเด็นอื่นนั้นไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยเป็นพนักงานขับรถของบริษัทอาคิเต็กกรุ๊ป จำกัด และในวันเกิดเหตุจำเลยเป็นคนขับรถบรรทุก หมายเลขทะเบียน 92 – 1758 กรุงเทพมหานคร
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการต่อไปว่า จำเลยเป็นฝ่ายขับรถโดยประมาทหรือไม่ เห็นว่า บริเวณที่เกิดเหตุแบ่งเป็น 2 ช่องเดินรถ ไปกลับฝั่งละหนึ่งช่องทาง ไม่มีเกาะกลางถนน จุดที่รถผู้ตายชนกับรถของจำเลยอยู่ในช่องเดินรถของผู้ตายโดยไม่ปรากฏรอยห้ามล้อของรถของผู้ตายก่อนถึงจุดชน พบเพียงรอยครูดบนถนนห่างจากจุดชนเพียง 0.5 เมตร ผู้ร้องเบิกความว่า บริเวณที่เกิดเหตุมีแสงไฟสว่างจากไฟริมทางมองเห็นชัดเจน จึงน่าเชื่อว่าจำเลยเลี้ยวรถกะทันหันตัดหน้ารถผู้ตาย ทำให้ผู้ตายไม่ทันได้ห้ามล้อ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าจุดชนอยู่บริเวณตำแหน่งถังน้ำมันซึ่งอยู่ด้านท้ายของรถบรรทุกหกล้อแสดงว่าจำเลยขับรถผ่านช่องทางจราจรเข้าไปจนเกือบจะพ้นทั้งคันแล้ว หากจำเลยขับรถตัดหน้ารถของผู้ตายจริงตำแหน่งที่ชนน่าจะอยู่ด้านหน้าหรือค่อนมาทางกลางรถมากกว่านั้น เห็นว่า ช่องทางที่ผู้ตายขับรถมุ่งหน้าไปเป็นทางเอก ตำแหน่งที่จำเลยจะเลี้ยวรถเป็นทางโท จำเลยจึงต้องปล่อยให้รถที่แล่นมาในทางเอกผ่านพ้นไปก่อนและรอจนมั่นใจว่าสามารถเลี้ยวรถพ้นทั้งคัน การที่จำเลยเลี้ยวรถแล้วเกิดเฉี่ยวชนกับรถที่แล่นสวนทางมาในทางเอก ย่อมต้องฟังว่าเป็นความประมาทของจำเลย ส่วนที่จำเลยฎีกาทำนองว่าจากสภาพความเสียหายรถจักรยานยนต์ของผู้ตายแสดงว่าผู้ตายขับรถมาด้วยความเร็ว ผู้ตายจึงมีส่วนประมาทด้วยนั้นก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐานของจำเลยที่ไม่มีหลักฐานสนับสนุน และแม้ฟังได้ว่าผู้ตายมีส่วนประมาท ก็เป็นคนละส่วนกับความประมาทของจำเลย ซึ่งแยกต่างหากจากกัน กรณีจึงไม่อาจลบล้างข้อเท็จจริงว่าจำเลยขับรถโดยประมาทไปได้ พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมารับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าจำเลยขับรถโดยประมาท จำเลยจึงมีความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการสุดท้ายว่า คดีส่วนแพ่งของผู้ร้องขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะยื่นฟ้องจำเลยเฉพาะความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 แต่โจทก์ก็บรรยายฟ้องว่า การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้ร้องได้รับอันตรายสาหัส ผู้ร้องจึงเป็นผู้เสียหายมีสิทธิเรียกร้องทางแพ่งฐานมูลละเมิดเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ร่างกายโดยอาศัยมูลคดีอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 และแม้คดีส่วนแพ่งของผู้ร้องจะขาดอายุความเนื่องจากไม่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยในข้อหาประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ภายในอายุความสิบปีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคสอง ตามที่จำเลยฎีกาก็ตาม แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40 ก็บัญญัติว่า คำพิพากษาส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ดังนั้น เมื่อจำเลยไม่ได้ยกปัญหาเรื่องอายุความขึ้นต่อสู้ในคำให้การ คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ การที่ศาลชั้นต้นหยิบยกเอาอายุความมาเป็นเหตุยกคำร้องของผู้ร้องจึงไม่ชอบ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/29 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) และถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยที่จำเลยสามารถหยิบยกขึ้นในชั้นฎีกาได้ ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share