คำสั่งศาลฎีกาที่ 12650/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มาตรา 219 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 บัญญัติให้ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ทั้งนี้ วิธีพิจารณาและวินิจฉัยคดีให้เป็นไปตามระเบียบที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกากำหนด โดยต้องใช้ระบบไต่สวนและเป็นไปโดยรวดเร็ว ส่วนระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยวิธีพิจารณาและวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ใหญ่ๆ ในการพิจารณาและวินิจฉัยคดีเลือกตั้ง ในกรณีที่วิธีพิจารณาใดซึ่งระเบียบมิได้กำหนดไว้โดยเฉพาะ ความใน ข้อ 4 วรรคสอง ของระเบียบกำหนดให้นำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้
ผู้ร้องอ้างว่าเหตุที่ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยภูมิเขตเลือกตั้งที่ 1 ใหม่ แทนผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ว่า มีผู้ให้เงินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา โดยมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งเป็นข้ออ้างเหตุเดียวกับคดีซึ่งผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลฎีกาไว้ และศาลฎีกามีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว ซึ่งมีผลให้คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา แม้ตามคำร้องทั้งสองคำร้อง จะเป็นการให้เงินคนละวัน โดยผู้ให้คนละคนและผู้รับคนละคนกันและยังอำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด จะมีอำนาจสั่งรวมหรือแยกเรื่องคัดค้านก็เป็นหลักเกณฑ์ชั้นสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัยชี้ขาดของผู้ร้องก็ตาม เมื่อถึงชั้นยื่นคำร้องต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายเกี่ยวกับวิธีพิจารณาคดีในศาล ทั้งการที่ผู้ร้องแยกยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา ในขณะที่ผู้ร้องสามารถที่จะรอยื่นรวมกันได้ ย่อมมีผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งเป็นการใช้อำนาจขององค์กรนิติบัญญัติ เพราะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทุกครั้งที่ศาลฎีกามีคำสั่งรับคำร้องแล้ว และมีผลทำให้การพิจารณาคดีเลือกตั้งของศาลฎีกาไม่เป็นไปโดยรวดเร็วตามมาตรา 219 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 การที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอต่อศาลฎีกาเป็นคดีนี้อีก ย่อมเป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันต่อศาลเดียวกัน เป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตาม ข้อ 4 วรรคสอง ของระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยวิธีพิจารณาและวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 ประกอบมาตรา 171, 173 วรรคสอง (1) แห่ง ป.วิ.พ.

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยภูมิ เขตเลือกตั้งที่ 1 ใหม่ แทนผู้ถูกกล่าวหา ตามคำวินิจฉัยสั่งการผู้ร้องที่ 408/2555 ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2555 ขอให้ศาลมีคำสั่งตามมาตรา 239 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ประกอบมาตรา 111 และมาตรา 116 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 ดังนี้
1. เมื่อศาลมีคำสั่งรับคำร้องแล้ว ขอให้แจ้งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรทราบว่าศาลได้รับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว นายโอชิษฐ์ ผู้ถูกกล่าวหา จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปไม่ได้
2. ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยภูมิ เขตเลือกตั้งที่ 1 ใหม่ แทนนายโอชิษฐ์ ผู้ถูกกล่าวหา
ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งวินิจฉัยว่า หลังจากมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร ผู้ร้องจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ต่อมาผู้ร้องประกาศผลการเลือกตั้งให้ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยภูมิ เขตเลือกตั้งที่ 1 หมายเลข 16 พรรคภูมิใจไทย เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยภูมิเขตเลือกตั้งดังกล่าวก่อนประกาศผลการเลือกตั้งนายประสิทธิ์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตเลือกตั้งเดียวกัน หมายเลข 1 พรรคเพื่อไทย ได้ยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 53 ต่อมาผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดชัยภูมิสั่งให้รวมและแยกสืบสวนสอบสวนเป็นหลายสำนวน ผู้ร้องมีคำวินิจฉัยที่ 283/2555 และที่ 408/2555 ตามลำดับว่า มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีผู้ให้เงินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดชัยภูมิ เพื่อจูงใจให้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 53 มีผลทำให้การเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ถูกกล่าวหามิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเป็นคดีเลือกตั้งหมายเลขดำที่ ลต 8/2555 ว่า นางปิยนันท์หรือจีระพันธ์ ตัวแทน (หัวคะแนน) ของผู้ถูกกล่าวหา ให้เงิน 1,500 บาท แก่นายประพัศ นางตุ่น และนายสมบูรณ์ ราษฎรในเขตเลือกตั้งที่ 1 โดยขอให้ลงคะแนนเสียงให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา และในวันเดียวกัน นางอุบลหรืออาทิตยา ตัวแทน (หัวคะแนน) ของผู้ถูกกล่าวหา ให้เงิน 500 บาท แก่นายกุหลาบ ราษฎรในเขตเลือกตั้งที่ 1 โดยขอให้ลงคะแนนเสียงให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาขอให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยภูมิ เขตเลือกตั้งที่ 1 ใหม่ แทนผู้ถูกกล่าวหาศาลฎีกาสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาและนัดตรวจพยานหลักฐาน ต่อมาก่อนวันนัดตรวจพยานหลักฐานในคดี ผู้ร้องยื่นคำร้องเป็นคดีนี้ว่า นางราตรี ตัวแทน (หัวคะแนน) ของผู้ถูกกล่าวหาให้เงินแก่นางสาวแก้วใจ ราษฎรในเขตเลือกตั้งที่ 1 จำนวน 500 บาท พร้อมบอกให้เลือกผู้ถูกกล่าวหา และในวันเดียวกันนางราตรีให้เงินแก่นายสุข ราษฎรในเขตเลือกตั้งที่ 1 จำนวน 500 บาท พร้อมบอกให้เลือกผู้ถูกกล่าวหา ขอให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยภูมิ เขตเลือกตั้งที่ 1 ใหม่ แทนผู้ถูกกล่าวหา
มีปัญหาวินิจฉัยว่า ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องเป็นคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า มาตรา 219 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 บัญญติให้ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ทั้งนี้ วิธีพิจารณาและวินิจฉัยคดีให้เป็นไปตามระเบียบที่ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกากำหนด โดยต้องใช้ระบบไต่สวนและเป็นไปโดยรวดเร็ว ส่วนระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยวิธีพิจารณาและวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ใหญ่ๆ ในการพิจารณาและวินิจฉัยคดีเลือกตั้ง ในกรณีที่วิธีพิจารณาใดซึ่งระเบียบดังกล่าวมิได้กำหนดไว้โดยเฉพาะ ความในข้อ 4 วรรคสอง ของระเบียบกำหนดให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะใช้บังคับได้ ในการวินิจฉัยปัญหาว่าผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องเป็นคดีนี้หรือไม่ ต้องพิจารณาข้อห้ามเรื่องฟ้องซ้อนตามความในมาตรา 173 วรรคสอง (1) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งบัญญัติว่า นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา และผลแห่งการนี้ ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่น คำร้องของผู้ร้องเป็นกระบวนพิจารณาที่เสนอข้อหาต่อศาล แม้จะเสนอต่อศาลในขณะเริ่มคดีโดยคำร้องขอ ก็ถือว่าเป็นคำฟ้อง ผู้ร้องอ้างเหตุที่ขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยภูมิ เขตเลือกตั้งที่ 1 ใหม่ แทนผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ว่า มีผู้ให้เงินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา โดยมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งเป็นข้ออ้างเหตุเดียวกับการมีผู้ให้เงินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาในการเลือกตั้งครั้งเดียวกันในเขตเลือกตั้งเดียวกัน ซึ่งผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลฎีกาไว้แล้วในคดีเลือกตั้งหมายเลขดำที่ ลต 8/2555 ของศาลฎีกา โดยศาลฎีกามีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณา ซึ่งมีผลให้คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา แม้ตามคำร้องทั้งสองคำร้อง จะเป็นการให้เงินคนละวัน โดยผู้ให้คนละคนและผู้รับคนละคนกันก็ตาม การที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอต่อศาลฎีกาเป็นคดีนี้อีก ย่อมเป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันต่อศาลเดียวกัน เป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตามข้อ 4 วรรคสอง ของระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยวิธีพิจารณาและวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 ประกอบมาตรา 171, 173 วรรคสอง (1) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แม้ตามระเบียบผู้ร้องว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนและการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ.2554 ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดจะมีอำนาจสั่งรวมหรือแยกเรื่องคัดค้านหรือประเด็นของเรื่องคัดค้านก็ตาม ก็เป็นหลักเกณฑ์ชั้นสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัยชี้ขาดของผู้ร้องเท่านั้น เมื่อถึงชั้นยื่นคำร้องต่อศาล การยื่นคำร้องก็ต้องอยู่ในบังคับของบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับวิธีพิจารณาคดีในศาล การสั่งรวมหรือแยกเรื่องคัดค้านหรือประเด็นของเรื่องคัดค้านตามระเบียบของผู้ร้องไม่อาจก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ร้องในการรวมหรือแยกยื่นคำร้องต่อศาลได้ ทั้งการที่ผู้ร้องแยกยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเป็นคดีนี้และคดีเลือกตั้งหมายเลขดำที่ ลต 8/2555 ของศาลฎีกา ในขณะที่ผู้ร้องสามารถที่จะรอยื่นรวมกันได้ ย่อมมีผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งเป็นการใช้อำนาจขององค์กรนิติบัญญัติ เพราะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทุกครั้งที่ศาลฎีกามีคำสั่งรับคำร้องแล้ว และมีผลทำให้การพิจารณาคดีเลือกตั้งของศาลฎีกาไม่เป็นไปโดยรวดเร็วตามมาตรา 219 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องเป็นคดีนี้
จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องของผู้ร้อง และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความศาลฎีกา

Share