คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5794/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เงินบำเหน็จจากการลาออกจากการรับราชการที่จำเลยที่ 1 ได้รับเข้าลักษณะเป็นเงินอื่นใดที่ถึงกำหนดจ่ายให้สมาชิกนั้น ตามมาตรา 42/1 แห่ง พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสมาชิกสหกรณ์โจทก์ได้ทำหนังสือสัญญากู้สามัญกับโจทก์ตกลงกันว่าถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้เสร็จสิ้น จำเลยที่ 1 ยอมให้เจ้าหนี้ที่ผู้จ่ายเงินรายเดือน บำเหน็จ บำนาญ หรือเงินอื่นใดที่ทางราชการจะพึงจ่ายแก่จำเลยที่ 1 หักเงินดังกล่าวเพื่อชำระหนี้ทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยและอุปกรณ์แห่งหนี้ตามสัญญากู้นี้ให้แก่โจทก์ให้เสร็จสิ้นเสียก่อนได้ โดยให้ถือสัญญากู้นี้เป็นหลักฐานในการยื่นต่อเจ้าหน้าที่ผู้จ่ายเงินของทางราชการเพื่อรับเงินและชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 จะไม่ยกข้ออ้างใดที่จะพึงมีมาเป็นข้อต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ผู้จ่ายเงินของทางราชการ ตามข้อความดังกล่าวแสดงถึงโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสมาชิกได้ทำหนังสือยินยอมไว้กับโจทก์แล้ว ดังนั้น เพื่อให้ได้รับชำระหนี้โจทก์ต้องแจ้งผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ให้หักเงินบำเหน็จเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์จนกว่าหนี้หรือภาระผูกพันนั้นระงับสิ้นไป และผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ต้องหักเงินบำเหน็จของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์เป็นลำดับแรก ถัดจากเจ้าหนี้ภาษีอากรและหักเข้ากองทุนที่จำเลยที่ 1 ต้องถูกหักตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการหรือกฎหมายอื่น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองระบบสหกรณ์ที่จะดำเนินกิจการส่งเสริมประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของบรรดาสมาชิก โดยวิธีช่วยตนเองและสมาชิกช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โจทก์มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินบำเหน็จของจำเลยที่ 1 ทั้งหมดก่อนเจ้าหนี้รายอื่น ตามมาตรา 42/1 แห่ง พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 และข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามสัญญากู้สามัญอันเป็นกฎหมายบัญญัติเพื่อรับรองสิทธิโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน 1,614,551.82 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปี ของต้นเงิน 1,513,577.07 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน 1,359,962.44 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงิน 1,274,877.47 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 มกราคม 2559) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน 1,614,551.82 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงิน 1,513,577.07 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 มกราคม 2559) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังยุติได้ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 รับราชการสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษาปทุมธานี เขต 2 และเป็นสมาชิกสหกรณ์โจทก์ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2554 จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ 1,940,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ต่อปี จำเลยที่ 1 ตกลงผ่อนชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เป็นรายเดือน เดือนละ 13,600 บาท หากผิดนัดยอมให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปี จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ วันที่ 1 มกราคม 2557 จำเลยที่ 1 ลาออกจากการรับราชการ โดยมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จ 352,581.03 บาท วันที่ 20 มกราคม 2558 ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษาปทุมธานี เขต 2 ซึ่งเคยเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ได้เชิญเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 รวมสี่ราย คือ โจทก์ ธนาคารออมสิน สาขาเพรียวเพลส ธนาคารออมสิน สาขารังสิต และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาเทศบาลนครรังสิต มาประชุมเพื่อหาแนวทาง การชำระหนี้จากเงินบำเหน็จที่จำเลยที่ 1 ได้รับ ที่ประชุมมีมติให้แบ่งเงินบำเหน็จของจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ตามสัดส่วนภาระหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ได้รับชำระหนี้ 113,881.43 บาท ธนาคารออมสิน สาขาเพรียวเพลส ได้รับชำระหนี้ 145,319.85 บาท ธนาคารออมสิน สาขารังสิต ได้รับชำระหนี้ 75,549.93 บาท และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาเทศบาลนครรังสิต ได้รับชำระหนี้ 17,829.82 บาท โจทก์นำเงินดังกล่าวหักชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 คงค้างชำระต้นเงิน 1,513,577.07 บาท และดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง 100,974.75 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากบำเหน็จของจำเลยที่ 1 ทั้งหมดก่อนเจ้าหนี้รายอื่นหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ให้ร่วมรับผิดชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้เพียงใด ศาลฎีกาเห็นว่า บำเหน็จที่จำเลยที่ 1 ได้รับเข้าลักษณะเป็นเงินอื่นใดที่ถึงกำหนดจ่ายให้สมาชิกนั้นตามมาตรา 42/1 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสมาชิกสหกรณ์ของโจทก์ได้ทำหนังสือสัญญาเงินกู้สามัญกับโจทก์ซึ่งข้อ 6 วรรคสอง ตกลงกันว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ให้เสร็จสิ้น จำเลยที่ 1 ยอมให้เจ้าหน้าที่ผู้จ่ายเงินรายเดือน บำเหน็จ บำนาญ หรือเงินอื่นใดที่ทางราชการจะพึงจ่ายแก่จำเลยที่ 1 หักเงินดังกล่าวเพื่อชำระหนี้ทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยและอุปกรณ์แห่งหนี้ตามสัญญากู้นี้ให้แก่โจทก์ให้เสร็จสิ้นเสียก่อนได้ โดยให้ถือสัญญากู้นี้เป็นหลักฐานในการยื่นต่อเจ้าหน้าที่ผู้จ่ายเงินของทางราชการเพื่อรับเงินและชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ได้ และจำเลยที่ 1 จะไม่ยกข้ออ้างใดที่จะพึงมีมาเป็นข้อต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ผู้จ่ายเงินของทางราชการ ตามข้อความดังกล่าวแสดงถึงโจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสมาชิกได้ทำหนังสือยินยอมไว้กับโจทก์แล้ว ดังนั้น เพื่อให้ได้รับชำระหนี้โจทก์ต้องแจ้งผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ให้หักเงินบำเหน็จเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์จนกว่าหนี้หรือภาระผูกพันนั้นระงับสิ้นไป และผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ต้องหักเงินบำเหน็จของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์เป็นลำดับแรก ถัดจากเจ้าหนี้ภาษีอากร และการหักเข้ากองทุนที่จำเลยที่ 1 ต้องถูกหักตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการหรือกฎหมายอื่น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการคุ้มครองระบบสหกรณ์ที่จะดำเนินกิจการส่งเสริมประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของบรรดาสมาชิก โดยวิธีช่วยตนเองและสมาชิกช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โจทก์มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินบำเหน็จของจำเลยที่ 1 ทั้งหมดก่อนเจ้าหนี้รายอื่น ตามมาตรา 42/1 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 และข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 อันเป็นกฎหมายบัญญัติเพื่อรับรองสิทธิของโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
ส่วนปัญหาว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ให้ร่วมรับผิดชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้เพียงใดนั้น เห็นว่า เมื่อผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต 2 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 เรียกประชุมเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 รวมสี่รายเพื่อหาแนวทางชำระหนี้จากเงินบำเหน็จดังกล่าว โจทก์เพิกเฉยไม่อ้างสิทธิได้รับชำระหนี้จากบำเหน็จของจำเลยที่ 1 ก่อนเจ้าหนี้รายอื่น แต่กลับยอมรับชำระหนี้บางส่วนตามสัดส่วนเฉลี่ยของภาระหนี้ การละเว้นไม่ใช้สิทธิเหนือกว่าเจ้าหนี้รายอื่นนั้น ทำให้โจทก์ได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ลดลง มีผลถึงจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันที่ต้องรับผิดต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วมต้องชำระหนี้มากขึ้นจากการละเว้นของโจทก์ด้วย ซึ่งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 มีสิทธิยกข้อต่อสู้ดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 694 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตามจำนวนหนี้หลังจากหักบำเหน็จที่โจทก์ได้รับชำระหนี้จริงนั้นไม่ชอบ ดังนี้ เมื่อนำเงินบำเหน็จส่วนที่โจทก์ละเว้นไม่ใช้สิทธิเหนือกว่าเจ้าหนี้รายอื่นจำนวน 238,699.60 บาท มาหักจากต้นเงินที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระตามสัญญากู้ 1,513,577.07 บาท ก่อน จึงเป็นยอดหนี้ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ คงเหลือยอดเงินต้นที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 จำนวน 1,274,877.47 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ต่อปี คิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 85,084.97 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยเป็นเงิน 1,359,962.44 บาท ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 จากยอดเงินตามฟ้องโดยไม่หักส่วนที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งห้าต้องรับผิดเกินกว่าที่โจทก์จะได้รับชำระหนี้จากเงินบำเหน็จ เพราะเหตุโจทก์ไม่ใช้สิทธิตามกฎหมายและข้อตกลงตามสัญญากู้เงินดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้นนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ฟังขึ้น
อนึ่ง คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ขออนุญาตฎีกา ศาลฎีกาจึงไม่พิพากษาให้จำเลยที่ 1 เปลี่ยนแปลงความรับผิดต่อโจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ร่วมรับผิดชำระเงิน 1,359,962.44 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ของต้นเงิน 1,274,877.47 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share