แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์มีวัตถุประสงค์ให้บริการสินเชื่อแก่บุคคลทั่วไปในรูปของบัตรเครดิตโดยโจทก์ออกบัตรให้แก่สมาชิกแล้วสมาชิกสามารถนำบัตรไปซื้อสินค้าจากร้านค้าที่ตกลงรับบัตรโดยสมาชิกไม่ต้องชำระราคาสินค้าเป็นเงินสดโจทก์เป็นผู้ชำระเงินแทนสมาชิกไปก่อนแล้วเรียกเก็บเงินจากสมาชิกภายหลังและสมาชิกสามารถนำบัตรไปถอนเงินสดจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ธนาคารโดยผ่านเครื่องฝากถนนเงินอัตโนมัติได้ซึ่งสมาชิกจะต้องเสียค่าบริการให้แก่โจทก์และโจทก์ได้เรียกเก็บค่าบริการหรือค่าธรรมเนียมรายปีด้วยโจทก์จึงเป็นผู้ค้ารับทำการงานต่างๆให้แก่สมาชิกการที่โจทก์ชำระเงินแก่เจ้าหนี้ของสมาชิกแทนสมาชิกไปก่อนแล้วเรียกเก็บเงินจากสมาชิกภายหลังเป็นการเรียกเอาค่าที่โจทก์ได้ออกเงินทดรองไปมีอายุความ2ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา165(7)เดิม จำเลยทั้งสองเป็นลูกหนี้ร่วมมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้การที่จำเลยที่2ยกอายุความขึ้นต่อสู้ถือได้ว่าจำเลยที่1ได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้แล้วเช่นกันเมื่อปรากฏว่าคดีโจทก์ขาดอายุความแล้วตามที่จำเลยที่2ฎีกาแม้จำเลยที่1มิได้ฎีกาศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่1ได้ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา245(1),247
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกอบธุรกิจเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อแก่บุคคลทั่วไป โดยเป็นผู้ออกบัตรเครดิตเรียกว่า “บัตรสินเชื่อไดเนอร์สคลับ” ให้แก่ผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของโจทก์ สมาชิกสามารถนำบัตรดังกล่าวไปแสดงต่อบุคคลหรือนิติบุคคลหรือร้านค้าซึ่งตกลงรับบัตรเครดิตที่โจทก์ออกให้เพื่อซื้อสินค้าหรือใช้บริการโดยไม่ต้องชำระเงินสด โจทก์จะเป็นผู้ชำระเงินแทนสมาชิกแล้วจะเรียกเก็บเงินจากสมาชิกในภายหลังเป็นรายเดือนและสมาชิกสามารถนำบัตรไปถอนเงินสดจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติได้ด้วยโดยจะต้องเสียค่าธรรมเนียมแก่โจทก์ หากสมาชิกมีคำร้องขอต่อโจทก์ให้ผู้อื่นเข้าเป็นสมาชิกบัตรเสริม โจทก์ก็จะดำเนินการให้ซึ่งสมาชิกบัตรเสริมมีสิทธิหน้าที่และความรับผิดเช่นเดียวกับสมาชิกผู้ร้องขอทุกประการ จำเลยที่ 1 ได้ตกลงเข้าเป็นสมาชิกของโจทก์โดยตกลงจะปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้นและตกลงว่าจะชำระเงินที่โจทก์ออกชำระแทนคืนแก่โจทก์ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ระบุไว้ในใบแจ้งยอดหนี้รายเดือน หากผิดนัดยอมชำระค่าธรรมเนียมแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ต่อมาจำเลยที่ 1ได้ร้องขอต่อโจทก์ให้จำเลยที่ 2 เข้าเป็นสมาชิกบัตรเสริมโดยจำเลยทั้งสองตกลงเข้าผูกพันเพื่อชำระหนี้แก่โจทก์โดยยอมรับผิดร่วมกันอย่างลูกหนี้ร่วม หลังจากจำเลยทั้งสองเข้าเป็นสมาชิกแล้วจำเลยทั้งสองได้นำบัตรที่โจทก์ออกให้ไปใช้หลายครั้ง และโจทก์ได้ชำระเงินแทนจำเลยทั้งสองทุกครั้ง โจทก์ได้ออกใบแจ้งยอดหนี้ให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์เฉพาะที่ฟ้องคดีนี้รวม 11 ฉบับเมื่อถึงกำหนดชำระหนี้ตามใบแจ้งยอดหนี้ของโจทก์แล้ว จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ปรากฏว่า ณ วันที่ 23 มีนาคม 2530 จำเลยทั้งสองค้างชำระหนี้แก่โจทก์จำนวน 62,477.15 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 62,477.15 บาท แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า คำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 62,477.15บาท แก่โจทก์ จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะในข้อกฎหมายตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ2 ปี เพราะโจทก์เป็นผู้ค้าในการดูแลกิจการของผู้อื่นหรือรับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับในการนั้นหรือเรียกเอาค่าที่ได้ออกเงินทดรองไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 165(7) เดิม หรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์มีวัตถุประสงค์ในการให้บริการสินเชื่อแก่บุคคลทั่วไปในรูปของบัตรเครดิตชื่อว่า “บัตรสินเชื่อไดเนอร์สคลับ”โดยโจทก์ออกบัตรให้แก่สมาชิก แล้วสมาชิกของโจทก์สามารถนำบัตรไปใช้บริการโดยซื้อสินค้าจากร้านค้าที่ตกลงรับบัตรของโจทก์โดยสมาชิกไม่ต้องชำระราคาสินค้าเป็นเงินสด โจทก์เป็นผู้ชำระเงินแทนสมาชิกไปก่อนแล้วจึงเรียกเก็บเงินจากสมาชิกภายหลังและสมาชิกสามารถนำบัตรไปถอนเงินสดจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด โดยผ่านเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติของธนาคารกลุ่ม “สยามเน็ต” ซึ่งสมาชิกจะต้องเสียค่าบริการให้แก่โจทก์ด้วย เห็นว่า การให้บริการดังกล่าวแก่สมาชิกของโจทก์โจทก์ได้เรียกเก็บค่าบริการหรือค่าธรรมเนียมรายปีด้วย โจทก์จึงเป็นผู้ค้ารับทำการงานต่าง ๆ ให้แก่สมาชิก และการที่โจทก์ได้ชำระเงินแก่เจ้าหนี้ของสมาชิกแทนสมาชิกไปก่อนแล้วจึงเรียกเก็บเงินจากสมาชิกภายหลัง เป็นการเรียกเอาค่าที่โจทก์ได้ออกเงินทดรองไปดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ค้ารับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาค่าที่ได้ออกเงินทดรองไปสิทธิเรียกร้องดังกล่าวจึงมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(7) เดิม ที่ใช้อยู่ในขณะที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายเป็นบางส่วนเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2530อันเป็นการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงและเริ่มนับอายุความขึ้นใหม่ตั้งแต่วันดังกล่าว โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2532 พ้นกำหนด 2 ปีแล้ว สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น และคดีนี้จำเลยทั้งสองเป็นลูกหนี้ร่วมมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ ประกอบกับจำเลยที่ 1 เป็นสมาชิกบัตรเครดิตจำเลยที่ 2 เป็นสมาชิกบัตรเสริมของโจทก์ สิทธิเรียกร้องของโจทก์ต่อจำเลยทั้งสองเป็นอย่างเดียวกัน การที่จำเลยที่ 2ยกอายุความขึ้นต่อสู้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้แล้วเช่นกัน แม้จำเลยที่ 1 มิได้ฎีกาแต่เมื่อคดีของโจทก์ขาดอายุความ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ได้ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 245(1), 247″
พิพากษากลับ ให้ยก ฟ้อง