คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1284/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ขณะรถยนต์คันที่เอาประกันภัยค้ำจุนชนรถยนต์ของโจทก์ รถยนต์คันที่เอาประกันภัยค้ำจุนอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1ผู้เช่าซื้อ มิได้อยู่ในความครอบครองของบริษัท ส. ผู้เอาประกันภัยค้ำจุนซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อ และเหตุละเมิดก็กระทำโดย ว.ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 บริษัท ส. ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดในผลละเมิดจึงไม่มีค่าสินไหมทดแทนซึ่งจำเลยที่ 2ผู้รับประกันภัยจะต้องชดใช้แทนบริษัท ส. ผู้เอาประกันภัยดังนี้ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ซึ่งขับรถมาในทางการที่จ้าง ขับด้วยความประมาทเลินเล่อชนรถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างและจำเลยที่ 2ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันที่เกิดเหตุร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 312,390 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อไปนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การต่อสู้คดี
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายจำนวน 118,460 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2524 เวลา 23.40 นาฬิกา ขณะที่นายคำรพลิ้มม่วงนิล ขับรถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน 1จ-7438กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างจากกรุงเทพมหานครไปตามถนนสายเอเซียเพื่อไปจังหวัดน่าน เมื่อรถยนต์แล่นไปถึงระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 87-88 ตำบลขวัญเมือง อำเภอบางปะหันจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายวิโรจน์ ทัดกาหลง ขับขี่รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80-0711 สุโขทัย ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างตามหลังมาแล้วแล่นพุ่งเข้าชนท้ายรถยนต์โดยสารของโจทก์ดังกล่าวโดยประมาทเลินเล่อทำให้รถยนต์ของโจทก์เสียหาย คดีมีปัญหาตามที่โจทก์ฎีกาว่านอกจากค่าเสียหายอย่างอื่นซึ่งศาลอุทธรณ์กำหนดแล้ว จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการที่โจทก์ต้องซ่อมแซมเครื่องยนต์รถอีก 172,460 บาทหรือไม่ และจำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับทั้งหมดหรือไม่…..ศาลฎีกาเห็นสมควรลดจำนวนค่าเสียหายเกี่ยวกับเครื่องยนต์ลงเหลือ 58,000 บาทเมื่อรวมค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์กำหนดด้วยแล้ว รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 176,460 บาท อันจำเลยที่ 1 นายจ้างของนายวิโรจน์ผู้กระทำผิดละเมิดจะต้องร่วมรับผิดชดใช้แก่โจทก์ด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 425
คดีมีปัญหาต่อไปว่า จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมรับผิดเพื่อความเสียหายที่โจทก์ได้รับด้วยหรือไม่ ได้ความว่า จำเลยที่ 2ประกอบอาชีพรับประกันภัยและรับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80-0711 สุโขทัย จากบริษัทสุโขทัยฮกอันตึ๊ง(1978) จำกัด ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2523 ตามเอกสารหมาย ล.1แล้วบริษัทสุโขทัยฮกอันตึ๊ง (1978) จำกัด ได้ให้จำเลยที่ 1เช่าซื้อรถยนต์คันดังกล่าวไป ซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 887 บัญญัติว่า ‘อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้นคือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้สินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัย เพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง และผู้ซึ่งเอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ’ และวรรคสองบัญญัติว่า ‘ผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากผู้รับประกันภัยโดยตรง…..’เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80-0711 สุโขทัย อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อ มิได้อยู่ในความครอบครองของบริษัทสุโขทัยฮกอันตึ๊ง (1978) จำกัด ผู้ให้เช่าซื้อ และเหตุละเมิดนี้ก็กระทำโดยนายวิโรจน์ ทัดกาหลง ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 อันจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดด้วย ตามนัยมาตรา 425 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บริษัทสุโขทัยฮกอันตึ๊ง (1978) จำกัดจึงไม่ต้องรับผิดในเรื่องที่รถชนกันอันเป็นเหตุกระทำละเมิดต่อเจ้าของรถยนต์โดยสารดังกล่าวเมื่อบริษัทสุโขทัยฮกอันตึ๊ง (1978) จำกัด ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดในผลละเมิดก็ไม่มีค่าสินไหมทดแทนซึ่งจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยจะต้องชดใช้แทนบริษัทสุโขทัยฮกอันตึ๊ง (1978) จำกัด ผู้เอาประกันภัยแต่อย่างใด จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามฟ้อง……………’
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายจำนวน176,460 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 8,500 บาท สำหรับค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share