คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 914/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดและศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขายแล้ว หากโจทก์เห็นว่าการขายทอดตลาดเป็นไปโดยไม่ชอบเนื่องจากเจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้แจ้งให้เจ้าหนี้ทราบ และไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าหนี้ก่อน โจทก์ชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลที่ทำการบังคับคดีไม่ว่าเวลาใด ๆก่อนการบังคับคดีได้เสร็จสิ้นลง เพื่อขอให้มีคำสั่งยกเลิกการขายทอดตลาด ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296แต่ต้องไม่ช้ากว่า 8 วัน นับแต่วันที่โจทก์ทราบการฝ่าฝืน เมื่อโจทก์มิได้ยื่นคำร้องภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดแต่กลับมายื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์จึงเป็นการผิดขั้นตอนของลำดับชั้นศาล ดังนี้ โจทก์จะใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาหาได้ไม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีศาลจังหวัดมีนบุรี ยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 รวม 7 รายการ (บังคับคดีแทนศาลแพ่ง)ตามประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี ต่อมามีการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ยึดไว้ ครั้งแรกไม่มีผู้แทนโจทก์มานำขาย เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงงดการขาย แล้วประกาศขายใหม่ ถึงวันนัดไม่มีผู้ใดเข้าประมูลซื้อ ผู้แทนโจทก์จึงขอให้งดขายไว้ก่อน ปรากฏว่า รายการทรัพย์ที่ยึดไว้อันดับที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 นั้น โจทก์ในคดีหมายเลขแดงที่384/2528 ระหว่างธนาคารแห่งอเมริกาเนชั่นแนลทรัสต์แอนด์เซฟวิ่งแอสโซซิเอชั่น จำกัดโจทก์ บริษัทสยามอินซูเลเตอร์ จำกัด จำเลย ของศาลจังหวัดมีนบุรียึดไว้ก่อนแล้ว โจทก์คดีนี้จึงแถลงขอยกเลิกการยึดทรัพย์ตามรายการทรัพย์ที่ยึดไว้อันดับที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ดังกล่าว ศาลจังหวัดมีนบุรีอนุญาต แต่ต่อมามีการประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ที่โจทก์เคยนำยึดไว้ทั้งเจ็ดรายการอีกครั้งหนึ่ง ในวันขายทอดตลาด เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์ทั้งเจ็ดรายการดังกล่าวรวมกันคือที่ดินโฉนดที่ 11681 พร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยติดจำนองซึ่งมีทรัพย์ตามรายการทรัพย์ที่ยึดไว้อันดับที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ที่ได้ถอนการยึดไปแล้ว รวมอยู่ด้วย มีผู้เข้าสู้ราคา 2 ราย ปรากฏว่านางสาวจุฑามาศ ปานเจียมตัวผู้ซื้อทรัพย์ให้ราคาสูงสุด 350,000บาท โจทก์คัดค้านว่าราคายังต่ำไป เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงรายงานศาลจังหวัดมีนบุรีเพื่อขอคำสั่ง ศาลจังหวัดมีนบุรีมีคำสั่งว่า”ขายโดยติดจำนอง ซึ่งคิดถึงวันนี้หนี้จำนองไม่ต่ำกว่า 60 ล้านบาทฉะนั้นจึงอนุญาตให้ขายได้”
ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องว่า ผู้ซื้อทรัพย์ได้วางเงินค่าซื้อทรัพย์ร้อยละ 25 ของราคาซื้อไว้ตามระเบียบแล้ว ส่วนที่เหลือให้ชำระภายใน 15 วัน แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำสัญญาซื้อขายให้ผู้ซื้อทรัพย์ลงชื่อ ได้กำหนดเงื่อนไขไว้ท้ายสัญญาว่าผู้ซื้อจะต้องนำเงินที่จำเลยเป็นหนี้จำนองทั้งหมดมาชำระภายใน 15 วัน นั้นเป็นเงื่อนไขที่ไม่ชอบ เพราะไม่ได้กำหนดไว้ในประกาศขายทอดตลาดครั้งนี้ และเป็นเรื่องของผู้ซื้อทรัพย์ที่จะไปไถ่ถอนจำนองกับผู้รับจำนองเอง ไม่เกี่ยวกับเจ้าพนักงานบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่มีสิทธิที่กำหนดเงื่อนไขขึ้นใหม่ ขอศาลมีคำสั่งให้ยกเลิกเงื่อนไขดังกล่าวออกจากสัญญาซื้อขาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า สอบเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว แจ้งว่าขณะทำสัญญาซื้อขายได้อธิบายเงื่อนไขข้อกำหนดต่าง ๆ ให้ผู้ซื้อทรัพย์ฟังจนเข้าใจดีแล้ว จึงให้ลงชื่อ และเจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจกำหนดเงื่อนไขได้ ให้ยกคำร้อง
โจทก์และผู้ซื้อทรัพย์อุทธรณ์ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่าการขายทอดตลาดไม่ชอบ ขอให้เพิกถอน ส่วนผู้ซื้อทรัพย์อุทธรณ์ขอให้ยกเลิกเงื่อนไขที่ให้ผู้ซื้อทรัพย์ชำระหนี้จำนองภายใน 15 วัน
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนเงื่อนไขในสัญญาซื้อขายทรัพย์ที่กำหนดให้ผู้ซื้อทรัพย์ชำระหนี้จำนองให้แก่ผู้รับจำนองภายใน15 วัน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ ยกอุทธรณ์โจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้ว่า โจทก์มีสิทธิที่จะอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์หรือฎีกาต่อศาลฎีกาขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดหรือไม่ เห็นว่า ตามรายงานการขายทอดตลาดทรัพย์ของเจ้าพนักงานบังคับคดีประจำวันที่ 29 พฤษภาคม 2532 ปรากฏว่าโจทก์ได้คัดค้านในวันดังกล่าวว่าขายต่ำไป และในอุทธรณ์ของโจทก์ฉบับที่วันที่ 22 มิถุนายน 2532 ระบุว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการขายทอดตลาดโดยไม่แจ้งให้ธนาคารแห่งอเมริกาเนชั่นแนลทรัสต์แอนด์เซฟวิ่งส์แอสโซซิเอชั่น จำกัดเจ้าหนี้ทราบ และไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าหนี้ดังกล่าวเป็นการขายทอดตลาดที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นว่า จากข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นการบ่งชี้ชัดว่าโจทก์ทราบถึงการที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดโดยไม่ชอบ ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดีในวันที่ 29 พฤษภาคม 2532 หรืออย่างน้อยในวันที่ 22 มิถุนายน 2532อันเป็นวันที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์ ซึ่งโจทก์จะต้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นศาลที่ทำการบังคับคดีไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลงแต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่วันที่โจทก์ทราบการฝ่าฝืนนั้น เพื่อขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกเลิกการขายทอดตลาดอันเป็นกระบวนวิธีการบังคับคดีที่ไม่ชอบหรือฝ่าฝืนกฎหมายนั้นเสียตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 แต่โจทก์ก็มิได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนกระบวนวิธีการบังคับคดีที่โจทก์เห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นเสียภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด กลับมายื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ผิดขั้นตอนของลำดับชั้นศาล ดังนั้น โจทก์จะใช้สิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาหาได้ไม่ ส่วนการขายทอดตลาดทรัพย์อันดับที่ 2 ที่ 3 และที่ 4ซึ่งถูกเพิกถอนการยึดไปแล้วเป็นการขายทอดตลาดที่ไม่ชอบ เป็นเรื่องของผู้มีส่วนได้เสียจะไปว่ากล่าวเอาต่างหาก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์มานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share