คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9126/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288, 371 ประกอบมาตรา 83 เรียงกระทงลงโทษ ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น จำคุกคนละ 9 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธมีดไปในเมืองฯ ปรับ คนละ 50 บาท เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยทั้งสองไปฝึกและอบรม คนละ 6 ปี และ 7 ปี ตามลำดับ ซึ่งการเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปฝึกและอบรมเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน ต้องถือว่าศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 เกินกว่า 5 ปี ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้ในส่วนจำเลยที่ 2 ว่ามีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก จำคุก 1 ปี 6 เดือน เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยที่ 2 ไปฝึกและอบรม 2 ปี จึงเป็นการแก้เฉพาะบทมิได้พิพากษาแก้โทษด้วย จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นการฎีกาดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน อันเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ฎีกาโจทก์จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว และเมื่อโจทก์มิได้ขออนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์มา จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ โดยจำเลยที่ 1 รับว่าใช้มีดแทงผู้ตายจริง แต่ไม่มีเจตนาฆ่าและกระทำโดยบันดาลโทสะ
ระหว่างพิจารณานางบุญมา มารดาของผู้ตาย ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดไร้อุปการะ ค่าขาดประโยชน์จากการทำงาน ค่าพาหนะในการเดินทางและค่าทำขวัญ รวมเป็นเงิน 1,700,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 371 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำความผิด จำเลยที่ 1 อายุ 15 ปีเศษ จำเลยที่ 2 อายุ 16 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ประกอบมาตรา 18 วรรคสาม ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น จำคุกคนละ 9 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธมีดไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับคนละ 50 บาท ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 ปี และปรับ 33.33 บาท อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัว และวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยทั้งสองไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 2 (จังหวัดราชบุรี) สำหรับจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 ปี สำหรับจำเลยที่ 2 มีกำหนด 7 ปี นับแต่วันพิพากษา แต่ต้องไม่เกินกว่าจำเลยทั้งสองมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์ จำเลยทั้งสองถูกควบคุมตัวในระหว่างสอบสวนมาบ้างแล้ว จึงไม่ต้องชำระค่าปรับ ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 145 ข้อหาอื่นให้ยก กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 395,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคแรก ขณะกระทำความผิด จำเลยที่ 2 อายุ 16 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 จำคุก 1 ปี 6 เดือน อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยที่ 2 ไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 2 (จังหวัดราชบุรี) มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้จำเลยที่ 2 ฟัง แต่ต้องไม่เกินกว่าจำเลยที่ 2 มีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกาโดยจำเลยทั้งสองได้รับอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นที่ยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยทั้งสองกับนางสาวสุชาดา นายศิลาหรือบอย กับพวก อีกหลายคนไปที่ร้านค้าเลขที่ 206/27 ก ถนนเจษฎาวิถี ตำบลมหาชัย อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร โดยจำเลยที่ 1 พามีดไม่ทราบขนาดติดตัวไป แล้วจำเลยที่ 1 ใช้มีดดังกล่าวแทงนายกฤตตะวัน ผู้ตาย ที่บริเวณบ่าซ้าย หัวไหล่ซ้าย แขนซ้ายด้านหลัง ลำคอข้างซ้าย บ่าซ้ายด้านหลัง รักแร้ซ้ายด้านหลัง และหน้าอกข้างซ้าย เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย สำหรับความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และฐานร่วมกันพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่อุทธรณ์ และความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธมีดติดตัวไปในเมืองโดยไม่มีเหตุสมควร ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองไม่อุทธรณ์ ความผิดฐานดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 371 ประกอบมาตรา 83 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น จำคุกคนละ 9 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธมีดไปในเมืองฯ ปรับคนละ 50 บาท เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยทั้งสองไปฝึกและอบรมคนละ 6 ปี และ 7 ปี ตามลำดับ ซึ่งการเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปฝึกและอบรมเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน ต้องถือว่าศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 เกินกว่า 5 ปี ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้ในส่วนจำเลยที่ 2 ว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคแรก จำคุก 1 ปี 6 เดือน เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยที่ 2 ไปฝึกและอบรม 2 ปี จึงเป็นการแก้เฉพาะบทมิได้พิพากษาแก้โทษด้วย จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นการฎีกาดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน อันเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ฎีกาโจทก์จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว และเมื่อโจทก์มิได้ขออนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือได้รับการรับรองให้ฎีกาจากอัยการสูงสุด ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์มา จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในคดีส่วนแพ่งว่า จำเลยทั้งสองต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ร้องหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า เมื่อการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ร้องซึ่งเป็นมารดาของผู้ตาย จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้อง ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าเสียหายเป็นค่ารักษาพยาบาล ค่าปลงศพ และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการจัดการศพ เป็นเงิน 95,000 บาท นับว่าเหมาะสมแล้ว ส่วนค่าขาดไร้อุปการะ นั้น ผู้ตายในฐานะบุตรมีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูผู้ร้องในฐานะมารดา โดยไม่ต้องพิจารณาว่าในขณะนั้นผู้ตายได้อุปการะเลี้ยงดูผู้ร้องหรือไม่ เมื่อผู้ร้องนำสืบว่า ผู้ตายจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ขณะเกิดเหตุทำงานอยู่ที่ร้านซ่อมรถยนต์มีรายได้วันละ 300 บาท หากไม่เสียชีวิตผู้ตายน่าจะอุปการะเลี้ยงดูผู้ร้องได้ประมาณเดือนละ 6,000 บาท เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงอายุของผู้ร้องซึ่งขณะเกิดเหตุ อายุ 37 ปี เชื่อว่าผู้ร้องมีโอกาสได้รับการอุปการะตามกฎหมายได้ไม่น้อยกว่า 10 ปี ดังที่นำสืบ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าขาดไร้อุปการะให้ผู้ร้อง 300,000 บาท ถือว่าเหมาะสมแล้ว ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยไปว่า ผู้ร้องมีโอกาสได้รับการอุปการะไม่น้อยกว่า 30 ปี ก็เป็นเพียงการอนุมานจากอายุของผู้ร้อง แต่ก็ไม่ได้กำหนดค่าขาดไร้อุปการะให้เป็นรายปี และยังคงกำหนดให้เป็นจำนวนเงินที่ไม่เกินกว่าคำขอและทางนำสืบของผู้ร้อง ดังนั้น คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ในส่วนนี้จึงไม่ใช่การพิพากษาเกินคำขอดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาในคดีส่วนแพ่งมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share