คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9632/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การหลอกลวงว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้ตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2528 มาตรา 91 ตรี ย่อมรวมถึงการหลอกลวงในเรื่องตำแหน่งหน้าที่การงานหรือค่าจ้าง ค่าตอบแทนในการทำงานด้วย หากจำเลยที่ 1 มีเจตนาหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสองว่าสามารถหางานในไต้หวันโดยได้รับค่าจ้างสูง และโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้เสียหายทั้งสองก็เป็นความผิดสำเร็จตามบทบัญญัตินี้แล้ว แม้ภายหลังผู้เสียหายทั้งสองจะได้เดินทางไปทำงานที่ไต้หวันแต่เมื่อได้รับค่าจ้างน้อยกว่าที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้าง จำเลยที่ 1 ก็ไม่พ้นความรับผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 มาตรา 4, 30, 82, 91 ตรี และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 83, 91 และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินแก่ผู้เสียหายทั้งสองคนละ 75,000 บาท และนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1598/2545 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 91 ตรี (ที่ถูก ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83) การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 6 ปี ให้จำเลยที่ 1 คืนเงิน 75,000 บาทแก่ผู้เสียหายที่ 2 ส่วนคำขอให้นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1598/2545 ของศาลชั้นต้นนั้น เนื่องจากคดีดังกล่าวศาลรอการลงโทษจำคุกจึงไม่อาจนับโทษต่อได้ ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยที่ 1 คืนเงิน 75,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 91 ตรี บัญญัติว่า “ผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือสามารถส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปีหรือปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ” การหลอกลวงว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้ตามบทบัญญัติดังกล่าวย่อมรวมถึงการหลอกลวงในเรื่องตำแหน่งหน้าที่การงานหรือค่าจ้างค่าตอบแทนในการทำงานด้วย หากจำเลยที่ 1 มีเจตนาหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสองว่าสามารถหางานในไต้หวันโดยได้รับค่าจ้างสูง และโดยการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้เสียหายทั้งสองก็เป็นความผิดสำเร็จตามบทบัญญัตินี้แล้ว แม้ภายหลังผู้เสียหายทั้งสองจะได้เดินทางไปทำงานที่ไต้หวันก็เป็นเพราะผู้เสียหายทั้งสองถูกจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันหลอกลวงให้เดินทางไปทำงานและได้รับค่าจ้างน้อยกว่าที่จำเลยที่ 1 กล่าวชักชวนนั่นเอง แต่ได้รับค่าจ้างน้อยกว่าที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้าง จำเลยที่ 1 ก็ไม่พ้นความรับผิด ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 มิได้กระทำความผิด เหตุที่จำเลยที่ 1 มาเกี่ยวข้องในคดีนี้เนื่องจากจำเลยที่ 1 รู้จักกับผู้เสียหายทั้งสอง การที่จำเลยที่ 1 ขับรถพาผู้เสียหายทั้งสองไปที่บริษัทกรุงเทพฯ ทวี จำกัด เนื่องจากผู้เสียหายทั้งสองว่าจ้างและผู้เสียหายที่ 1 ตกลงว่าจะนำเงินจากบริษัทกรุงเทพฯ ทวี จำกัด มาชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 จำนวน 55,500 บาท นั้น เห็นว่า ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ชักชวนผู้เสียหายทั้งสองให้เดินทางไปทำงานที่ไต้หวัน และยังเป็นผู้รับผู้เสียหายที่ 1 ไปบ้านของจำเลยที่ 1 ที่จังหวัดขอนแก่น ก่อนที่จะพาผู้เสียหายทั้งสองกับพวกขึ้นรถตู้เดินทางมายังบริษัทจัดหางานซาป้า อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์วิส จำกัด ที่กรุงเทพมหานคร และยังพาผู้เสียหายทั้งสองไปตรวจร่างกายเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศอีกหลายครั้ง จำเลยที่ 1 กับพวกเรียกค่าใช้จ่ายจากผู้เสียหายทั้งสองคนละ 165,000 บาท และผู้เสียหายทั้งสองโอนเงินให้แก่นายมงคลพวกของจำเลยที่ 1 แล้ว นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังเป็นผู้ขับรถตู้มารับผู้เสียหายทั้งสองไปส่งที่กรุงเทพมหานครเพื่ออบรมและทำสัญญาจ้างที่บริษัท เค. เอส. แมนเพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด ตามพฤติการณ์แสดงว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ติดต่อประสานงานระหว่างนางสาวอัญชลีกับพวกผู้เสียหายทั้งสอง และรู้เห็นมาตั้งแต่แรกที่มีการชักชวนและดำเนินการส่งผู้เสียหายทั้งสองไปทำงานที่ไต้หวัน จำเลยที่ 1 จึงมิใช่แต่เพียงผู้ขับรถรับจ้างส่งผู้เสียหายทั้งสองและต้องการได้รับชำระหนี้จากผู้เสียหายที่ 1 ตามที่อ้าง ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า จำเลยที่ 1 ขับรถพาผู้เสียหายที่ 1 กับพวกไปพบนายแพทย์เปรมศักดิ์ และไปร้องเรียนที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดขอนแก่น กับพาไปสถานีตำรวจนั้น เป็นเรื่องที่กระทำภายหลังจากการที่จำเลยที่ 1 ชักชวนผู้เสียหายทั้งสองแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวก็เพื่อให้เจ้าพนักงานติดตามจับพวกของจำเลยที่ 1 ที่ร่วมกระทำความผิด และเป็นการปกปิดความผิดของตนเองไม่ให้เป็นข้อพิรุธน่าสงสัย กับเป็นการบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้นจากการชักชวนของจำเลยที่ 1 ทั้งมิใช่ข้อที่แสดงว่าจำเลยที่ 1 มิได้ร่วมกับพวกหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสอง ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาอีกว่า จำเลยที่ 1 กับพันตำรวจโทดาวเรือง พนักงานสอบสวน มีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน การสอบสวนในคดีนี้จึงไม่น่ารับฟังเพราะพันตำรวจโทดาวเรืองปรุงแต่งเรื่องราวเพื่อปรักปรำจำเลยที่ 1 นั้น ข้อนี้จำเลยที่ 1 เบิกความเพียงว่า เหตุที่มีการร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 1 มีสาเหตุโกรธเคืองกับพันตำรวจโทดาวเรือง เนื่องจากบุตรชายจำเลยที่ 1 ได้เสียกับหญิงคนหนึ่งแล้วถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับในข้อหาข่มขืนกระทำชำเรา เมื่อจำเลยที่ 1 ไปถามเจ้าพนักงานตำรวจว่าทำไมคดียังไม่เสร็จ และจำเลยที่ 1 พูดว่ามาสถานีตำรวจต้องเสียเงิน 3,000 ถึง 4,000 บาท จะคุ้มหรือ เจ้าพนักงานตำรวจจึงแจ้งข้อกล่าวหาจำเลยที่ 1 ว่าหมิ่นประมาท จากข้อเท็จจริงเพียงเท่านี้ไม่น่าเป็นสาเหตุที่พันตำรวจโทดาวเรืองจะกลั่นแกล้งจำเลยที่ 1 เพราะพันตำรวจโทดาวเรืองก็ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับการหมิ่นประมาทไปแล้ว กรณีไม่ปรากฏว่าพันตำรวจโทดาวเรืองกระทำการอย่างใด ที่เป็นการกลั่นแกล้งจำเลยที่ 1 ที่จะทำให้การสอบสวนไม่น่ารับฟัง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานร่วมกันหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางานในต่างประเทศได้นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share