คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5378/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสิบเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านพร้อมที่ดินในหมู่บ้านจัดสรร พ. ส่วนจำเลยทั้งเจ็ดได้รับเลือกให้เป็นคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ. หมู่บ้านจัดสรร พ. มีบ้านอยู่ในพื้นที่จำนวนมากถึง 312 หลัง นับว่าเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ที่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรซึ่งมีเพียงจำเลยทั้งเจ็ดเป็นคณะกรรมการ ไม่อาจดูแลกิจการหลากหลายของหมู่บ้านให้ทั่วถึงได้ ประกอบกับจำเลยแต่ละคนต่างประกอบอาชีพ มีหน้าที่การงานของตนเอง การจัดหานักบริหารมืออาชีพมาทำหน้าที่ช่วยเหลือดูแลกิจการของหมู่บ้านจัดสรร จึงมีความจำเป็น คดีปรากฏว่านิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ. ได้ว่าจ้างบริษัท ค. ทำหน้าที่บริหารจัดการกิจการรวมถึงการดูแลบำรุงรักษาซ่อมแซมสาธารณูปโภคและบริหารสาธารณะต่าง ๆ ของหมู่บ้านจัดสรรให้เป็นไปตามมาตรฐานและสามารถรองรับการใช้ประโยชน์ของสมาชิก แม้สัญญาว่าจ้างดังกล่าวสิ้นสุดลง แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีคู่สัญญาฝ่ายใดบอกเลิกสัญญา จึงต้องถือว่านิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ. ได้ว่าจ้างบริษัท ค. บริหารจัดการกิจการของหมู่บ้านจัดสรรต่อไป ก่อนการว่าจ้างผู้รับเหมาให้ซ่อมแซมถนนและฝาท่อระบายน้ำของหมู่บ้าน ปรากฏว่าผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการของบริษัท ค. ได้รับมอบหมายจากนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ. ให้ติดต่อจัดหาผู้รับเหมาสามรายที่เคยร่วมงานกันและมีผลงานดีไว้ใจได้เสนอราคาค่าซ่อมให้จำเลยทั้งเจ็ดพิจารณา จำเลยทั้งเจ็ดลงมติเลือกบริษัท จ. ซึ่งเสนอราคาต่ำสุดเป็นผู้รับจ้างดำเนินงาน แต่เมื่อทางนำสืบโจทก์ทั้งสิบไม่ปรากฏว่าผู้รับเหมาทั้งสามรายที่บริษัท ค. หามาเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน เป็นพรรคพวกกัน เอื้อเฟื้อประโยชน์กัน ฮั้วประมูลกัน ร่วมกันเสนอราคาค่าก่อสร้างในลักษณะสมยอมราคา หรือมีส่วนได้เสียโดยตรงหรืออ้อมของจำเลยทั้งเจ็ด จึงน่าเชื่อว่าจำเลยทั้งเจ็ดลงมติคัดเลือกบริษัท จ. ด้วยความโปร่งใสและตรงไปตรงมาตามข้อมูลและใบเสนอราคาที่ฝ่ายบริหารจัดการของบริษัท ค. นำเสนอ ส่วนที่โจทก์ทั้งสิบอ้างว่าจำเลยทั้งเจ็ดตกลงว่าจ้างบริษัท จ. โดยไม่มีการประเมินราคากลางก่อนทำสัญญาดังที่หน่วยงานภาครัฐถือปฏิบัตินั้น เห็นว่า การกำหนดราคากลางงานก่อสร้างเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีที่วางหลักเกณฑ์ให้ใช้เฉพาะหน่วยงานภาครัฐ ไม่อาจนำมาใช้กับภาคเอกชนได้ และตามข้อบังคับนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ. ก็มิได้ระบุให้ต้องมีการประเมินราคากลางก่อน การที่จำเลยทั้งเจ็ดลงมติคัดเลือกบริษัท จ. โดยไม่มีการประเมินราคากลางจึงไม่เป็นการกระทำที่ส่อพิรุธขาดความรอบคอบ หรือฝ่าฝืนต่อข้อบังคับของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ. ทั้งการดำเนินกิจการของจำเลยทั้งเจ็ดอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของที่ประชุมใหญ่สมาชิกของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร หากจำเลยทั้งเจ็ดดำเนินกิจการของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ. ด้วยความประมาทเลินเล่อ ไม่ชอบมาพากล หรือไม่คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของสมาชิก สมาชิกก็มีสิทธิที่จะเข้าชื่อร้องขอให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อซักฟอกคณะกรรมการ หรือไม่ลงคะแนนเสียงเลือกกรรมการชุดเดิมให้กลับมาทำหน้าที่อีกได้ แต่หลังจากการซ่อมแซมแล้วเสร็จ มีการนัดประชุมใหญ่สามัญเพื่อเลือกคณะกรรมการนิติบุคคลชุดใหม่ ปรากฏว่าสมาชิกส่วนใหญ่ได้ลงคะแนนเลือกจำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ให้กลับมาเป็นคณะกรรมการ อันแสดงว่าสมาชิกส่วนใหญ่ให้การยอมรับและไว้วางใจในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละโดยไม่หวังผลตอบแทนของจำเลยทั้งเจ็ด ข้อนำสืบของโจทก์ทั้งสิบไม่มีพยานบ่งชี้ให้ฟังได้ว่าจำเลยทั้งเจ็ดลงมติคัดเลือกบริษัท จ. ให้ดำเนินงานซ่อมแซมถนนและฝาท่อระบายน้ำในวงเงินสูงกว่าความเป็นจริงด้วยความประมาทเลินเล่อ การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดจึงไม่เป็นการกระทำละเมิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ. ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันรับผิดชำระเงินนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ. นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสิบฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชดใช้เงินให้แก่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พลัส ซิตี้พาร์ค (ศรีนครินทร์-สวนหลวง) 586,630 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งเจ็ดให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ทั้งสิบใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งเจ็ด โดยกำหนด ค่าทนายความให้ 20,000 บาท
โจทก์ทั้งสิบอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระเงินแก่นิติบุคคลหมู่บ้าน พลัส ซิตี้พาร์ค (ศรีนครินทร์-สวนหลวง) 527,520 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 10 มิถุนายน 2558) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยทั้งเจ็ดฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า หมู่บ้านจัดสรร พลัส ซิตี้พาร์ค (ศรีนครินทร์-สวนหลวง) ตั้งอยู่ถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 แขวงหนองบอน เขตประเวศ กรุงเทพมหานคร ต่อมาปี 2552 ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรตามกฎหมายชื่อ “นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พลัส ซิตี้พาร์ค (ศรีนครินทร์-สวนหลวง)” โดยมีข้อบังคับของนิติบุคคล สำหรับโจทก์ทั้งสิบเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านพร้อมที่ดินจำนวน 10 แปลง ในหมู่บ้านจัดสรรดังกล่าว ส่วนจำเลยทั้งเจ็ดได้รับเลือกให้เป็นคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรในช่วงระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2557 ถึงวันที่ 10 พฤษภาคม 2558 โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นประธานกรรมการ ต่อมาวันที่ 28 กรกฎาคม 2557 นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรได้ว่าจ้างบริษัทเจ พี พี เอ็นจิเนียร์ จำกัด ให้ซ่อมแซมถนนในหมู่บ้านจำนวน 20 จุด และทำฝาท่อระบายน้ำจำนวน 60 ฝา เป็นเงิน 497,550 บาท และวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2558 นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรได้ว่าจ้างบริษัทดังกล่าวซ่อมแซมถนนในหมู่บ้านอีก 25 จุด เป็นเงิน 401,250 บาท รวมมูลค่าทั้งสองสัญญาเป็นเงิน 898,800 บาท หลังทำสัญญาผู้รับจ้างได้ทำงานเสร็จสิ้นเรียบร้อยตามกำหนดโดยนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรได้จ่ายเงินค่าจ้างตามสัญญาทั้งสองฉบับให้แก่ผู้รับจ้างไปครบถ้วน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งเจ็ดว่า จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันกระทำละเมิดและต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า หมู่บ้านจัดสรร พลัส ซิตี้พาร์ค (ศรีนครินทร์-สวนหลวง) มีบ้านที่อยู่ในพื้นที่จำนวนมากถึง 312 หลัง จึงนับว่าเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ที่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรซึ่งมีคณะกรรมการเพียงเจ็ดคนไม่อาจดูแลกิจการหลากหลายของหมู่บ้านให้ทั่วถึงได้ ประกอบกับกรรมการแต่ละคนต่างประกอบอาชีพมีหน้าที่การงานของตนเอง กรณีจึงมีความจำเป็นอยู่เองที่คณะกรรมการของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรจะต้องจัดหานักบริหารมืออาชีพมาทำหน้าที่ช่วยเหลือดูแลกิจการของหมู่บ้านจัดสรร โดยข้อเท็จจริงในส่วนนี้ปรากฏว่า นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรได้ว่าจ้าง บริษัทควอลิตี้ พรอพเพอร์ตี้ แมเนจเม้นท์ จำกัด หรือบริษัท QPM ให้ทำหน้าที่บริหารจัดการกิจการของหมู่บ้านจัดสรรรวมถึงการดูแลบำรุงรักษาซ่อมแซมสาธารณูปโภคและบริหารสาธารณะต่าง ๆ ของหมู่บ้านจัดสรรให้เป็นไปตามมาตรฐานและสามารถรองรับการใช้ประโยชน์ของสมาชิก ซึ่งแม้สัญญาฉบับนี้จะกำหนดระยะเวลาการว่าจ้างเพียง 1 ปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2556 ก็ตาม แต่เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการว่าจ้างแล้ว กรณีไม่ได้ความว่ามีคู่สัญญาฝ่ายใดบอกเลิกสัญญา จึงต้องถือว่านิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรได้ว่าจ้างบริษัท QPM ซึ่งมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพในการทำงานให้ทำหน้าที่บริหารจัดการกิจการของหมู่บ้านจัดสรรต่อไป ทั้งในปี 2557 และปี 2558 ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของพยานจำเลยทั้งเจ็ดปากนายสายันต์ ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการของบริษัท QPM สำหรับการว่าจ้างผู้รับเหมาให้ซ่อมแซมถนนและฝาท่อระบายน้ำของหมู่บ้านในคดีนี้ นายสายันต์ยืนยันว่าพยานได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ติดต่อผู้รับเหมาที่เคยร่วมงานกันและมีผลงานดีไว้ใจได้ รวม 3 ราย ให้เสนอราคาค่าซ่อมเปรียบเทียบต่อคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรโดยผู้รับเหมา 3 ราย ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอส ซี แก่นจันทร์ บริษัทกาโอนเอสแอล คอนสตรัคชั่น จำกัด และบริษัทเจ พี พี เอ็นจิเนียร์ จำกัด ซึ่งต่อมาคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรได้ลงมติเลือกบริษัทเจ พี พี เอ็นจิเนียร์ จำกัด ซึ่งเสนอราคาค่าซ่อมต่ำที่สุดเป็นผู้รับจ้างดำเนินงานดังกล่าว เห็นว่า คำเบิกความของนายสายันต์ในส่วนที่ให้ฝ่ายบริหารจัดการติดต่อหาผู้รับเหมาอย่างน้อย 3 ราย เสนอราคาค่าซ่อมให้คณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรพิจารณานั้น จำเลยทั้งเจ็ดมีสำเนาการประชุมคณะกรรมการเป็นหลักฐานสนับสนุนน่าเชื่อถือ ประกอบกับโจทก์ทั้งสิบไม่สามารถนำสืบให้ฟังได้ว่า ผู้รับเหมาทั้ง 3 ราย อยู่ในเครือเดียวกันหรือเอื้อประโยชน์กันได้ร่วมกันเสนอราคาค่าก่อสร้างในลักษณะสมยอมราคาหรือฮั้วประมูลกัน ทั้งนำสืบไม่ได้ว่า ผู้รับเหมาที่ได้รับการคัดเลือกเป็นพรรคพวกของจำเลยทั้งเจ็ดหรือมีผลประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับจำเลยทั้งเจ็ดโดยทางตรงหรือทางอ้อมในประการใด รูปคดีจึงเชื่อได้ว่า จำเลยทั้งเจ็ดลงมติคัดเลือกผู้รับจ้างรายบริษัทเจ พี พีเอ็นจิเนียร์ จำกัด ด้วยความโปร่งใสและตรงไปตรงมาตามข้อมูลและใบเสนอราคาที่ฝ่ายบริหารจัดการของบริษัท QPM นำเสนอต่อจำเลยทั้งเจ็ด ส่วนที่โจทก์ทั้งสิบนำสืบทำนองว่าจำเลยทั้งเจ็ดตกลงว่าจ้างบริษัทเจ พี พี เอ็นจิเนียร์ จำกัด ให้ซ่อมแซมถนนและฝาท่อระบายน้ำในราคาสูงมาก โดยไม่มีการประเมินราคากลางก่อนทำสัญญาว่าจ้างนั้น เห็นว่า การกำหนดราคากลางงานก่อสร้างเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีที่วางหลักเกณฑ์ให้ใช้แต่เฉพาะงานก่อสร้างของหน่วยงานภาครัฐ จึงไม่อาจนำมาใช้กับงานก่อสร้างของภาคเอกชนได้ อีกทั้งเมื่อพิจารณาข้อบังคับของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พลัส ซิตี้พาร์ค (ศรีนครินทร์-สวนหลวง) ก็ไม่ได้ความว่า นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรได้ระบุข้อกำหนดให้ต้องมีการประเมินราคากลางงานก่อสร้างก่อนทำสัญญาว่าจ้าง นอกจากนี้ เมื่อปี 2553 ในตอนที่โจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 7 และจำเลยที่ 3 ร่วมกันเป็นกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรและทำสัญญาว่าจ้างผู้รับเหมาให้ซ่อมแซมปรับปรุงพื้นที่ส่วนกลางภายในหมู่บ้านเป็นเงิน 875,505.60 บาท ข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่า คณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรในขณะนั้นได้วางแนวปฏิบัติให้ต้องมีการประเมินราคากลางงานก่อสร้างแต่อย่างใด ดังนี้ การที่จำเลยทั้งเจ็ดลงมติคัดเลือกผู้รับจ้างรายบริษัทเจ พี พี เอ็นจิเนียร์ จำกัด ให้ดำเนินงานก่อสร้างในราคา 898,800 บาท โดยไม่มีการประเมินราคากลาง จึงไม่เป็นการกระทำที่ส่อพิรุธขาดความรอบคอบหรือฝ่าฝืนต่อข้อบังคับของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร
นอกจากนี้ การดำเนินกิจการของจำเลยทั้งเจ็ดในฐานะคณะกรรมการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร โดยหากจำเลยทั้งเจ็ดดำเนินกิจการของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรด้วยความประมาทเลินเล่อไม่ชอบมาพากลหรือไม่คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของสมาชิก สมาชิกก็มีสิทธิที่จะเข้าชื่อร้องขอให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อซักฟอกคณะกรรมการ หรือไม่ลงคะแนนเสียงเลือกกรรมการชุดเดิมให้กลับมาทำหน้าที่อีกได้ แต่หลังจากการก่อสร้างเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้วมีการนัดประชุมใหญ่สามัญเพื่อเลือกคณะกรรมการชุดใหม่เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2558 ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่า สมาชิกส่วนใหญ่ได้ลงคะแนนเลือก จำเลยที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ให้กลับมาเป็นคณะกรรมการอีก อันเป็นการแสดงว่า สมาชิกส่วนใหญ่ให้การยอมรับและไว้วางใจในการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละโดยไม่หวังผลตอบแทนของจำเลยทั้งเจ็ด เมื่อคดีนี้โจทก์ทั้งสิบเป็นฝ่ายกล่าวอ้าง แต่ข้อนำสืบของโจทก์ทั้งสิบที่วินิจฉัยเป็นลำดับมาไม่มีพยานหลักฐานบ่งชี้ให้ฟังได้ว่าจำเลยทั้งเจ็ดลงมติคัดเลือกบริษัทเจ พี พี เอ็นจิเนียร์ จำกัด ให้ดำเนินงานซ่อมแซมถนนและฝาท่อระบายน้ำในวงเงินที่สูงกว่าความเป็นจริงด้วยความประมาทเลินเล่อ การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดจึงไม่เป็นการกระทำละเมิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันรับผิดชำระเงินแก่นิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งเจ็ดฟังขึ้น
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share