คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6665/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษเป็นเรื่องความรับผิดทางอาญา เมื่อ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4 มิได้บัญญัติความหมายพิเศษของคำว่า มีไว้ในครอบครองไว้ จึงต้องถือตามความหมายทั่วไปว่า การมียาเสพติดให้โทษอยู่ในความยึดถือหรือปกครองดูแลของตนโดยรู้ว่าเป็นยาเสพติดให้โทษเป็นการมีไว้ในครอบครองแล้ว ขณะเกิดเหตุเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดใส 2 ซอง คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.395 กรัม ของกลางวางอยู่ใกล้ตัวจำเลยที่ 3 และเมื่อจำเลยที่ 3 เห็นพันตำรวจโท ป. กับพวก ก็นำเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดใสดังกล่าวไปซ่อนไว้ในเสื้อชั้นในทันที ถือว่าเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดใส อยู่ในความยึดถือหรือปกครองดูแลของจำเลยที่ 3 แล้ว เมื่อจำเลยที่ 3 รู้ว่าเป็นเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดใส จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 มีเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดใส ของกลางไว้ในครอบครอง และเมื่อของกลาง คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.395 กรัม กรณีจึงต้องด้วยบทสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) จำเลยที่ 3 จึงมีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 57, 66, 91, 100/1, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3, 7 ริบเมทแอมเฟตามีน โทรศัพท์เคลื่อนที่ ถุงพลาสติก อุปกรณ์การเสพเมทแอมเฟตามีนและรถจักรยานยนต์ของกลาง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพในข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีนและรับว่ามีเมทแอมเฟตามีนบางส่วนไว้เพื่อเสพ ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง และจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยที่ 1 จำคุก 5 ปี และปรับ 400,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 9 ปี และปรับ 500,000 บาท จำเลยที่ 3 จำคุก 5 ปี และปรับ 400,000 บาท ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำเลยที่ 1 และที่ 2 จำคุกคนละ 6 เดือน ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพฐานเสพเมทแอมเฟตามีนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยที่ 1 คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน และปรับ 266,666.67 บาท จำเลยที่ 2 คงจำคุก 6 ปี และปรับ 333,333,34 บาท ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน คงจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 คนละ 3 เดือน รวมจำเลยที่ 1 จำคุก 3 ปี 7 เดือน และปรับ 266,666 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 6 ปี 3 เดือน และปรับ 333,334 บาท ริบของกลางทั้งหมด หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับคนละไม่เกิน 1 ปี
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ลงโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยที่ 1 จำคุก 4 ปี และปรับ 400,000 บาท จำเลยที่ 2 จำคุก 5 ปี และปรับ 400,000 บาท จำเลยที่ 3 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 2 ปี 8 เดือน และปรับ 266,666.67 บาท ทางนำสืบของจำเลยทั้งสามในความผิดฐานนี้เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี 8 เดือน และปรับ 266,666.67 บาท จำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี 4 เดือน และปรับ 266,666.67 บาท จำเลยที่ 3 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 1 ปี 9 เดือน 10 วัน และปรับ 177,777.78 บาท เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดแล้ว เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี 11 เดือน และปรับ 266,666.67 บาท จำเลยที่ 2 มีกำหนด 3 ปี 7 เดือน และปรับ 266,666.67 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนและยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายด้วย คืนรถจักรยานยนต์ ถุงพลาสติก และโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2554 เวลาประมาณ 13 นาฬิกา พันตำรวจโท ปรีชา ร้อยตำรวจโท วรรณชัย ดาบตำรวจ นันทวิทย์ กับพวก เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรท่าศาลาร่วมกันวางแผนให้สายลับล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดใส จากจำเลยที่ 1 โดยแบ่งกำลังเจ้าพนักงานตำรวจซุ่มรอตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อจับกุมจำเลยที่ 1 ระหว่างที่ซุ่มรออยู่นั้นจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นน้องชายของจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ผ่านบริเวณที่พันตำรวจโท ปรีชากับพวกซุ่มรอ พันตำรวจโท ปรีชากับพวกจึงจับกุมจำเลยที่ 2 ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดใส 2 ซอง น้ำหนัก 0.84 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.730 กรัม ขณะเดียวกันจำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ผ่านบริเวณที่ร้อยตำรวจโท วรรณชัย กับพวก ซุ่มรอ ร้อยตำรวจโท วรรณชัย กับพวกจึงควบคุมตัวจำเลยที่ 1 ไว้ หลังจากนั้นพันตำรวจโท ปรีชา กับพวก นำจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปบ้านของจำเลยที่ 1 เมื่อไปถึงจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นภริยาของจำเลยที่ 1 นั่งอยู่ที่พื้นแล้วจำเลยที่ 3 หยิบเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดใส 2 ซอง น้ำหนัก 0.49 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.395 กรัม ที่วางอยู่ใกล้ตัวจำเลยที่ 3 ไปซ่อนไว้ในเสื้อชั้นใน โดยจำเลยที่ 3 รู้ว่ามีเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดใส อยู่ภายในซองดังกล่าว หลังจากนั้นพันตำรวจโท ปรีชา ตรวจค้นบ้านของจำเลยที่ 1 พบถุงพลาสติก 50 ใบ เครื่องชั่งดิจิทัลและอุปกรณ์การเสพยาเสพติดภายในห้องนอนของจำเลยที่ 1 จึงยึดเป็นของกลาง นอกจากนี้ยังยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายวีระ และรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 2 เป็นของกลางด้วย ต่อมาจำเลยทั้งสามไปที่สถานีตำรวจภูธรท่าศาลาเพื่อตรวจปัสสาวะ เบื้องต้นพบสารเสพติดในปัสสาวะของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงแจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งสามว่าร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดใส ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย แล้วนำจำเลยทั้งสามพร้อมของกลางส่งมอบให้พันตำรวจโท สมบัติ พนักงานสอบสวน ชั้นสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยทั้งสามว่าร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดใส ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย กับแจ้งข้อหาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าเสพเมทแอมเฟตามีน จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ คดีสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ส่วนคดีสำหรับจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานร่วมกับจำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดใส ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า การมีไว้ในครอบครองยาเสพติดเพียงแต่ผู้ครอบครองรู้ว่าสิ่งที่ครอบครองเป็นยาเสพติดก็เป็นการครอบครองแล้ว ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ซุกซ่อนเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดใส ไว้ในเสื้อชั้นใน ยิ่งแสดงว่าจำเลยที่ 3 รู้ถึงการกระทำผิด เมื่อยาเสพติดดังกล่าวมีปริมาณสารบริสุทธิ์มากกว่าสามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัม จึงต้องฟังว่าจำเลยที่ 3 มีเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดใส ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายแล้วนั้น เห็นว่า การมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษเป็นเรื่องความรับผิดทางอาญา เมื่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4 มิได้บัญญัติความหมายพิเศษของคำว่า มีไว้ในครอบครองไว้ จึงต้องถือตามความหมายทั่วไปว่า การมียาเสพติดให้โทษอยู่ในความยึดถือหรือปกครองดูแลของตนโดยรู้ว่าเป็นยาเสพติดให้โทษเป็นการมีไว้ในครอบครองแล้ว ขณะเกิดเหตุเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดใส 2 ซอง คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.395 กรัม ของกลางวางอยู่ใกล้ตัวจำเลยที่ 3 และเมื่อจำเลยที่ 3 เห็นพันตำรวจโท ปรีชา กับพวก ก็นำเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดใส ดังกล่าวไปซ่อนไว้ในเสื้อชั้นในทันที เช่นนี้ ถือว่าเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดใส อยู่ในความยึดถือหรือปกครองดูแลของจำเลยที่ 3 แล้ว เมื่อจำเลยที่ 3 รู้ว่าเป็นเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดใส ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 มีเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดใส ของกลางไว้ในครอบครอง และเมื่อเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ดใส ของกลาง คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.395 กรัม กรณีจึงต้องด้วยบทสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 ใช้บังคับ ตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จำเลยที่ 3 จึงมีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น และเมื่อฟังว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานดังกล่าวแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ด้วย
อนึ่ง เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2559 มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 25) พ.ศ.2559 ใช้บังคับ โดยมาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 30 และให้ใช้ความใหม่แทน ซึ่งกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณกว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด จึงให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสามไม่ว่าในทางใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และปรับบทลงโทษจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 ด้วย จำคุก 4 ปี และปรับ 400,000 บาท เมื่อลดโทษให้จำเลยที่ 3 หนึ่งในสามแล้ว คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน และปรับ 266,666.67 บาท หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่แก้ไขใหม่) โดยให้กักขังแทนค่าปรับคนละไม่เกิน 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share