แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 กระทำการฉ้อโกงประชาชนอันเป็นความผิดมูลฐานมาตั้งแต่ปี 2525 จนกระทั่งถูกจับกุมในปี 2548 ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 เป็นมารดา ผู้คัดค้านที่ 6 เป็นภริยา และผู้คัดค้านอื่นเป็นญาติพี่น้องจึงเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้คัดค้านที่ 1 ผู้กระทำกระทำความผิดมูลฐาน กรณีต้องด้วยบทบัญญัติ มาตรา 51 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบรรดาทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์ เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือได้รับโอนมาโดยไม่สุจริต ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่ฝ่ายผู้คัดค้านที่จะต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวว่าตนเป็นเจ้าของที่แท้จริงและทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือได้รับโอนมาโดยสุจริต
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน มีทั้งโทษทางอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน หากศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับความผิดมูลฐาน โดยมิต้องคำนึงว่าทรัพย์สินนั้นผู้เป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์สินจะได้มาก่อนพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มีผลใช้บังคับหรือไม่ก็ตาม เพราะมาตรการดังกล่าวมิใช่โทษทางอาญา จึงมีผลใช้บังคับย้อนหลังได้
ย่อยาว
คดีทั้งห้าสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งรวมพิจารณาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกผู้ร้องทั้งห้าสำนวนว่า ผู้ร้อง เรียกนายหาญ หรือเณรแอ ผู้คัดค้านในสำนวนที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เรียกนางโหนก ผู้คัดค้านในสำนวนที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ว่า ผู้คัดค้านที่ 2 เรียกนายมนัส และนางอนงค์ ผู้คัดค้านในสำนวนที่ 2 ว่า ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ตามลำดับ เรียกนายสมจิตร ผู้คัดค้านที่ 2 ในสำนวนที่ 3 ว่า ผู้คัดค้านที่ 5 เรียกนางชไมพร ผู้คัดค้านที่ 2 ในสำนวนที่ 5 ว่า ผู้คัดค้านที่ 6 และเรียกนายวิชิต ผู้คัดค้านที่ 3 ในสำนวนที่ 3 ว่า ผู้คัดค้านที่ 7
ผู้ร้องยื่นคำร้องทั้งห้าสำนวนขอให้มีคำสั่งให้ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดรวม 78 รายการ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 21,450,727.77 บาท ตามบัญชีรายการทรัพย์สินที่ขอให้ตกเป็นของแผ่นดินเอกสารท้ายคำร้องทั้งห้าฉบับ พร้อมดอกผลของผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกตนเป็นของแผ่นดิน
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนและประกาศตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านทั้งเจ็ดยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทรัพย์สินประเภทเครื่องเรือนของผู้คัดค้านที่ 1 รวม 39 รายการ รถยนต์ยี่ห้อ เบนซ์ หมายเลขทะเบียน 4446 (ที่ถูก ศณ 4446) กรุงเทพมหานคร ของผู้คัดค้านที่ 1 มูลค่า 3,500,000 บาท บัญชีเงินฝากที่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบ้านหมอ ของผู้คัดค้านที่ 2 เลขที่ 370-3-02xxxx จำนวนเงิน 100,000 บาท บัญชีเงินฝากที่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบ้านหมอ ของผู้คัดค้านที่ 2 เลขที่ 370-3-03xxxx จำนวนเงิน 1,628,000 บาท บัญชีเงินฝากที่ธนาคารหลวงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบ้านหมอ ของผู้คัดค้านที่ 2 เลขที่ 370-2-14xxxx จำนวนเงิน 23,447.63 บาท บัญชีเงินฝากที่ธนาคารกรุงเทพมหานคร จำกัด (มหาชน) สาขาพระพุทธบาท ของผู้คัดค้านที่ 2 เลขที่ 585-0-10xxxx จำนวนเงิน 81,618.36 บาท บัญชีเงินฝากที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขารังสิต ของนางสาวรมณีย์ เลขที่ 165-5-18xxxx จำนวนเงิน 25,411.78 บาท รวม 45 รายการ เป็นเงินทั้งสิ้น 5,928,477.77 บาท ตามบัญชีทรัพย์สิน ที่ดินโฉนดเลขที่ 112357 ถึง 112359 และ 59026 อำเภอบางเขน กรุงเทพมหานคร ของผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 รวม 4 แปลง ที่ดินโฉนดเลขที่ 13540, 24128, 25652, 24160, 39850, 34874, 23744 และ 2243 อำเภอหนองโดน จังหวัดสระบุรี ที่ดินโฉนดเลขที่ 46868 อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี และที่ดินโฉนดเลขที่ 38954 อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ของผู้คัดค้านที่ 2 รวม 10 แปลง และสิทธิเรียกร้องตามสัญญาเงินกู้ซึ่งผู้คัดค้านที่ 2 มีชื่อเป็นผู้ให้กู้ 10 สัญญา 24 รายการ เป็นเงินทั้งสิ้น 9,282,250 บาท เงินสดจากการขายรถยนต์ ยี่ห้อ อีซูซุ หมายเลขทะเบียน ผ 1963 สระบุรี ของผู้คัดค้านที่ 7 จำนวน 250,000 บาท รถยนต์ยี่ห้อ อีซูซุ หมายเลขทะเบียน กง 8816 ลพบุรี ของนางสำเนียง และรถแทรกเตอร์ ยี่ห้อ ฟอร์ด หมายเลขทะเบียน ต 4353 สระบุรี ของผู้คัดค้านที่ 5 และบ้านไม้สักทรงไทย 2 หลัง ของผู้คัดค้านที่ 1 รวม 5 รายการ เป็นเงินทั้งสิ้น 3,150,000 บาท เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดรถยนต์ ยี่ห้อ โตโยต้า รุ่นคอมมิวเตอร์ หมายเลขทะเบียน นข 2004 สระบุรี ของผู้คัดค้านที่ 2 เป็นเงิน 790,000 บาท ที่ดิน น.ส. 3 เลขที่ 310 อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี มีชื่อผู้คัดค้านที่ 6 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ มูลค่า 500,000 บาท ที่ดินโฉนดเลขที่ 8315 และ 8316 อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี มีชื่อผู้คัดค้านที่ 6 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ราคาแปลงละ 1,300,000 บาท รวมเป็นเงิน 2,600,000 บาท รวม 3 รายการ รวมเป็นเงิน 2,300,000 บาท (ที่ถูก 3,100,000 บาท) พร้อมดอกผลที่เกิดขึ้น ตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 7 อุทธรณ์โดยผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 และที่ 7 ได้รับอนุญาตให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาศาลอุทธรณ์ ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงแก่กรรม ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้นางสำเนียง เข้ามาเป็นคู่ความแทนผู้มรณะ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 7 ฎีกา โดยผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 และที่ 7 ได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และทางนำสืบของคู่ความที่มิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบุตรของผู้คัดค้านที่ 2 เป็นสามีของผู้คัดค้านที่ 6 เป็นพี่ชายของผู้คัดค้านที่ 4 เป็นน้องชายของผู้คัดค้านที่ 7 และเป็นพี่เขยของผู้คัดค้านที่ 3 กับที่ 5 โดยผู้คัดค้านที่ 3 เป็นสามีของผู้คัดค้านที่ 4 ส่วนผู้คัดค้านที่ 5 เป็นสามีของนางสำเนียง ซึ่งเป็นน้องสาวของผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2548 เจ้าพนักงานตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดต่อเด็ก เยาวชนและสตรี จับกุมผู้คัดค้านที่ 1 ในข้อหาฉ้อโกงประชาชน พร้อมกับนำหมายค้นไปตรวจค้นที่บ้านของผู้คัดค้านที่ 1 และยึดทรัพย์สินพร้อมอุปกรณ์ในการประกอบพิธีกรรมทางไสยศาสตร์เป็นของกลาง คณะกรรมการธุรกรรมพิจารณาข้อมูลของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เกี่ยวกับการทำธุรกรรมของผู้คัดค้านที่ 1 แล้วเชื่อว่าทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งเจ็ดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐาน จึงมีมติให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ส่งเรื่องให้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์ดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน สำหรับคดีในส่วนของผู้คัดค้านที่ 6 คู่ความไม่อุทธรณ์ จึงยุติไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 7 ว่า ทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์เป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชนอันเป็นความผิดมูลฐานหรือไม่ ผู้ร้องมีนายนพดล พนักงานเจ้าหน้าที่ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ทำหน้าที่ตรวจสอบทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 เป็นพยานเบิกความยืนยันว่า เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2548 เจ้าพนักงานตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดต่อเด็ก เยาวชนและสตรี จับกุมผู้คัดค้านที่ 1 ในข้อหาฉ้อโกงประชาชน และยึดทรัพย์สินพร้อมอุปกรณ์ในการประกอบพิธีกรรมทางไสยศาสตร์เป็นของกลาง ผู้คัดค้านที่ 1 ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ศาลอาญามีคำพิพากษาลงโทษผู้คัดค้านที่ 1 ในการตรวจสอบทรัพย์สิน พยานได้พิจารณาจากบันทึกปากคำของผู้เสียหายที่ได้ให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวนแล้ว เห็นว่า ผู้คัดค้านที่ 1 มีพฤติการณ์หลอกลวงประชาชนโดยการโฆษณาสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ หลายฉบับว่า ผู้คัดค้านที่ 1 มีเวทย์มนต์สามารถทำพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ให้คู่รักที่มีปัญหาขัดแย้งกันหรือเลิกร้างกันสามารถกลับมาคืนดีกันได้ โดยเรียกเก็บค่าพิธีกรรม และมีผู้เสียหายจำนวนมากหลงเชื่อมาทำพิธีกรรมต่าง ๆ กับผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งผลปรากฏว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่สามารถดำเนินการตามที่โฆษณาได้ ซึ่งจากการสอบปากคำผู้คัดค้านที่ 1 ให้การว่า ได้เริ่มประกอบพิธีกรรมทางไสยศาสตร์มาตั้งแต่ประมาณปี 2525 จนกระทั่งถูกจับกุมเมื่อเดือนกรกฎาคม 2548 รวมระยะเวลาประมาณ 20 ปี เคยมีรายได้จากการประกอบพิธีกรรมสูงสุดถึงวันละ 100,000 บาท ทั้งเคยมอบเงินสดและทรัพย์สินต่าง ๆ ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 และที่ 6 ต่อมาพยานสอบปากคำผู้คัดค้านที่ 6 ให้การว่า เงินที่ผู้คัดค้านที่ 1 ได้มาจากการประกอบพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ ได้มอบให้แก่ผู้คัดค้านที่ 6 เป็นผู้เก็บรักษา บางส่วนมอบให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 และญาติพี่น้องของผู้คัดค้านที่ 1 เห็นว่า นายนพดลเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติราชการไปตามหน้าที่ ไม่รู้จักหรือเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 6 มาก่อน จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าพยานจะบันทึกเรื่องราวขึ้นเองตามบันทึกคำให้การ เพื่อกลั่นแกล้งผู้คัดค้านที่ 1 เชื่อได้ว่านายนพดลทำบันทึกคำให้การ ไปตามที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 6 ให้การเองโดยสมัครใจ ส่วนที่ผู้คัดค้านที่ 1 นำสืบโต้เถียงว่า เจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ไม่เคยอธิบายเรื่องคดีให้ฟัง เพียงแต่ส่งเอกสารมาให้ผู้คัดค้านที่ 1 ลงชื่อเท่านั้น คงมีเพียงผู้คัดค้านที่ 1 เบิกความอ้างลอย ๆ ปากเดียว ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังหักล้างพยานผู้ร้องในข้อนี้ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 กระทำการฉ้อโกงประชาชนอันเป็นความผิดมูลฐานมาตั้งแต่ปี 2525 จนกระทั่งถูกจับกุมในปี 2548 ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 เป็นมารดา ผู้คัดค้านที่ 6 เป็นภริยา และผู้คัดค้านอื่นเป็นญาติพี่น้องจึงเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้คัดค้านที่ 1 ผู้กระทำกระทำความผิดมูลฐาน กรณีต้องด้วยบทบัญญัติ มาตรา 51 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบรรดาทรัพย์สินตามบัญชีทรัพย์ เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือได้รับโอนมาโดยไม่สุจริต ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่ฝ่ายผู้คัดค้านที่จะต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวว่าตนเป็นเจ้าของที่แท้จริงและทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือได้รับโอนมาโดยสุจริต ส่วนที่ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 7 ฎีกาว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ไม่มีผลบังคับย้อนหลังนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่กำหนดความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน มีทั้งโทษทางอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน หากศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับความผิดมูลฐาน โดยมิต้องคำนึงว่าทรัพย์สินนั้นผู้เป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์สินจะได้มาก่อนพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มีผลใช้บังคับหรือไม่ก็ตาม เพราะมาตรการดังกล่าวมิใช่โทษทางอาญา จึงมีผลใช้บังคับย้อนหลังได้ ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 5 และที่ 7 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ