คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9117/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 146 กำหนดหลักการสำคัญในการพิจารณาและพิพากษาคดีครอบครัวไว้ว่า ไม่ว่าการพิจารณาคดีจะได้ดำเนินไปแล้วเพียงใด ให้ศาลพยายามเปรียบเทียบให้คู่ความได้ตกลงกันหรือประนีประนอมกันในข้อพิพาทโดยคำนึงถึงความสงบสุขและการอยู่ร่วมกันในครอบครัว เมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้องอ้างว่า ข้อเท็จจริงอันเป็นพฤติการณ์แห่งคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความเปลี่ยนแปลงไปโดยพฤติกรรมของผู้คัดค้านที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลมีคำพิพากษาตามยอม ซึ่งผู้คัดค้านมิได้โต้แย้งว่ามิได้กระทำการดังกล่าว คงโต้แย้งเพียงว่าศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงคำสั่งให้นอกเหนือไปจากสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมซึ่งถึงที่สุดได้เท่านั้น จึงเป็นกรณีเกิดข้อพิพาทขึ้นใหม่นอกจากสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว และเกิดขึ้นภายหลังมีคำพิพากษาตามยอมไปแล้ว การที่ศาลชั้นต้นไต่ส่วน นัดพิจารณา ตลอดจนมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยคำนึงถึงสวัสดิภาพและอนาคตของบุตรเป็นสำคัญ จึงไม่อาจถือว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาตามยอมซึ่งถึงที่สุดแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2554 ศาลชั้นต้นพิพากษา ตามยอมที่ผู้ร้องกับผู้คัดค้านซึ่งแต่งงานตามประเพณีโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่า ผู้คัดค้านรับว่าผู้ร้องเป็นบิดาของเด็กหญิง ร. ซึ่งเกิดจากผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านยินยอมให้ผู้ร้องจดทะเบียนรับรองเด็กหญิง ร. เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย และให้เด็กหญิง ร. ใช้ชื่อสกุลของผู้ร้องภายในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 โดยอำนาจปกครองเด็กหญิง ร. คงอยู่กับผู้คัดค้านแต่เพียงผู้เดียวเพียงแต่ผู้คัดค้านต้องปรึกษาผู้ร้องเกี่ยวกับสถานศึกษาของเด็กหญิง ร. มาก่อน ผู้ร้องกับผู้คัดค้านตกลงให้ผู้คัดค้านเป็นผู้เลี้ยงดูเด็กหญิง ร. แต่เพียงผู้เดียว ส่วนผู้ร้องจะจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิง ร. ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 4,000 บาท นับแต่สิ้นเดือนสิงหาคม 2554 เป็นต้นไป ตลอดจนจะจ่ายค่าศึกษาเล่าเรียนและค่ารักษาพยาบาลตามที่มีการจ่ายจริงจนกว่าเด็กหญิง ร. จะศึกษาจบปริญญาตรี เมื่อเด็กหญิง ร. อายุครบ 3 ปีบริบูรณ์แล้วผู้คัดค้านยินยอมให้ผู้ร้องรับเด็กหญิง ร. ไปดูแลในวันเสาร์และวันอาทิตย์ได้ หากผู้ร้องผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งผู้คัดค้านบังคับคดีได้ทันที หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดสัญญาประนีประนอมยอมความให้อีกฝ่ายหนึ่งถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของฝ่ายผิดสัญญาได้
ต่อมาเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2555 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้คัดค้านไม่ยินยอมให้ผู้ร้องเยี่ยมเด็กหญิง ร. ซึ่งเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “เด็กหญิง ม. ที่จังหวัดชุมพรและไม่ยอมให้รับเด็กหญิง ร. ออกไปเที่ยวนอกบ้าน การกระทำของผู้คัดค้านเป็นการจงใจกลั่นแกล้ง กีดกันขัดขวางผู้ร้องมิให้ไปเยี่ยมและดูบุตรตามสิทธิและหน้าที่ของบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายอันจะพึงกระทำต่อบุตร และเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2554 ขอให้มีคำสั่งให้ผู้ร้องร่วมกับผู้คัดค้านเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กหญิง ร. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1566 โดยให้ผู้ร้องมีสิทธิรับเด็กหญิง ร. มาอุปการะเลี้ยงดูที่บ้านผู้ร้องและบิดามารดาของผู้ร้องได้ ปีละไม่น้อยกว่า 6 เดือน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 ให้ผู้ร้องมีสิทธิไปเยี่ยมเยียนดูแลและรับเด็กหญิง ร. ออกไปเที่ยวนอกบ้านของผู้คัดค้านตามลำพังได้ตลอดเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1584/1 หากเด็กหญิง ร. อยู่ในวัยที่ต้องเข้ารับการศึกษาให้ผู้ร้องมีสิทธิไปเยี่ยมเยียน ดูแลและรับเด็กหญิง ร. มาอุปการะเลี้ยงดูที่บ้านของผู้ร้องในช่วงปิดภาคการศึกษาได้ทุกภาคการศึกษาเป็นเวลาครั้งละไม่น้อยกว่า 1 เดือน เพื่อให้ผู้ร้องมีโอกาสดูแลเด็กหญิง ร. ได้อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องตลอดไป
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านฉบับลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2555 ว่า เด็กหญิง ร. เกิดเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2553 อายุยังไม่ครบ 2 ปีบริบูรณ์ ผู้คัดค้านมิได้ประพฤติผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นัดไต่สวนคำร้องของผู้ร้อง ศาลชั้นต้นอาจเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาซึ่งเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกคำร้อง
เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2555 ซึ่งเป็นวันที่ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้องของผู้ร้อง ศาลชั้นต้นไกล่เกลี่ยแล้ว คู่ความแถลงร่วมกันตกลงให้ผู้คัดค้านเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กหญิง ร. แต่เพียงผู้เดียว แต่มีเงื่อนไขว่า ในการดำเนินการที่สำคัญเกี่ยวกับผู้เยาว์ เช่น การเลือกสถานศึกษาให้ผู้คัดค้านปรึกษาผู้ร้องก่อน นับแต่วันดังกล่าวจนกระทั่งเด็กหญิง ร. อายุ 3 ปี ผู้คัดค้านอนุญาตให้ผู้ร้องไปเยี่ยมเด็กหญิง ร. พาไปพักค้างคืนครั้งละ 1 คืน แต่ไม่เกินเดือนละ 1 ครั้ง เมื่อเด็กหญิง ร. อายุ 5 ปี ถึง 7 ปี นอกจากให้ผู้ร้องไปเยี่ยมและพาเด็กหญิง ร. ไปพักค้างคืนได้ 2 คืนในช่วงวันเสาร์และวันอาทิตย์แล้วยังอนุญาตให้ผู้ร้องไปเยี่ยมและพาเด็กหญิง ร. ไปอยู่ด้วยตลอดช่วงปิดภาคการศึกษา แต่คู่ความไม่สามารถตกลงกันในกรณีเด็กหญิง ร. อายุ 3 ปี ถึง 5 ปี โดยผู้ร้องขอไปเยี่ยมและพาเด็กหญิง ร. ไปพักค้างคืนได้ 2 คืนในช่วงวันเสาร์และวันอาทิตย์ตามที่ผู้คัดค้านเสนอ แล้วผู้ร้องยังขอจะไปเยี่ยมและพาเด็กหญิง ร. ไปพักค้างคืน 6 วันในช่วงปิดภาคการศึกษาด้วย แต่ผู้คัดค้านแถลงว่าอนุญาตให้ผู้ร้องไปเยี่ยมและพาเด็กหญิง ร. ไปพักค้างคืนได้ไม่เกินครั้งละ 2 วัน เนื่องจากในช่วงอายุดังกล่าวเด็กหญิง ร. ยังเป็นเด็กเล็กเกินไปที่จะไปค้างคืนนอกบ้านเป็นเวลานาน ศาลชั้นต้นให้คู่ความปฏิบัติตามส่วนที่ตกลงกันได้ และนัดฟังคำสั่งในส่วนที่ตกลงกันไม่ได้
ต่อมาวันที่ 23 กรกฎาคม 2555 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องพาเด็กหญิง ร. ไปพักค้างคืนกับผู้ร้องในช่วงปิดภาคเรียนเป็นเวลา 6 วัน ในปีหนึ่ง ๆ ได้ นอกจากนั้นให้เป็นไปตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 25 มิถุนายน 2555
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 25 มิถุนายน 2555 และวันที่ 23 กรกฎาคม 2555 กับยกคำร้องฉบับลงวันที่ 5 มีนาคม 2555 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า ผู้ร้องกับผู้คัดค้านอยู่กินฉันสามีภริยากันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสที่กรุงเทพมหานครตั้งแต่ปี 2552 และมีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ เด็กหญิง ร. ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2553 ระหว่างตั้งครรภ์เด็กหญิง ร. ประมาณ 6 เดือน ผู้ร้องกับผู้คัดค้านมีเหตุบาดหมางกันเกี่ยวกับเรื่องญาติผู้ใหญ่ ผู้คัดค้านจึงกลับไปอยู่ที่จังหวัดชุมพรแล้วคลอดเด็กหญิง ร. ที่โรงพยาบาลทักษิณ อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี จากนั้นผู้คัดค้านเลี้ยงดูเด็กหญิง ร. ที่จังหวัดชุมพรโดยไม่ได้กลับมาอยู่กินกับผู้ร้องที่กรุงเทพมหานครอีกหลังจากมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีนี้ ผู้ร้องไปจดทะเบียนรับรองเด็กหญิง ร. เป็นบุตรเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555 ต่อมาวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2555 ผู้ร้องไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจที่สถานีตำรวจภูธรเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร เป็นหลักฐานว่าวันดังกล่าวผู้ร้องพร้อมบิดามารดาของผู้ร้องไปขอเยี่ยมเด็กหญิง ร. แต่ผู้คัดค้านปฏิเสธเช่นหลายครั้งที่ผ่านมาและห้ามเข้าบ้านกับไม่อนุญาตให้ผู้ร้องพาเด็กหญิง ร. ไปรับประทานอาหารนอกบ้าน การกระทำของผู้คัดค้านเป็นการขัดขวางการทำหน้าที่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้อง หลังจากนั้นผู้ร้องมายื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 5 มีนาคม 2555 ต่อศาลชั้นต้น อ้างว่าผู้คัดค้านมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป โดยผู้คัดค้านมีเจตนาที่จะกีดกันขัดขวางมิให้ผู้ร้องติดต่อกับบุตร ต่อมาผู้ร้องกับผู้คัดค้านตกลงกันตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 25 มิถุนายน 2555 และศาลชั้นต้นมีคำสั่งในส่วนที่ตกลงกันไม่ได้ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2555
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีสิทธิเยี่ยมและพา เด็กหญิง ร. ไปพักค้างคืนนอกเหนือจากสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2554 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมและคดีถึงที่สุดแล้วได้ตามคำสั่งศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 25 มิถุนายน 2555 กับวันที่ 23 กรกฎาคม 2555 หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 146 กำหนดหลักการสำคัญในการพิจารณาและพิพากษาคดีครอบครัวไว้ว่า การพิจารณาพิพากษาคดีครอบครัวนั้นไม่ว่าการพิจารณาคดีจะได้ดำเนินไปแล้วเพียงใด ให้ศาลพยายามเปรียบเทียบให้คู่ความได้ตกลงกันหรือประนีประนอมกันในข้อพิพาทโดยคำนึงถึงความสงบสุขและการอยู่ร่วมกันในครอบครัว เพื่อการนี้บทบัญญัติดังกล่าวยังกำหนดให้ศาลคำนึงถึงหลักการดังต่อไปนี้เพื่อประกอบดุลพินิจด้วย กล่าวคือ (1) การสงวนและคุ้มครองสถานภาพของการสมรสในฐานะที่เป็นศูนย์รวมของชายและหญิงที่สมัครใจเข้ามาอยู่กินดัวยกันฉันสามีภริยา หากไม่อาจรักษาสถานของการสมรสได้ก็ให้การหย่าเป็นไปด้วยความเป็นธรรมและเสียหายน้อยที่สุดโดยคำนึงถึงสวัสดิภาพและอนาคตของบุตรเป็นสำคัญ (2) การคุ้มครองและช่วยเหลือครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ครอบครัวนั้นต้องรับผิดชอบในการดูแลให้การศึกษาแก่บุตรที่เป็นผู้เยาว์ (3) การคุ้มครองสิทธิของบุตรและส่งเสริมสวัสดิภาพของบุตร และ (4) หามาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือสามีภริยาให้ปรองดองกันและปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างกันเองและกับบุตร จากบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ศาลมีหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดีครอบครัวไม่ว่าจะดำเนินไปเพียงใด ย่อมมีอำนาจที่จะเปรียบเทียบให้คู่ความได้ตกลงกันหรือประนีประนอมกันในข้อพิพาทได้ โดยมุ่งเน้นความสงบสุขครอบครัวและสวัสดิภาพและอนาคตของบุตรเป็นสำคัญ เมื่อพิจารณาตามคำร้องของผู้ร้องฉบับลงวันที่ 5 มีนาคม 2555 แล้ว ล้วนเป็นพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากผู้ร้องและผู้คัดค้านตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2554 ทั้งผู้คัดค้านก็มิได้โต้แย้งว่าผู้คัดค้านมิได้กระทำการดังกล่าว คงโต้แย้งแต่เพียงว่า ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงคำสั่งให้นอกเหนือไปจากสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมซึ่งถึงที่สุดได้เท่านั้น ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่า ผู้คัดค้านมีพฤติการณ์กีดกันขัดขวางมิให้ผู้ร้องได้พบและเยี่ยมเยียนเด็กหญิง ร. หรือ ม. เมื่อข้อเท็จจริงอันเป็นพฤติการณ์แห่งคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวในข้อ 3 เปลี่ยนแปลงไป จึงเกิดเป็นข้อพิพาทขึ้นใหม่นอกเหนือจากสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว และเกิดขึ้นภายหลังดังที่วินิจฉัยข้างต้น ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจนัดไต่สวน นัดพิจารณา ตลอดจนมีคำสั่งตามคำร้องขอของผู้ร้อง และเมื่อพิจารณาคำสั่งของศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 25 มิถุนายน 2555 และฉบับลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2555 โดยคำนึงถึงสวัสดิภาพและอนาคตของบุตรเป็นสำคัญแล้ว เห็นว่า มาตรการที่ศาลชั้นต้นกำหนดตามรายงานกระบวนพิจารณาทั้งสองฉบับว่าเหมาะสมในการคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมสวัสดิภาพของบุตรแล้ว กรณีไม่ถือว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาตามยอมซึ่งถึงที่สุดแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาทั้งสองฉบับนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำสั่งศาลชั้นต้นตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 25 มิถุนายน 2555 และฉบับลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2555 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share