คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5002/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องกรณีผู้ให้เช่าซื้อเรียกให้ผู้เช่าซื้อชดใช้ค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถกรณีผู้เช่าซื้อประพฤติผิดสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 เริ่มนับเมื่อสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลง มิใช่นับแต่วันที่ผู้ให้เช่าซื้อทราบถึงจำนวนค่าเสียหายเมื่อนำรถที่เช่าซื้อออกขายทอดตลาด
ค่าขาดราคารถที่เช่าซื้อ และค่าขาดประโยชน์กฎหมายมิได้บัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไป 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ที่บัญญัติห้ามมิให้เจ้าหนี้ฟ้องร้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้าหนี้มรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกกรณีที่ผู้เช่าซื้อเป็นลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องนั้น เมื่อโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อรู้ถึงความตายของผู้เช่าซื้อแล้วตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548 ย่อมต้องอยู่ภายใต้บัญญัติดังกล่าว ที่โจทก์ต้องฟ้องเรียกค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถที่เช่าซื้อภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้ถึงความตายดังกล่าว หรือภายในสิบปีนับแต่ผู้เช่าซื้อถึงแก่ความตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสี่ เมื่อโจทก์มิได้ใช้สิทธิเรียกในกำหนดเวลาดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องมานั้น ชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 258,359.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงยุติโดยคู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ว่า วันที่ 10 มิถุนายน 2546 นางพยอม ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ มีจำเลยทั้งสองทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดร่วมกับนางพยอมอย่างลูกหนี้ร่วม ตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกัน ต่อมานางพยอมผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ 3 งวด ติดต่อกัน โจทก์มีหนังสือทวงถามให้นางพยอมและจำเลยทั้งสองชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระแล้ว แต่นางพยอม และจำเลยทั้งสองไม่ชำระ โจทก์จึงฟ้องนางพยอมและจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2548 โจทก์รู้ถึงความตายของนางพยอมต่อมาจำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืน โจทก์รับไปแล้วและถอนฟ้องนางพยอมและจำเลยทั้งสองในคดีหมายเลขดำที่ 9986/2547 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2549 โจทก์นำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกขายทอดตลาด และฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2549 เกิน 1 ปี นับแต่รู้ถึงความตายของนางพยอม
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ที่ให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า เมื่อสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลง ผู้ให้เช่าซื้อย่อมอาจบังคับให้ผู้เช่าซื้อชดใช้ค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์จากการที่ใช้รถยนต์ได้นับแต่วันดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 ซึ่งเป็นวันที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้มิใช่นับแต่วันที่ผู้ให้เช่าซื้อทราบถึงจำนวนค่าเสียหายเมื่อได้มีการนำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกขายทอดตลาดดังที่โจทก์ฎีกา สำหรับค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์กฎหมายมิได้บัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความทั่วไป ตามมาตรา 193/30 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้นางพยอมชำระหนี้แก่โจทก์ภายในกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่สัญญาเช่าซื้อสิ้นสุด แต่อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องนั้นถึงแก่ความตาย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม บัญญัติห้ามมิให้เจ้าหนี้ฟ้องร้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้ามรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก เมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้ได้ความว่า โจทก์ได้รู้ถึงความตายของนางพยอมเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2548 จึงต้องฟ้องเรียกค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถยนต์ภายในหนึ่งปี นับแต่ได้รู้ถึงความตายของนางพยอม ตามมาตรา 1754 วรรคสาม โจทก์ไม่อาจฟ้องคดีภายในสิบปีนับแต่เมื่อนางพยอม เจ้ามรดกตายตามมาตรา 1754 วรรคสี่ ดังที่โจทก์ฎีกา ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share