แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เมื่อจำเลยได้รับหมายเรียกให้ยื่นคำให้การแล้วก็ต้องยื่นคำให้การต่อศาลภายในสิบห้าวัน มิฉะนั้นให้ถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 197 เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ไม่ยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและหากประสงค์จะยื่นคำให้การกฎหมายก็ได้บัญญัติทางแก้ไว้โดยจำเลยที่ 2 อาจยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การโดยอ้างเหตุสุดวิสัยที่ไม่อาจยื่นคำให้การได้ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 หรือมาศาลก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดี และแจ้งต่อศาลในโอกาสแรกว่าประสงค์จะต่อสู้คดี กับแสดงให้ศาลเห็นว่า การขาดนัดยื่นคำให้การมิได้เป็นไปโดยจงใจหรือมีเหตุอันสมควรตามมาตรา 199 วรรคหนึ่ง แห่ง ป.วิ.พ. การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งขาดนัดยื่นคำให้การเพียงแต่ยื่นคำให้การเข้ามาลอยๆ โดยมิได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติไว้ จึงเป็นการยื่นคำให้การต่อศาลโดยไม่ชอบ
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี สัญญากู้เงิน สัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองพร้อมดอกเบี้ย หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำฟ้อง หมายส่งสำเนาคำฟ้องให้จำเลยทั้งสี่ เจ้าหน้าที่ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 โดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2545 ต่อมาวันที่ 6 มกราคม 2546 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ ต่อมาวันที่ 11 มีนาคม 2546 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด ศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นกรณีที่โจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยทั้งสี่ชำระหนี้เป็นเงินอันไม่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน จึงมีคำสั่งให้โจทก์นำพยานหลักฐานเข้าสืบโดยนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2546
ต่อมาวันที่ 17 เมษายน 2546 จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การแล้ว จึงไม่รับคำให้การของจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อแรกว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้ชี้ขาดตัดสินคดีครบถ้วนตามที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์หรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่าโจทก์มิได้มีคำขอต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัดภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะสั่งจำหน่ายคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ แต่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งดังกล่าว จำเลยที่ 2 จึงอุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านต่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มิได้วินิจฉัยในประเด็นเรื่องการจำหน่ายคดีนั้น เห็นว่า จำลยที่ 2 อุทธรณ์ว่าในกรณีที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 บัญญัติให้โจทก์ต้องมีคำขอต่อศาลภายในสิบห้าวันนับแต่ระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้จำเลยยื่นคำให้การได้สิ้นสุดลง เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด ถ้าโจทก์ไม่ยื่นคำขอภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความ เมื่อโจทก์มิได้ปฏิบัติศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะมีคำสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความ และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าศาลชั้นต้นยังมิได้สั่งจำหน่ายคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความจึงทำให้จำเลยที่ 2 ยังคงมีสิทธิยื่นคำให้การได้ตามกฎหมาย ชอบที่ศาลชั้นต้นจะสั่งรับคำให้การของจำเลยที่ 2 ไว้พิจารณา ซึ่งในประเด็นดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 แล้วว่า ข้ออ้างตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เท่ากับจำเลยที่ 2 ยอมรับว่าจำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การเกินกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายจริง ส่วนข้อที่ว่าเมื่อศาลมิได้สั่งจำหน่ายคดีจำเลยที่ 2 จึงยังมีสิทธิยื่นคำให้การ ก็ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติให้จำเลยที่ 2 กระทำได้ คำวินิจฉัยชี้ขาดคดีของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ถือว่าได้วินิจฉัยครบถ้วนตามที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์แล้ว ส่วนเรื่องการจำหน่ายคดีเพราะเหตุโจทก์มิได้มีคำขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 ที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังมิได้วินิจฉัยนั้น ไม่ถือว่าเป็นประเด็นในชั้นอุทธรณ์ เนื่องจากจำเลยที่ 2 มิได้หยิบยกขึ้นอ้างในอุทธรณ์เพื่อขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยและมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความเพราะเหตุโจทก์มิได้มีคำขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 จำเลยที่ 2 เพียงแต่ยกขึ้นอ้างเพื่อให้เห็นว่าตราบใดที่ศาลชั้นต้นยังมิได้จำหน่ายคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ จำเลยที่ 2 ก็ย่อมมีสิทธิยื่นคำให้การได้จุดประสงค์ที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ก็เพื่อต้องการให้ศาลมีคำสั่งรับคำให้การของจำเลยที่ 2 ไว้พิจารณาเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากคำขอท้ายอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ที่ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับคำให้การของจำเลยที่ 2 และให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำให้การของจำเลยที่ 2 ไว้พิจารณาต่อไป การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มิได้หยิบยกเรื่องการจำหน่ายคดีขึ้นวินิจฉัยจึงชอบแล้ว
ปัญหาข้อต่อไปมีว่า จำเลยที่ 2 มิสิทธิยื่นคำให้การได้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยได้รับหมายเรียกให้ยื่นคำให้การแล้วก็ต้องยื่นคำให้การต่อศาลภายในสิบห้าวันมิฉะนั้นให้ถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 197 ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ และในกรณีเช่นนี้หากจำเลยที่ 2 ประสงค์จะยื่นคำให้การ กฎหมายก็ได้บัญญัติทางแก้ไว้โดยจำเลยที่ 2 อาจยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การโดยอ้างเหตุสุดวิสัยเพราะมีพฤติการณ์พิเศษที่ไม่อาจยื่นคำให้การได้ภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 หรือตามมาตรา 199 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ให้จำเลยที่ 2 ต้องปฏิบัติ กล่าวคือ จำเลยที่ 2 ต้องมาศาลก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดีและแจ้งต่อศาลในโอกาสแรกว่าตนประสงค์จะต่อสู้คดี กับแสดงให้ศาลเห็นว่าการขาดนัดยื่นคำให้การของตนมิได้เป็นไปโดยจงใจหรือมีเหตุอันสมควร หากจำเลยที่ 2 ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว และศาลเห็นว่าการยื่นคำให้การพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวเกิดจากเหตุสุดวิสัย หรือการขาดนัดยื่นคำให้การของจำเลยที่ 2 มิได้เป็นไปโดยจงใจหรือมีเหตุอันสมควร ศาลก็จะมีคำสั่งรับคำให้การของจำเลยที่ 2 หรืออนุญาตให้จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การภายในกำหนดเวลาที่เห็นสมควรแล้วแต่กรณี ตามบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นอยู่ในตัวว่าจำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การหากไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ ศาลก็ไม่อาจมีคำสั่งรับคำให้การหรืออนุญาตให้ยื่นคำให้การได้ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งขาดนัดยื่นคำให้การเพียงแต่ยื่นคำให้การเข้ามาลอยๆ โดยมิได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายบัญญัติไว้ จึงเป็นการยื่นคำให้การต่อศาลโดยไม่ชอบ ศาลชั้นต้นชอบที่จะปฏิเสธไม่รับคำให้การของจำเลยที่ 2 ไว้พิจารณา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน