คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9208-9209/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การปล่อยชั่วคราวของพนักงานสอบสวนนั้น สามารถให้ปล่อยชั่วคราวได้สูงสุดเพียง 6 เดือนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 113 วรรคหนึ่ง เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว สัญญาประกันตัวผู้ต้องหาเป็นอันสิ้นสุดลง จำเลยซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนไม่อาจควบคุมตัวผู้ต้องหาต่อไปได้ จึงไม่มีเหตุที่โจทก์จะต้องมาขอปล่อยผู้ต้องหาด้วยการนำโฉนดที่ดินมาให้จำเลยยึดถือไว้อีก จำเลยจึงต้องคืนโฉนดที่ดินพิพาทแก่โจทก์

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งหกและจำเลยทั้งสี่ในสำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 และจำเลยที่ 1 ถึง 4 ให้เรียกโจทก์ในสำนวนที่สองว่า จำเลยที่ 5 และเรียกจำเลยในสำนวนที่สองว่า โจทก์ที่ 7
สำนวนแรกโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 23798 จำเลยที่ 1 เป็นกรมในกระทรวงมหาดไทย เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจในตำแหน่งหน้าที่สารวัตรงาน 2 กองกำกับการ 1 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นหน่วยงานในกรมจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจในตำแหน่งหน้าที่รองสารวัตรงาน 2 กองกำกับการ 1 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ และระหว่างปี 2547 ถึงปี 2538 จำเลยที่ 4 เคยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจในตำแหน่งหน้าที่สารวัตรงาน 2 กองกำกับการ 1 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันคืนโฉนดที่ดินเลขที่ 23798 ตำบลโสธร อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา ให้แก่โจทก์ทั้งหก และให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นเงิน 150,000 บาท และค่าเสียหายต่อไปเป็นรายเดือน เดือนละ 75,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จะคืนหลักประกันแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
สำนวนที่สอง จำเลยที่ 5 ฟ้องว่า จำเลยที่ 5 เป็นพนักงานสอบสวนกองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ มีอำนาจหน้าที่สอบสวน ควบคุมและให้ประกันตัวผู้ต้องหาในคดีอาญาขอให้บังคับโจทก์ที่ 7 ชำระเงินจำนวน 6,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2538 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 681,165 บาท รวมเป็นเงินที่โจทก์ที่ 7 ต้องชำระแก่จำเลยที่ 5 จำนวน 6,681,165 บาท และให้โจทก์ที่ 7 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 6,000,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 5
โจทก์ที่ 7 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ร่วมกันคืนหลักประกันคือ โฉนดที่ดินเลขที่ 23798 ตำบลโสธร อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา ให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 คำขออื่นของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 นอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องของจำเลยที่ 5
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนที่ให้จำเลยที่ 5 ร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 คืนหลักประกันให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันรับฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 23798 ตำบลโสธร อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2537 โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 มอบอำนาจให้โจทก์ที่ 7 นำที่ดินโฉนดดังกล่าวไปประกันตัวผู้ต้องหารวม 6 คน คือ นายเสริม นายสุริยา นายวิรัตน์ นายสมพร นายอนันต์ และนายเทร์ ในคดีความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 ตามเอกสารหมาย จ.3 จำเลยที่ 2 เป็นพนักงานสอบสวนทำเรื่องประกันเสนอให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาเป็นผู้พิจารณาอนุมัติให้ประกันไปและได้รับต้นฉบับโฉนดที่ดินไว้เป็นหลักประกันพนักงานสอบสวนกำหนดวันเวลานัดให้โจทก์ที่ 7 ส่งตัวผู้ต้องหาทั้งหกตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2537 ถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2538 รวม 6 ครั้ง โจทก์ที่ 7 ส่งตัวผู้ต้องหาทั้งหกให้พนักงานสอบสวนตามนัดทุกครั้ง แต่พนักงานสอบสวนก็ยังสอบสวนไม่เสร็จ ต่อมาวันที่ 12 มิถุนายน 2538 ซึ่งพ้นกำหนดที่จะฝากขังได้แล้ว จึงมีคำสั่งให้ฟ้องผู้ต้องหาทั้งหก และแจ้งให้โจทก์ที่ 7 ส่งตัวผู้ต้องหาทั้งหมด โจทก์ที่ 7 พยายามติดตามส่งตัวผู้ต้องหาจนสามารถฟ้องได้ครบทุกคน แต่เมื่อโจทก์ที่ 7 ขอหลักประกันคือโฉนดที่ดินคืน จำเลยที่ 2 และที่ 3 กลับไม่คืนให้อ้างว่าโจทก์ที่ 7 เป็นฝ่ายผิดสัญญาประกัน ให้โจทก์ที่ 7 นำเงินค่าปรับมาชำระจำนวน 6,000,000 บาท คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องคืนโฉนดที่ดินให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 หรือไม่ และโจทก์ที่ 7 ผิดสัญญาประกันต้องชำระค่าปรับให้จำเลยที่ 5 หรือไม่ เห็นว่า เหตุที่จะต้องมีการยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวหรือขอประกันตัวผู้ต้องหาก็เพราะผู้ต้องหาถูกควบคุมโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งกรณีตามข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่าผู้ต้องหาทั้งหกคือ นายเสริม นายสุริยา นายวิรัตน์ นายสมพร นายอนันต์ และนายเทร์ ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมในข้อหากระทำความผิดที่มีโทษทางอาญา ซึ่งในระหว่างสอบสวนแม้พนักงานสอบสวนจะมีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ได้แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าควบคุมได้โดยมีกำหนดระยะเวลา หากให้ทำเช่นนั้นได้ก็จะเป็นการกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นอย่างมาก ฉะนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 113 วรรคหนึ่ง จึงบัญญัติไว้ชัดเจนว่าการปล่อยชั่วคราวของพนักงานสอบสวนนั้น สามารถให้ปล่อยชั่วคราวได้สูงสุดเพียงหกเดือนเท่านั้น และในวรรคสองยังบัญญัติย้ำว่าเมื่อการปล่อยชั่วคราวสิ้นสุดลงตามวรรคหนึ่งแล้ว ถ้ายังมีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมผู้ต้องหาไว้ต่อไปให้ส่งตัวผู้ต้องหามาศาล และให้นำบทบัญญัติมาตรา 87 วรรคสี่ ถึงวรรคเก้ามาใช้บังคับ แสดงว่าการปล่อยตัวผู้ต้องหาชั่วคราวของพนักงานสอบสวนตามที่โจทก์ที่ 7 ทำสัญญาประกันไว้ เมื่อครบหกเดือนแล้วพนักงานสอบสวนยังสอบสวนไม่เสร็จการปล่อยชั่วคราวตามสัญญาประกันเป็นอันสิ้นสุดลง พนักงานสอบสวนคือจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่อาจควบคุมตัวผู้ต้องหาดังกล่าวไว้ได้อีกต่อไป เมื่อไม่สามารถควบคุมตัวไว้ได้ก็ไม่มีเหตุที่ฝ่ายโจทก์จะต้องมาขอปล่อยผู้ต้องหาดังกล่าวด้วยนำโฉนดที่ดินมาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยึดถือไว้อีก ฉะนั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะยึดถือโฉนดที่ดินไว้อีกต่อไป เพราะถือว่าการปล่อยชั่วคราวของพนักงานสอบสวนตามสัญญาประกันสิ้นสุดลงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 113 วรรคสอง ไปแล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องคืนโฉนดที่ดินให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 ข้ออ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ที่ว่า ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้สัญญาประกันตัวผู้ต้องหาสิ้นสุดลงนับแต่พ้นกำหนดเวลา 6 เดือนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 113 และสัญญาประกันเป็นสัญญาที่แยกต่างหากจากการดำเนินคดีอาญา ก็เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีกฎหมายสนับสนุน เมื่อข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งเจ็ดปรากฏว่าโจทก์ที่ 7 ส่งตัวผู้ต้องหาทั้งหกตามกำหนดนัดที่พนักงานสอบสวนระบุไว้ในด้านหลังของสัญญาประกันทุกครั้ง ดังนี้ โจทก์ที่ 7 ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาประกัน ไม่มีความรับผิดต้องชำระค่าปรับให้จำเลยที่ 5 ยิ่งกว่านั้นแม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะไม่มีอำนาจควบคุมผู้ต้องหาแล้ว ซึ่งก็หมายความว่าสัญญาประกันสิ้นสุดลงแล้ว โจทก์ที่ 7 ก็ยังช่วยอนุเคราะห์จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนด้วยการยอมเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการติดตามตัวผู้ต้องหาทั้งหกมาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 จนสามารถส่งฟ้องได้ครบทุกคน แทนที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะรีบคืนโฉนดที่ดินตามเอกสารหมาย จ.2 ให้ จำเลยที่ 5 กลับดำเนินคดีฟ้องเรียกค่าปรับจากโจทก์ที่ 7 อ้างว่าฝ่ายโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาประกันเสียอีก การกระทำของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 จึงไม่ชอบ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 คืนโฉนดที่ดินตามเอกสารหมาย จ.2 ให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 6 และให้ยกฟ้องของจำเลยที่ 5 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share