คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3452/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

กำหนดเวลาการอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภายใน 30 วัน เป็นกำหนดเวลาในการฟ้องคดี ถ้ามิได้ฟ้องภายในกำหนดย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง แม้เป็นกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 30 (2) แห่ง ป.รัษฎากร ก็ถือว่าเป็นระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งอันกำหนดไว้ใน ป.รัษฎากร ศาลภาษีอากรกลางย่อมมีอำนาจขยายระยะเวลาดังกล่าวให้โจทก์ได้ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 23
คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 81/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การงดหรือลดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 22 มาตรา 26 มาตรา 67 ตรี มาตรา 89 และมาตรา 91/22 (6) แห่ง ป.รัษฎากร ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2542 ข้อ 3 และ 4 เป็นเพียงระเบียบที่กำหนดให้เจ้าพนักงานประเมินถือปฏิบัติ ไม่มีผลผูกพันศาลให้ต้องถือตาม ศาลจึงมีอำนาจพิจารณาว่าการที่เจ้าพนักงานประเมินงดหรือลดเบี้ยปรับมานั้นถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ และมีอำนาจที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับได้เองในกรณีที่มีเหตุสมควรเพื่อให้สมควรเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม
บริษัท ข. จดทะเบียนเลิกบริษัทและอยู่ในระหว่างการชำระบัญชี โดยผู้ชำระบัญชีได้ทำการขายทรัพย์สินและรวบรวมรายได้เมื่อหักรายจ่ายทำให้บริษัทมีกำไรสุทธิ และเมื่อนำผลขาดทุนสะสมยกมาจากปีก่อนมาหักแล้ว ทำให้บริษัทมีกำไรสะสมสิ้นปี การที่บริษัทดังกล่าวจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ไม่ถือว่าเป็นเงินปันผล เพราะมิได้จ่ายตามหลักเกณฑ์ตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1200 ถึง 1205 กำหนดไว้ แต่เป็นเงินได้พึงประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 40 (4) (ฉ)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทเข้งหงวน จำกัด ซึ่งจดทะเบียนเลิกบริษัทและชำระบัญชี เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2540 เมื่อปี 2533 บริษัทเข้งหงวน จำกัด ได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลจังหวัดภูเก็ตขอเลิกบริษัทและได้ทำการชำระบัญชี ผู้ชำระบัญชีขายทรัพย์สินและรวบรวมรายได้คือ กำไรจากการขายยางพาราและมะพร้าว 989,738.96 บาท รายได้เงินสงเคราะห์การทำสวนยาง 20,623 บาท พร้อมดอกเบี้ยรับ 1,729,155.86 บาท ค่าเช่า 204,500 บาท ค่าขายที่ดิน 241,698,853.24 บาท และรายได้อื่นๆ 301,907.10 บาท หักค่าใช้จ่ายต่างๆ ทำให้บริษัทมีกำไรสุทธิสิ้นปี เมื่อนำผลขาดทุนสุทธิสะสมยกมาหักแล้วทำให้มีกำไรก่อนจ่ายเงินปันผล 130,531,347.33 บาท บริษัทจึงประกาศจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น 126,000,000 บาท โดยโจทก์ได้รับเงินปันผลครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2542 จำนวน 17,388,000 บาท และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2542 จำนวน 6,955,000 บาท ในการจ่ายเงินปันผลดังกล่าว บริษัทหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในอัตราร้อยละ 10 ในลักษณะของเงินปันผล ต่อมาโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90) ว่า โจทก์มีเงินได้ต่างๆ รวมเงินปันผลซึ่งโจทก์ได้รับเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) (ข) แห่งประมวลรัษฎากรในปีภาษี 2542 และได้รับการเครดิตภาษีเงินปันผลตามมาตรา 47 ทวิ โจทก์จึงมีสิทธิขอคืนเงินภาษีที่ชำระไว้เกิน 118,890 บาท ต่อมาโจทก์ได้รับหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมินให้ไปพบ โจทก์ได้มอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ไปพบและนำเอกสารต่างๆ ไปมอบให้พร้อมชี้แจงให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานประเมิน เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2544 โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.12) เลขที่ 11830010/1/102120 ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2542 จากสำนักงานสรรพากร จังหวัดภูเก็ต สำหรับภาษีของปีภาษี 2542 ไม่ให้โจทก์เครดิตภาษี แล้วทำการประเมินใหม่ ให้โจทก์ชำระภาษีเป็นเงินทั้งสิ้น 14,553,260 บาท เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2544 โจทก์อุทธรณ์การประเมิน ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้โจทก์นำภาษีไปชำระตามผลคำวินิจฉัยอุทธรณ์โดยลดเบี้ยปรับลงคงเรียกเก็บร้อยละ 50 เป็นเงิน 3,226,887 บาท โจทก์เห็นว่าเงินที่โจทก์ได้รับจากบริษัทเข้งหงวน จำกัด เป็นเงินปันผลโจทก์จึงได้รับสิทธิเครดิตภาษีเงินปันผลดังกล่าว และมีสิทธิได้รับคืนเงินภาษี สำหรับเบี้ยปรับนั้นโจทก์ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี กรณีดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายซึ่งเห็นไม่ตรงกัน โจทก์เป็นเพียงผู้ถือหุ้นไม่มีความรู้ทางบัญชีภาษีอากร ผู้ชำระบัญชีในขณะนั้นได้นำกำไรของบริษัทไปเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 30 ที่เหลือแบ่งให้ผู้ถือหุ้นรวมทั้งโจทก์เป็นเงินปันผล โดยจัดทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย เงินปันผลร้อยละ 10 ให้โจทก์ด้วย โจทก์จึงยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามหนังสือรับรองดังกล่าว ซึ่งโจทก์เข้าใจว่าถูกต้อง เพราะผู้ชำระบัญชีเป็นผู้มีความรู้ทางบัญชีภาษีอากร ประกอบกับในชั้นตรวจสอบไต่สวนโจทก์ได้ให้ความร่วมมือส่งเอกสารชี้แจงข้อเท็จจริงและให้ถ้อยคำด้วยดีตลอดมา อีกทั้งได้นำเงินภาษีและเงินเพิ่มตามการประเมินไปชำระไว้ก่อนแล้ว ก่อนฟ้องโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาในการฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลาง ศาลอนุญาต ซึ่งต่อมาโจทก์ได้ฟ้องคดีภายในกำหนดเวลาที่ศาลขยายให้ ขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.12) เลขที่ 11830010/1/102120 ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2544 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ (ภ.ส.7) เลขที่ สภ.11 ภก/13/2546 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2546
จำเลยให้การว่า โจทก์มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีเพราะโจทก์จบการศึกษาระดับปริญญาตรี (บริหารธุรกิจบัณฑิต) จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นกรรมการบริษัทเข้งหงวน จำกัด และเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัดโตโยต้าพังงา โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาว่าเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินปันผล ทั้งที่ทราบว่าไม่ใช่เงินปันผล หลังจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและเสียภาษีไม่ถูกต้องพนักงานเจ้าหน้าที่เรียกให้โจทก์มาพบถึง 4 ครั้ง โจทก์ก็ไม่มาพบพนักงานเจ้าหน้าที่จึงออกหมายเรียกตรวจสอบและให้โจทก์ไปพบพร้อมกับส่งเอกสารต่างๆ โจทก์ก็ไม่ไปพบเพียงแต่ส่งตัวแทนไปพบโจทก์มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีและไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบภาษีไม่ควรลดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ นอกเหนือไปจากที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ลดให้ โจทก์ทราบคำวินิจฉัยอุทธรณ์เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2546 แต่นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2546 ซึ่งพ้นกำหนดเวลา 30 วัน ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 (2) แล้ว จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/9 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลไม่มีอำนาจขยายอายุความให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้แก้ไขการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.12) เลขที่ 11830010/1/102120 ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2544 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ (ภ.ส.7) เลขที่ สภ.11 ภก/13/2546 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2546 โดยให้งดเบี้ยปรับทั้งหมด ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ในปีภาษี 2542 โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยระบุประเภทเงินได้พึงประเมินไม่ถูกต้องเป็นเหตุให้โจทก์เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาขาดไป คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า ศาลภาษีอากรกลางมีอำนาจขยายกำหนดเวลาให้โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หรือไม่ ข้อนี้จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลภาษีอากรกลางไม่มีอำนาจขยายกำหนดเวลาดังกล่าว เพราะเป็นกำหนดเวลาในการฟ้องคดี ไม่ใช่ระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 หรือระยะเวลาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 เห็นว่า กำหนดเวลาการอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภายใน 30 วัน เป็นกำหนดเวลาในการฟ้องคดี ถ้ามิได้ฟ้องภายในกำหนดย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง แม้เป็นกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 30 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ก็ถือว่าเป็นระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งอันกำหนดไว้ในประมวลรัษฎากร ศาลภาษีอากรกลางย่อมมีอำนาจขยายระยะเวลาดังกล่าวให้โจทก์ได้ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อต่อไปมีว่า กรณีของโจทก์มีเหตุสมควรงดหรือลดเบี้ยปรับให้มากกว่าที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยหรือไม่ ข้อนี้ จำเลยอุทธรณ์ว่า การงดเบี้ยปรับต้องเป็นไปตามประมวลรัษฎากร มาตรา 27 ทวิ วรรคสอง ประกอบด้วยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 81/2542 เรื่อง หลักเกณฑ์การงดหรือลดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ ตามมาตรา 22 มาตรา 26 มาตรา 67 ตรี มาตรา 89 และมาตรา 91/21 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2542 ข้อ 3 และ 4 ซึ่งกำหนดให้ลดเบี้ยปรับได้เฉพาะกรณีไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีและให้ความร่วมมือในการตรวจสอบไต่สวนด้วยดี และเมื่อลดแล้วต้องให้เสียไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมายและไม่มีกรณีให้งดเบี้ยปรับได้ แต่ตามพฤติการณ์โจทก์มีเจตนาไม่สุจริตและไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบไต่สวนนั้น เห็นว่า คำสั่งกรมสรรพากรดังกล่าวเป็นเพียงระเบียบที่กำหนดให้เจ้าพนักงานประเมินถือปฏิบัติไม่มีผลผูกพันศาลให้ต้องถือตามระเบียบดังกล่าว ศาลมีอำนาจพิจารณาว่าการที่เจ้าพนักงานประเมินงดหรือลดเบี้ยปรับมานั้นถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ และมีอำนาจที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับได้เองในกรณีที่มีเหตุสมควรเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมอีก แต่เนื่องจากกรณีมีเหตุสมควรงดหรือลดเบี้ยปรับหรือไม่เป็นข้อเท็จจริง ซึ่งโจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้างภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์ แต่โจทก์ไม่สืบพยานให้ศาลเห็นว่ากรณีของโจทก์มีเหตุสมควรงดหรือลดเบี้ยปรับเพราะเหตุใด ทั้งข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ก็เห็นชัดเจนว่าการที่บริษัทเข้งหงวน จำกัด จดทะเบียนเลิกบริษัทและอยู่ในระหว่างการชำระบัญชีโดยผู้ชำระบัญชีได้ทำการขายทรัพย์สินและรวบรวมรายได้เมื่อหักรายจ่ายทำให้บริษัทมีกำไรสุทธิ และเมื่อนำผลขาดทุนสะสมยกมาจากปีก่อนมาหักแล้ว ทำให้บริษัทมีกำไรสะสมสิ้นปี การที่บริษัทดังกล่าวจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ไม่ถือว่าเป็นเงินปันผลเพราะมิได้จ่ายตามหลักเกณฑ์ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1200 ถึง 1205 กำหนดไว้ แต่เป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (4) (ฉ) และกรณีของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเป็นการเข้าใจข้อกฎหมายคลาดเคลื่อนดังนี้ การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ลดเบี้ยปรับลงคงเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมายนั้นชอบแล้วไม่มีเหตุสมควรที่จะงดหรือลดเบี้ยปรับให้มากกว่าที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัย ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้นศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share