แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ป. เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทได้ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยและได้ส่งมอบการครอบครองให้แก่จำเลยไปตั้งแต่เดือนมกราคม 2532 แล้ว จำเลยจึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 และมาตรา 1778 การที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโจทก์จัดให้ ป. ได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทจึงขัดต่อหลักเกณฑ์ตามประกาศของโจทก์ข้อ 1 ข. (1) เพราะขณะโจทก์จัดให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์นั้นเป็นการกระทำภายหลังวันที่ 19 กันยายน 2532 ซึ่งเป็นวันออกประกาศอันเป็นเวลาภายหลังจากที่ ป. ได้มอบการครอบครองให้จำเลยไปแล้ว ป. จึงไม่ใช่เกษตรกรผู้ครอบครองที่ดิน การจัดให้ ป. เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ตลอดจนการออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 ให้ ป. จึงไม่ชอบ
สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมโจทก์ฟ้องว่าได้ที่ดินพิพาทมาโดย ป. สละการครอบครองให้ มิได้ฟ้องว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นโจทก์จึงไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท และไม่มีอำนาจนำที่ดินพิพาทมาใช้ในการปฏิรูปเพื่อเกษตรกรรมตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 26 (4)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2521 มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่อำเภอเมืองนครราชสีมา อำเภอปักธงชัย และอำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.2521 โดยกำหนดให้ที่ดินในเขตท้องที่อำเภอดังกล่าวภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน โจทก์จึงเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่เป็นเขตปฏิรูปที่ดินและนำไปจัดการปฏิรูปที่ดินให้เกษตรกร บุคคลที่ได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะโอนสิทธิไปยังผู้อื่นมิได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม ต่อมาวันที่ 19 กันยายน 2532 คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมาประกาศให้เกษตรกรยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินโครงการป่านครราชสีมา – ปักธงชัย และโครงการป่านครราชสีมา – ปักธงชัย – โชคชัย โดยให้เกษตรกรผู้ซึ่งมีสิทธิยื่นคำร้องขอคัดเลือกเข้าทำประโยชน์ในที่ดินตามโครงการดังกล่าว ครั้นวันที่ 23 กันยายน 2532 นายเปลื้อง มงคล ได้ยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินตามประกาศต่อสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา โดยนายเปลื้องไม่ได้อ้างว่าที่ดินพิพาทที่ขอเข้าทำประโยชน์เป็นที่ดินที่มีหลักฐานทางที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 493 หมู่ที่ 7 ตำบลตะคุ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ถือได้ว่านายเปลื้องสละเจตนาครอบครองที่ดินพิพาทตามหลักฐานทางที่ดินดังกล่าว และขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินของโจทก์แทน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมาได้พิจารณาคัดเลือกให้นายเปลื้องเข้าทำประโยชน์ในที่ดินเขตปฏิรูปที่ดินอำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา และออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก. 4 – 01) แก่นายเปลื้อง ดังนั้น นายเปลื้องซึ่งได้รับสิทธิโดยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมจะโอนสิทธิในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นไม่ได้ เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดกแก่ทายาทโดยธรรม ต่อมาวันที่ 28 กรกฎาคม 2536 จำเลยได้นำหลักฐานทางที่ดินในที่ดินพิพาทตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 493 ซึ่งนายเปลื้องได้สละเจตนาครอบครองแล้วมายื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาปักธงชัย โดยอ้างว่าได้ซื้อที่ดินพิพาทมาจากนายเปลื้องเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2532 เจ้าพนักงานที่ดินได้ดำเนินการตามคำขอของจำเลย สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมามีหนังสือคัดค้านการออกโฉนดที่ดินของจำเลย เจ้าพนักงานที่ดินทำการสอบสวนเปรียบเทียบ และมีคำสั่งให้ออกโฉนดที่ดินแก่จำเลย หากโจทก์ไม่พอใจให้ดำเนินการฟ้องต่อศาลภายในกำหนด 60 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง การที่จำเลยขอออกโฉนดที่ดินในที่ดินพิพาทตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 493 โดยอ้างสิทธิครอบครองต่อจากนายเปลื้องผู้ขาย เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์เพราะที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ฟ้องคดีภายในกำหนด ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมต่อไป และห้ามเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาปักธงชัยออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลย
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยเป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท โดยซื้อมาจากนายเปลื้องเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2532 ในราคา 264,000 บาท นายเปลื้องได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์นับแต่วันทำสัญญาจนถึงปัจจุบันโดยมีมีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน ทั้งจำเลยไม่เคยยินยอมเข้าร่วมในการดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่ดินพิพาทของจำเลยไม่ปรากฏว่าเป็นที่ดินของรัฐที่โจทก์นำมาดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 26 และไม่ใช่ที่ดินเอกชนที่โจทก์ได้จัดซื้อหรือเวนคืนตามมาตรา 29 แต่เป็นที่ดินของจำเลยที่มีสิทธิครอบครองเพราะได้มีการแจ้งการครอบครองที่ดินมาตั้งแต่ปี 2498 และมีการครอบครองต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบันการที่โจทก์นำที่ดินพิพาทของจำเลยไปดำเนินการตามโครงการปฏิรูปที่ดิน จัดให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน และออกหนังสืออนุญาตให้นายเปลื้องเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปทีดินเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์และนายเปลื้องไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง และพิพากษาว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ห้ามโจทก์เข้าเกี่ยวข้อง กับให้เพิกถอนการออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินที่โจทก์ให้แก่นายเปลื้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอถอนฟ้องแย้ง ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 8,000 บาท
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้โดยคู่ความไม่ได้นำสืบโต้แย้งคัดค้านว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตท้องที่อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2521 ได้มีพระราชกฤษฎีกาซึ่งอาศัยตามความในมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 กำหนดเขตที่ดินในท้องที่อำเภอเมืองนครราชสีมา อำเภอปักธงชัยและอำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินของโจทก์ เดิมที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ได้มีการแจ้งการครอบครองไว้ตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 493 ตำบลตะคุ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา เอกสารหมาย ล.2 โดยมีชื่อนางพวง ยุพา มารดาของนายเปลื้อง มงคล เป็นผู้แจ้งการครอบครอง ระหว่างที่โจทก์ดำเนินการปฏิรูปที่ดิน โดยให้เกษตรกรยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2532 นายเปลื้องได้ยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยมิได้แจ้งว่าที่ดินมีแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) โจทก์จึงได้จัดให้นายเปลื้องเข้าทำประโยชน์ และได้ออกเอกสารสิทธิเป็นหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินหรือ ส.ป.ก. 4 – 01 เลขที่ 4126 เล่ม 52 หน้า 26 อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ให้แก่นายเปลื้อง ปัจจุบันนายเปลื้องถึงแก่ความตายไปแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2536 จำเลยได้นำแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 493 ของที่ดินพิพาทไปยื่นคำขอออกโฉนดที่ดินต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาปักธงชัย โจทก์คัดค้าน เจ้าพนักงานที่ดินได้สอบสวนเปรียบเทียบแล้วมีคำสั่งออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลย มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ โจทก์มีนายทินกร การรักษา นายพีระ อาจหาญ นายวิชาญ วิริยะสุทธิวงศ์ และนายสุเทพ รอสูงเนิน เป็นพยานเบิกความได้ความในทำนองเดียวกันว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่อำเภอเมืองนครราชสีมา อำเภอปักธงชัย และอำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ.2521 เป็นที่ดินโครงการป่านนครราชสีมา ปักธงชัย และโครงการป่านครราชสีมา – ปักธงชัย – โชคชัย โจทก์ได้ประกาศให้เกษตรกรยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าว ตามประกาศคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเอกสารหมาย จ.4 ต่อมานายเปลื้องได้ยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโจทก์ได้สอบสวนแล้วเห็นว่านายเปลื้องมีคุณสมบัติตามข้อ 1 ก. และเข้าหลักเกณฑ์ตามข้อ 1. ข. (1) จึงจัดให้นายเปลื้องเข้าทำประโยชน์และออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4 – 01 ให้นายเปลื้องไป แต่จากคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งหมด ปรากฏว่าไม่มีพยานโจทก์คนใดรู้เห็นว่านายเปลื้องได้เข้าทำประโยชน์หรือครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ก่อนจริงหรือไม่ แต่จำเลยมีตัวจำเลยและนายโฮม จวงตะคุเป็นพยานเบิกความยืนยันว่า จำเลยได้ซื้อที่ดินพิพาทมาจากนายเปลื้อง เมื่อเดือนมกราคม 2532 มีการทำสัญญาซื้อขาย ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย ล.3 หลังจากนั้นนายเปลื้องได้มอบแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เอกสารหมาย ล.2 และส่งมอบการครอบครองให้จำเลย จำเลยได้เข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา จนกระทั่งจำเลยได้ไปยื่นคำร้องขอออกโฉนดในที่พิพาท นายโฮมเป็นผู้ใหญ่บ้านในท้องที่ที่ดินตั้งอยู่ จึงเป็นผู้ที่ทราบเรื่องเกี่ยวกับที่ดินแปลงนี้ดี ในฐานะที่เป็นผู้ปกครองท้องที่และยังเป็นผู้รู้เห็นการทำสัญญาซื้อขายระหว่างนายเปลื้องกับจำเลยอีกด้วย เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยในเรื่องนี้แล้ว เห็นว่า พยานจำเลยมีน้ำหนักดีกว่าพยานโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นายเปลื้องซึ่งเป็นผู้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทได้ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยและได้ส่งมอบการครอบครองให้แก่จำเลยไปตั้งแต่เดือนมกราคม 2532 แล้วจำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมา พฤติการณ์แห่งคดี แสดงให้เห็นว่านายเปลื้องได้สละการครอบครองที่ดินพิพาท และโอนที่ดินพิพาทโดยการส่งมอบการครอบครองให้แก่จำเลย จำเลยรับโอนมาโดยชอบติดต่อกันมาจำเลยจึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1377 และมาตรา 1778 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ดังกล่าว การที่โจทก์จัดให้นายเปลื้องได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทจึงขัดต่อหลักเกณฑ์ตามประกาศเอกสารหมาย จ.4 ของโจทก์ ข้อ 1 ข. (1) เพราะขณะโจทก์จัดให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์นั้น เป็นการกระทำภายหลังวันที่ 19 กันยายน 2532 ซึ่งเป็นวันออกประกาศเป็นเวลาภายหลังจากที่นายเปลื้องได้มอบการครอบครองให้จำเลยไปแล้ว นายเปลื้องจึงไม่ใช่เกษตรกรผู้ครอบครองที่ดินตามประกาศดังกล่าว การจัดให้นายเปลื้องเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ตลอดจนการออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. 4-01 ให้นายเปลื้องจึงไม่ชอบด้วยหลักเกณฑ์ตามประกาศดังกล่าว ที่โจทก์กล่าวอ้างว่าการที่นายเปลื้องยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเป็นการสละสิทธิครอบครองตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) ให้แก่โจทก์แล้ว เห็นว่า นายเปลื้องยื่นคำร้องขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินจากโจทก์เมื่อเดือนกันยายน 2532 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่นายเปลื้องได้โอนการครอบครองที่ดินให้จำเลยไปแล้วตั้งแต่เดือนมกราคม 2532 นายเปลื้องจึงไม่มีสิทธิที่จะสละสิทธิการครอบครองให้แก่โจทก์ ข้ออ้างของโจทก์จึงรับฟ้งไม่ได้ ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเดิมเป็นที่ดินอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติจึงเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าได้ที่ดินพิพาทมาโดยนายเปลื้องสละการครอบครองให้หาได้ฟ้องว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยไม่ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ดังกล่าวจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น โจทก์จึงไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทและไม่มีอำนาจนำที่ดินพิพาทมาใช้ในการปฏิรูปเพื่อการเกษตรกรรมตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 26 (4) แต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 8,000 บาท