คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 908/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาท ไม่ได้ให้การต่อสู้คดีว่า โจทก์ได้รับโอนเช็คนั้นมาโดยคบคิดกับบริษัท ส. ฉ้อฉลจำเลย จำเลยจึงไม่อาจยกข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันเฉพาะบุคคลระหว่างจำเลยกับบริษัท ส. ขึ้นต่อสู้โจทก์ว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะจำเลยออกเช็คค้ำประกันหนี้เงินยืมจากบริษัท ส. จำเลยไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นกรรมการมีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันออกเช็คสั่งจ่ายเงิน 240,000 บาท โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 เป็นผู้ลงลายมือสั่งจ่ายและประทับตราของจำเลยที่ 1 แล้วโอนเช็คชำระหนี้ให้โจทก์ เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์นำเข้าบัญชีโจทก์ เพื่อเรียกเก็บเงินธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้จำเลยทั้งสามชำระเงินตามเช็คพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การว่าจำเลยที่ 1 ไม่เคยเป็นหนี้โจทก์ เช็คพิพาทจำเลยออกให้แก่บริษัทสยามโภคภัณฑ์ธุรกิจ จำกัด เพื่อค้ำประกันหนี้เงินยืมที่จำเลยที่ 1 ยืมจากบริษัทสยาโภคภัณฑ์ธุรกิจ จำกัดและเป็นเช็คที่คิดดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อเดืนอรวมอยู่ด้วยจำเลยที่ 1 มิได้เป็นหนี้โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 ลงลายมือชื่อในเช็คในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 1 จึงไม่ตอ้งรับผิดต่อโจกท์เป็นการส่วนตัว จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่เคยเป็นหนี้โจตทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 240,000 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้แต่เพียงว่าจำเลยที่ 1 จะต้องใช้เงินตามเช็คพิพาทให้แก่โจทก์หรือไม่ ส่วนคดีสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คพิพาทฉบับลงวันที่ 21 มีนาคม 2528 สั่งให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาสาธรจ่ายเงินจำนวน 240,000 บาท ให้แก่ผู้ถือ และโจทก์เป็นผู้ถือเช็คดังกล่าว ในกรณีเช่นนี้ย่อมฟังได้ว่าโจทก์ได้รับเช็คพิพาทมาโดยสุจริตและเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อเช็คพิพาทธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาสาธร ปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาทจึงต้องรับผิดต่อโจตทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 914 ประกอบด้วยมาตรา 989ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เพราะจำเลยที่ 1 ออกเช็คค้ำประกันหนี้เงินยืมจากบริษัทสยามโภคภัณฑ์ธุรกิจ จำกัด จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โดยที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การต่อสู้คดีว่า โจทก์ได้รับโอนเช็คพิพาทตามฟ้องมาโดยคบคิดกับบริษัทสยามโภคภัณฑ์ธุรกิจ จำกัด ฉ้อฉลจำเลยที่ 1 จึงมิใช่เป็นข้อต่อสู้ที่จะยกขึ้นใช้ยันโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 916ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลทั้งหลายผู้ถูกฟ้องในมูลตั๋วแลกเงินหาอาจจะต่อสู้ผู้ทรงด้วยข้อต่อสู้อันอาศัยความเกี่ยวพันกันเฉพาะบุคคลระหว่างตนกับผู้สั่งจ่าย หรือกับผู้ทรงคนก่อน ๆ นั้นได้ไม่ เว้นแต่การโอนจะได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉล” ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมา ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงินตามเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ชอบแล้ว…”
พิพากษายืน.

Share