แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ในคำให้การของจำเลยบรรยายเพียงว่า ที่ดินพิพาทยังเป็น ของจำเลยซึ่งถูกโจทก์ร่วมกับธนาคาร ก.ทำกลฉ้อฉลเท่านั้นมิได้บรรยายว่าโจทก์ร่วมกับธนาคาร ก.กระทำการอย่างใดอันเป็นเหตุแห่งกลฉ้อฉลไว้โดยชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสองจึงต้องห้ามมิให้นำสืบข้ออ้างดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นจะให้จำเลยนำสืบถึงรายละเอียดเหล่านี้ ก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ ฟังไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมกับธนาคาร ก. ทำกลฉ้อฉลจำเลยเมื่อโจทก์มีหลักฐานเอกสารมาแสดงว่าได้ซื้อที่ดินพิพาทจากธนาคาร ก. โจทก์จึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท แม้โจทก์จะไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า ที่ดินพิพาทสามารถนำไปใช้เพาะปลูกหรือทำประโยชน์ใด แต่การที่จำเลยเข้าขัดขวาง มิให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ โจทก์ย่อมได้รับความเสียหาย อยู่ในตัว ซึ่งศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้ตามความเหมาะสมได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยกับบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินตราจองเลขที่ 925 ตำบลนาวังหิน อำเภอพนัสนิคมจังหวัดชลบุรี และออกจากบ้านเลขที่ 113/2 ดังกล่าว ห้ามจำเลยกับบริวารเข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไป ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายจำนวน50,000 บาท และเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินโจทก์
จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยซึ่งโจทก์ร่วมกับธนาคารกรุงไทย จำกัด ทำกลฉ้อฉลจำเลย ซึ่งจำเลยได้เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์คดีนี้ร่วมกับธนาคารกรุงไทย จำกัด เป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้น คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์โจทก์ไม่ได้เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากบ้านเลขที่ 113/2 ตามที่ดินตราจองเลขที่ 925ตำบลนาวังหิน อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไป ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 50,000 บาทและเดือนละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินดังกล่าว
จำเลยอุทธรณ์ โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าเดิมที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยได้นำไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้กู้ยืมของจำเลยที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาพนัสนิคมต่อมาทางธนาคารได้ฟ้องบังคับชำระหนี้และนำที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาด ธนาคารกรุงไทย จำกัด เป็นผู้ประมูลได้และต่อมาได้ขายให้แก่โจทก์ตามบันทึกสารบัญทะเบียนด้านหลังตราจองเอกสารหมาย จ.2 ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกมีว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทหรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ร่วมกับธนาคารกรุงไทย จำกัด ทำกลฉ้อฉลจำเลยโดยในวันขายทอดตลาดที่ดินพิพาท นายสมบูรณ์ โอเจริญผู้จัดการธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาพนัสนิคม ได้บอกจำเลยให้ยอมให้ทางธนาคารซื้อที่ดินพิพาทไปก่อนแล้วค่อยไปขอซื้อคืนภายหลัง เพราะทางธนาคารคิดดอกเบี้ยไม่แพง จำเลยหลงเชื่อจึงไม่ได้เข้าสู้ราคา แต่เมื่อจำเลยไปขอซื้อที่ดินพิพาทคืนทางธนาคารกลับขายให้โจทก์ เป็นการสร้างกลฉ้อฉลมาแต่ต้นนิติกรรมที่โจทก์กระทำต่อธนาคารกรุงไทย จำกัด เป็นโมฆียะโจทก์จึงไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทนั้น เห็นว่าในคำให้การของจำเลย จำเลยบรรยายเพียงแต่ว่า ที่ดินพิพาทยังเป็นของจำเลยซึ่งถูกโจทก์ร่วมกับธนาคารกรุงไทย จำกัดทำกลฉ้อฉล เท่านั้น มิได้บรรยายว่าโจทก์ร่วมกับธนาคารกรุงไทยจำกัด กระทำการอย่างใดอันเป็นเหตุแห่งกลฉ้อฉลไว้โดยชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสองจึงต้องห้ามมิให้นำสืบข้ออ้างดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นจะให้จำเลยนำสืบถึงรายละเอียดเหล่านี้ก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ร่วมกับธนาคารกรุงไทย จำกัด ทำกลฉ้อฉลจำเลย เมื่อโจทก์มีหลักฐานเอกสารหมาย จ.2 มาแสดงว่าได้ซื้อที่ดินพิพาทจากธนาคารกรุงไทย จำกัด โจทก์จึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นสำหรับปัญหาเรื่องค่าเสียหายที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยเพราะที่ดินพิพาทอยู่ห่างไกลความเจริญ ไม่เหมาะสมแก่การทำประโยชน์ และโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจะนำที่ดินพิพาทไปใช้ประโยชน์ในทางใดนั้น เห็นว่า แม้โจทก์จะไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า ที่ดินพิพาทสามารถนำไปใช้เพาะปลูกหรือทำประโยชน์ใดแต่การที่จำเลยเข้าขัดขวางมิให้โจทก์เข้าทำประโยชน์โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายอยู่ในตัวและศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายให้ตามความเหมาะสม ที่ดินพิพาทมีเนื้อที่มากถึง 56 ไร่เศษ ค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดมาจึงเหมาะสมแล้วฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน