คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9523/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องยืนยันว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์โปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทนำไปติดตั้งในเครื่องคอมพิวเตอร์ IBMA/S400 ของจำเลย ซึ่งจำเลยมิได้ให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่าโจทก์มิใช่ผู้สร้างสรรค์โปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทตามคำฟ้องโดยจำเลยคงให้การเพียงว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้มีสิทธิในโปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาท หากลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าวเป็นของโจทก์จำเลยก็มิได้ละเมิดลิขสิทธิ์ต่อโจทก์เพราะจำเลยได้นำโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นไปใช้งานอันเป็นธุรกิจปกติของจำเลยตามที่เป็นวัตถุประสงค์แห่งการจ้างแรงงานที่จำเลยได้จ้างโจทก์ ดังนี้ ตามคำฟ้องและคำให้การของจำเลยดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยรับว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ตามคำฟ้อง จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทที่ว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์โปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทหรือไม่ข้อเท็จจริงในคดีจึงต้องรับฟังเป็นยุติว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์โปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาท เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสัญชาติไทยเป็นผู้สร้างสรรค์โปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทแล้วโจทก์ย่อมเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ตนได้สร้างสรรค์ขึ้นตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ
แม้โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยและโจทก์สร้างสรรค์โปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทเพื่อใช้ในกิจการของจำเลยในฐานะที่โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยก็ตาม แต่ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 9 ก็เป็นการยืนยันอยู่ว่างานโปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นมาติดตั้งในเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลยเพื่อใช้ในกิจการของจำเลยนั้นยังเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์อยู่ เว้นแต่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างและจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจะได้ทำหนังสือตกลงกันไว้ให้งานโปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นมานั้นตกเป็นลิขสิทธิ์ของจำเลย ซึ่งไม่ปรากฏว่าโจทก์และจำเลยได้ทำหนังสือตกลงกันไว้ดังกล่าว จึงรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาท
ระหว่างที่โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยนั้น โจทก์อนุญาตให้จำเลยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ในกิจการของจำเลย โดยปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้คิดค่าตอบแทนในการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์นี้จากจำเลย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโจทก์เอื้อเฟื้อให้จำเลยใช้ประโยชน์จากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ดังกล่าวเนื่องจากโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย แต่ต่อมาเมื่อโจทก์ออกจากการเป็นลูกจ้างจำเลยและไม่ประสงค์จะอนุญาตให้จำเลยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าวต่อไป โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิทวงถามให้จำเลยคืนโปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทแก่โจทก์ได้ แต่จำเลยไม่ยอมคืนให้และยังใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ต่อไปอันมีลักษณะเป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินของโจทก์โดยมิชอบ ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย กรณีถือได้ว่าจำเลยได้ทำละเมิดต่อโจทก์ และศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438
การที่โจทก์ติดตั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทในเครื่องคอมพิวเตอร์IBMA/S400 ของจำเลยเพื่อใช้ในกิจการของจำเลยนั้น ย่อมถือได้ว่าโจทก์ยอมให้จำเลยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทของโจทก์ แม้โจทก์ได้ลาออกจากการเป็นลูกจ้างหรือพนักงานของบริษัทจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2540 ก็ตามแต่จนกระทั่งวันที่ 30 พฤศจิกายน 2542 โจทก์โดยทนายความของโจทก์จึงมีหนังสือแจ้งจำเลยให้ระงับการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทและให้คืนโปรแกรมคอมพิวเตอร์แก่โจทก์ภายในวันที่ 8 ธันวาคม 2542 เมื่อถึงกำหนดจำเลยไม่ยอมคืนให้โจทก์ ก็ต้องถือว่าจำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2542ซึ่งเป็นวันที่โจทก์จะมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยเป็นต้นไปมิใช่จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2540 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ลาออกจากการเป็นลูกจ้างบริษัทจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ระบบสินเชื่อทั้งหมดระบบตั๋วสัญญาใช้เงินทั้งหมด ระบบบัญชีทั้งหมด ระบบหลักทรัพย์ทั้งหมด ระบบหนังสือค้ำประกัน/อาวัลตั๋วเงินทั้งหมด ระบบสินทรัพย์เงินทั้งหมด ระบบเงินกู้ทั้งหมดระบบขายลดเช็ค/ตั๋วเงินทั้งหมด ซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้จำเลยใช้ราคาให้โจทก์เป็นเงิน 1,800,000 บาท และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 200,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 69 และมาตรา 74

จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยคืนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ระบบสินเชื่อ ระบบตั๋วสัญญาใช้เงิน ระบบบัญชี ระบบหลักทรัพย์ ระบบหนังสือค้ำประกัน/อาวัลตั๋วเงิน ระบบสินทรัพย์ ระบบเงินกู้ ระบบขายลดเช็ค/ตั๋วเงิน ตามคำฟ้องซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ให้แก่โจทก์ และให้จำเลยชำระเงินค่าเสียหายเป็นค่าใช้ทรัพย์เป็นเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 31 มกราคม 2543) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “… พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่าจำเลยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเมื่อวันที่ 5กันยายน 2515 ใช้ชื่อว่าบริษัทไทย-มิตซูบิชิ อินเวสต์เมนท์ จำกัด จากนั้นได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทย-มิตซูบิชิ อินเวสต์เมนต์ จำกัดแล้วเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยแคปิตอล จำกัด และในที่สุดเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2542 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทเงินทุนไทยแคปิตอล จำกัดต่อมาวันที่ 20 มีนาคม 2543 จำเลยจดทะเบียนเลิกบริษัทตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.1 โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างบริษัทจำเลยเมื่อวันที่ 1ตุลาคม 2539 ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายคอมพิวเตอร์ โจทก์ได้ติดตั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทซึ่งใช้กับงานเกี่ยวกับระบบสินเชื่อ ระบบตั๋วสัญญาใช้เงิน ระบบบัญชี ระบบหลักทรัพย์ ระบบหนังสือค้ำประกัน/อาวัลตั๋วเงิน ระบบสินทรัพย์ ระบบเงินกู้ และระบบขายลดเช็ค/ตั๋วเงินไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ IBM A/S 400 ของจำเลย เพื่อใช้ในกิจการของจำเลย ต่อมาวันที่ 1 กรกฎาคม 2540 โจทก์ลาออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลย แล้วโจทก์ขอให้จำเลยคืนโปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทดังกล่าวแต่จำเลยไม่คืนให้โจทก์

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในชั้นนี้ประการแรกว่า โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทและจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์สรุปได้ว่า โจทก์ฟ้องอ้างว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์โปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาท แต่ในชั้นพิจารณาโจทก์เบิกความเลื่อนลอยและรวบรัดว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์โปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทโดยอ้างพยานรู้เห็นเพียง 4 ปาก ซึ่งเป็นผู้คุ้นเคยกับโจทก์และเป็นปรปักษ์ต่อจำเลยอันแสดงว่าโจทก์ไม่มีความมั่นใจว่าโจทก์สร้างสรรค์งานใดขึ้น สำเร็จหรือไม่ หรือเป็นการทำซ้ำมาจากที่อื่น โจทก์ไม่สามารถนำสืบถึงพยานเอกสารหรือพยานวัตถุอื่นใดที่จะบ่งชี้ว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ตามฟ้องได้นั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ โจทก์บรรยายฟ้องยืนยันว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์โปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทนำไปติดตั้งในเครื่องคอมพิวเตอร์ IBM A/S 400 ของจำเลย ซึ่งจำเลยมิได้ให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่าโจทก์มิใช่ผู้สร้างสรรค์โปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทตามคำฟ้อง โดยจำเลยคงให้การเพียงว่าโจทก์ไม่ใช่ผู้มีลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาท หากลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าวเป็นของโจทก์ จำเลยก็มิได้ละเมิดลิขสิทธิ์ต่อโจทก์เพราะจำเลยได้นำโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นไปใช้ในงานอันเป็นธุรกิจปกติของจำเลยตามที่เป็นวัตถุประสงค์แห่งการจ้างแรงงานที่จำเลยได้จ้างโจทก์ ดังนี้ ตามคำฟ้องและคำให้การของจำเลยดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยรับว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ตามคำฟ้อง จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทที่ว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์โปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทหรือไม่ ข้อเท็จจริงในคดีจึงต้องรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์โปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทเมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสัญชาติไทยเป็นผู้สร้างสรรค์โปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทแล้ว โจทก์ย่อมเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ตนได้สร้างสรรค์ขึ้น ตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย และโจทก์สร้างสรรค์โปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทเพื่อใช้ในกิจการของจำเลยในฐานะที่โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยก็ตาม แต่ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2537 มาตรา 9 บัญญัติว่า “งานที่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้นในฐานะพนักงานหรือลูกจ้าง ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นให้ลิขสิทธิ์ในงานนั้นเป็นของผู้สร้างสรรค์ แต่นายจ้างมีสิทธินำงานนั้นออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ตามที่เป็นวัตถุประสงค์แห่งการจ้างแรงงานนั้น” ซึ่งเป็นการยืนยันอยู่ว่างานโปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นมาติดตั้งในเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลยเพื่อใช้ในกิจการของจำเลยนั้นยังเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์อยู่ เว้นแต่โจทก์ผู้เป็นลูกจ้างและจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างจะได้ทำหนังสือตกลงกันไว้ให้งานโปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทที่โจทก์สร้างสรรค์ขึ้นมานั้นตกเป็นลิขสิทธิ์ของจำเลย ซึ่งไม่ปรากฏว่าโจทก์และจำเลยได้ทำหนังสือตกลงกันไว้ดังกล่าว จึงรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาท นอกจากนี้ข้อเท็จจริงตามที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมาและจำเลยไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งยังรับฟังได้ต่อไปว่า ในระหว่างที่โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยนั้น โจทก์อนุญาตให้จำเลยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ในกิจการของจำเลย โดยปรากฏว่าโจทก์ไม่ได้คิดค่าตอบแทนในการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์นี้จากจำเลย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโจทก์เอื้อเฟื้อให้จำเลยใช้ประโยชน์จากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ดังกล่าวเนื่องจากโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยแต่ต่อมาเมื่อโจทก์ออกจากการเป็นลูกจ้างจำเลยและไม่ประสงค์จะอนุญาตให้จำเลยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าวต่อไป โจทก์ก็ย่อมมีสิทธิทวงถามให้จำเลยคืนโปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทแก่โจทก์ได้ แต่จำเลยไม่ยอมคืนให้ และยังใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ต่อไปอันมีลักษณะเป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินของโจทก์โดยมิชอบ ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย กรณีถือได้ว่าจำเลยได้ทำละเมิดต่อโจทก์ดังเช่นที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยชอบแล้วอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมาตามที่จำเลยอุทธรณ์เกี่ยวกับเรื่องค่าเสียหายว่า ทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่าจำเลยมิได้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตั้งแต่เปิดทำการจนกระทั่งขายใบอนุญาตไป แต่โจทก์กลับนำลิขสิทธิ์ในส่วนของธุรกิจหลักทรัพย์มาเรียกร้อง โดยไม่ปรากฏชัดว่าในธุรกิจเงินทุนมีค่าเสียหายเป็นจำนวนเท่าใดและธุรกิจหลักทรัพย์เป็นค่าเสียหายเท่าใด การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางคำนวณค่าเสียหายอันเกิดจากการใช้ทรัพย์ทั้งหมดรวมกันเป็นเงิน 200,000 บาท จึงคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงนั้น เห็นว่า เมื่อโปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทเป็นของโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่อนุญาตให้จำเลยใช้และเรียกให้จำเลยคืนโปรแกรมคอมพิวเตอร์แก่โจทก์แล้ว แต่จำเลยไม่ยอมคืนโปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทให้โจทก์ ก็ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยได้ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทที่ติดตั้งอยู่ในคอมพิวเตอร์ IBM A/S 400 ของจำเลยนั้นในกิจการของจำเลยในธุรกิจใดหรือไม่ ส่วนโจทก์จะได้รับค่าเสียหายเพียงใดนั้นแม้โจทก์จะนำสืบไม่ได้แน่ชัดว่าได้รับความเสียหายอย่างใดและเป็นเงินเท่าใดก็ตามแต่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 ให้ศาลเป็นผู้กำหนดค่าเสียหายตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด ที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยนับแต่วันที่โจทก์ได้ลาออกจากการเป็นพนักงานบริษัทจำเลยเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2540 และไม่ยินยอมให้จำเลยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทเป็นต้นมาถึงวันฟ้องเป็นเวลา 2 ปี6 เดือน เป็นเงิน 200,000 บาท และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดให้จำเลยรับผิดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์200,000 บาท ตามคำฟ้องนั้น เห็นว่า การที่โจทก์ติดตั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทในเครื่องคอมพิวเตอร์ IBM A/S 400 ของจำเลยเพื่อใช้ในกิจการของจำเลยนั้น ย่อมถือได้ว่าโจทก์ยอมให้จำเลยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทของโจทก์ แม้โจทก์ได้ลาออกจากการเป็นลูกจ้างหรือพนักงานของบริษัทจำเลยตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2540 ก็ตามแต่ทางนำสืบของโจทก์ที่โจทก์เบิกความว่า โจทก์ได้บอกแก่นายนิกร พรสาธิต กรรมการบริษัทจำเลยในขณะนั้นให้คืนโปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทตั้งแต่ขณะที่โจทก์ลาออกจากการเป็นลูกจ้างจำเลยนั้น ก็เป็นการเบิกความลอย ๆ ของโจทก์ ไม่มีพยานหลักฐานใดสนับสนุนให้รับฟังแน่นอนเช่นนั้น จนกระทั่งวันที่ 30พฤศจิกายน 2542 โจทก์โดยทนายความของโจทก์จึงมีหนังสือแจ้งจำเลยให้ระงับการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทและให้คืนโปรแกรมคอมพิวเตอร์แก่โจทก์ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่จำเลยได้รับหนังสือฉบับดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.3 ซึ่งจำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2542ตามเอกสารหมาย จ.4 จำเลยจึงต้องคืนโปรแกรมคอมพิวเตอร์พิพาทให้โจทก์ภายในวันที่ 8 ธันวาคม 2542 เมื่อถึงกำหนดจำเลยไม่ยอมคืนให้แก่โจทก์ ก็ต้องถือว่าจำเลยได้ทำละเมิดต่อโจทก์เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม2542 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์จะมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยเป็นต้นไปมิใช่จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2540 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ลาออกจากการเป็นลูกจ้างบริษัทจำเลยตามที่โจทก์ฟ้องดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัย เมื่อตามคำฟ้องโจทก์เรียกค่าเสียหายถึงวันฟ้อง ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิรับค่าเสียหายตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2542 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยละเมิดต่อโจทก์ถึงวันฟ้องคือวันที่ 31 มกราคม 2543 เป็นเวลา 1 เดือน 23 วัน เท่านั้นจึงเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 20,000 บาท อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”

พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะค่าเสียหายเป็นค่าใช้ทรัพย์ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 20,000 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง

Share