คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9060/2539

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์ฟ้องผู้ร้องสอดเป็นจำเลยขอไถ่ถอนจำนองที่ดิน ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่ามีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปีโจทก์ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินให้แก่ผู้ร้องสอดและได้มอบสิทธิครอบครองให้แก่ผู้ร้องสอดโดยสัญญาว่าจะไปจดทะเบียนการโอนให้เมื่อพ้นระยะเวลาห้ามโอน และเพื่อเป็นหลักประกันโจทก์ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินไว้แก่ผู้ร้องสอดสัญญาจะซื้อขายจึงขัดต่อกฎหมายเป็นโมฆะ ส่วนสัญญาจำนองมีผลบังคับได้ ผู้ร้องสอดครอบครองในฐานะผู้รับจำนองโดยอาศัยสิทธิของโจทก์ จึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดิน โจทก์มีสิทธิไถ่ถอนจำนองได้ สำหรับคดีนี้ผู้ร้องสอดอ้างว่าโจทก์ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ร้องสอดแต่เนื่องจากมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี โจทก์จึงจดทะเบียนจำนองไว้แก่ผู้ร้องสอด โจทก์ได้สละสิทธิและส่งมอบการครอบครองให้แก่ผู้ร้องสอดแล้วผู้ร้องสอดจึงได้สิทธิครอบครองที่ดินคดีทั้งสองโจทก์กับผู้ร้องสอดเป็นคู่ความเดียวกัน ประเด็นที่จะวินิจฉัยในคดีนี้มีว่า ผู้ร้องสอดเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินหรือไม่ ส่วนคดีก่อนแม้ประเด็นจะมีว่า โจทก์มีสิทธิไถ่ถอนจำนองที่ดินหรือไม่ แต่การที่จะวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวได้ก็จะต้องวินิจฉัยในประเด็นที่ว่าผู้ร้องสอดมีสิทธิครอบครองที่ดินหรือไม่เสียก่อนการดำเนินกระบวนพิจารณาของผู้ร้องสอดในคดีนี้จึงซ้ำกับประเด็นที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไว้แล้ว ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 144 ปัญหาที่ว่าผู้ร้องสอดดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 หรือไม่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้คู่ความจะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจยกปัญหาข้อนี้ขึ้นวินิจฉัยได้ตามมาตรา 142(5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 277 เมื่อประมาณต้นปี 2528 โจทก์ให้จำเลยและบริวารอาศัยทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ต่อมาโจทก์ประสงค์จะใช้ที่ดินพิพาททำประโยชน์ จึงบอกกล่าวให้จำเลยส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้จำเลยส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ และให้จำเลยพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นเพียงผู้มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) แต่ไม่ใช่เจ้าของผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท เพราะโจทก์ได้สละสิทธิการครอบครองที่ดินพิพาทและจำเลยได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2528 โดยเจตนายึดถือเพื่อตน จำเลยจึงมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความ โดยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องสอด เนื่องจากเมื่อวันที่26 กรกฎาคม 2521 โจทก์สละสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและผู้ร้องสอดได้เข้ายึดถือที่ดินพิพาทโดยเจตนาเป็นเจ้าของผู้ร้องสอดจึงได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์ไม่เคยให้จำเลยอาศัยในที่ดินพิพาท โจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริตโดยสมยอมกับจำเลยเพื่อจะให้ที่ดินตกเป็นของโจทก์หรือจำเลยแล้วนำไปขายให้ผู้อื่น ขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามโจทก์จำเลยและบริวารเข้าไปรบกวนสิทธิครอบครองของผู้ร้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้าเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 57(1)
โจทก์ให้การแก้คำร้องสอดว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโจทก์ไม่เคยสละสิทธิครอบครองให้แก่ผู้ร้องสอด เมื่อปี 2521โจทก์มีความประสงค์ที่จะใช้เงินจึงได้นำที่ดินพิพาทไปทำสัญญาจะซื้อขายให้แก่ผู้ร้องสอด แต่เมื่อไปติดต่อที่สำนักงานที่ดินอำเภอบางคล้าเจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่าสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆะ เนื่องจากที่พิพาทอยู่ในช่วงระยะเวลาที่ห้ามโอนตามประมวลกฎหมายที่ดิน โจทก์และผู้ร้องสอดจึงตกลงยกเลิกสัญญาดังกล่าวและเปลี่ยนเป็นจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้แก่ผู้ร้องสอดแทนโจทก์เคยติดต่อขอไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจากผู้ร้องสอด แต่ผู้ร้องสอดเพิกเฉย ผู้ร้องสอดไม่เคยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ผู้ร้องสอดจึงไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้องสอด
จำเลยให้การแก้คำร้องสอดว่า ผู้ร้องสอดมิได้เป็นเจ้าของและมิได้มีการครอบครองที่ดินพิพาท ช่วงเวลาที่ผู้ร้องสอดอ้างว่าเข้าถือครองยังเป็นช่วงเวลาที่กฎหมายกำหนดห้ามโอนที่ดินพิพาทหากมีการครอบครองจริงย่อมว่าเป็นการครอบครองแทนโจทก์ นอกจากนี้การแสดงสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามที่ผู้ร้องสอดบรรยายไว้ยังเป็นการกล่าวอ้างสิทธิในฐานะผู้รับจำนองที่ดินพิพาทที่ถือเอาเหตุที่ที่ดินพิพาทหลุดจำนองเป็นการได้สิทธิครอบครองโดยมิได้มีการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จึงไม่ได้สิทธิครอบครองตามกฎหมาย ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้องสอด
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ผู้ร้องสอดมีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 277ตำบลแปลงยาว อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เนื้อที่ 36 ไร่ 1 งาน 43 ตารางวา ห้ามจำเลยและบริวารเข้าไปรบกวนสิทธิครอบครองของผู้ร้องสอด ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 277ตำบลแปลงยาว อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา ห้ามจำเลยพร้อมบริวารเข้าไปเกี่ยวข้อง ยกคำร้องของผู้ร้องสอด
ผู้ร้องสอดฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องสอดข้อแรกว่า ผู้ร้องสอดดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 205/2534 คดีแพ่งหมายเลขแดงที่621/2536 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยพยานหลักฐานนอกสำนวนหรือไม่ เห็นว่า ปัญหาแรกข้อเท็จจริงได้ความว่า ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 621/2536 ของศาลชั้นต้นโจทก์ฟ้องผู้ร้องสอดเป็นจำเลย ขอไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปีโจทก์ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดและได้มอบสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดโดยสัญญาว่าจะไปจดทะเบียนการโอนให้เมื่อพ้นระยะเวลาห้ามโอน และเพื่อเป็นหลักประกัน โจทก์ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้แก่ผู้ร้องสอดสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงขัดต่อกฎหมายเป็นโมฆะส่วนสัญญาจำนองมีผลบังคับได้ ผู้ร้องสอดครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะผู้รับจำนองโดยอาศัยสิทธิของโจทก์ ผู้ร้องสอดไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์มีสิทธิไถ่ถอนจำนองได้ สำหรับคดีนี้ผู้ร้องสอดนำสืบว่าโจทก์ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดแต่เนื่องจากที่ดินพิพาทมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน10 ปี โจทก์จึงจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้แก่ผู้ร้องสอดโจทก์ได้สละสิทธิการครอบครองและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องสอดแล้วผู้ร้องสอดจึงได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทจะเห็นได้ว่าคดีนี้กับคดีแพ่งดังกล่าว โจทก์กับผู้ร้องสอดเป็นคู่ความเดียวกัน ประเด็นที่จะวินิจฉัยชี้ขาดในคดีนี้มีว่าผู้ร้องสอดเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ส่วนคดีแพ่งดังกล่าวแม้ประเด็นข้อพิพาทจะมีว่า โจทก์มีสิทธิไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทหรือไม่ แต่การที่จะวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวได้ก็จะต้องวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นที่ว่าผู้ร้องสอดเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่เสียก่อน ดังนั้นการดำเนินกระบวนพิจารณาของผู้ร้องสอดในคดีนี้จึงซ้ำกับประเด็นที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดไว้แล้วในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 621/2536 ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 และเนื่องจากปัญหาที่ว่าผู้ร้องสอดดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 หรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความจะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นก็ตามศาลอุทธรณ์ภาค 1 ก็มีอำนาจยกปัญหาข้อนี้ขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยจึงไม่ขัดต่อกฎหมาย”
พิพากษายืน

Share