แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในคดีอุกฉกรรจ์มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไปนั้น ก่อนเริ่มพิจารณาศาลจะต้องถามจำเลยว่ามีทนายหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการ ศาลก็ต้องตั้งให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 แม้คดีนั้นต่อมาชั้นพิจารณาจำเลยจะให้การรับสารภาพตามฟ้อง และศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 ได้ก็ตาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2506 เวลากลางวัน จำเลยกับพวก 18 คนออกไล่ยิงหมูป่า โดยจำเลยกับนายมีผู้ตายกับพวกรวม 8 คน มีอาวุธปืนคนละ 1 กระบอกอยู่เฝ้าล้อมดงผาเวอคอยยิงหมูป่า ส่วนพวกที่เหลือคอยตามรอยต้อนหมูป่าให้ออกจากดงผาเวอจำเลยกระทำการโดยประมาทปราศจากความระมัดระวังได้ยินเสียงเหมือนหมูป่าเหยียบไม้มาทางจำเลย และจำเลยมองเห็นหมูป่ากำลังลอดไม้มาทางจำเลย ๆ จึงใช้อาวุธปืนยิงไป 1 นัด ปรากฏว่ากระสุนปืนถูกนายมีถึงแก่ความตาย เหตุเกิดตำบลมาย อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนครขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ริบปืนของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง และขอให้ศาลลงโทษในสถานเบาหากจะลงโทษจำคุกก็ขอให้รอการลงโทษ โจทก์จำเลยต่างไม่สืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291วางโทษจำคุก 4 ปี จำเลยรับสารภาพ บรรเทาโทษให้กึ่งหนึ่งตาม มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษเพียงปรับ หรือวางโทษจำคุกต่ำกว่าที่ศาลชั้นต้นกำหนดและรอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์ปรึกษาว่า ฟ้องของโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกถึง 10 ปีและตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายหรือไม่ ถ้าไม่มีให้ศาลตั้งให้คดีนี้ศาลชั้นต้นมิได้สอบถาม กระบวนพิจารณาที่ศาลชั้นต้นปฏิบัติมาจึงไม่ถูกต้อง สมควรให้ศาลชั้นต้นปฏิบัติเสียให้ถูกต้อง จึงพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
โจทก์ฎีกาในปัญหาว่า คดีนี้ ศาลจำต้องสอบถามจำเลยในเรื่องทนายหรือไม่
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ แม้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2499 ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปได้ก็ตาม แต่โจทก์จะอ้างว่า เมื่อไม่ต้องมีการสืบพยาน ซึ่งจะไม่มีการซักค้านพยานกันต่อไปแล้ว ศาลก็ไม่จำต้องถามจำเลยเรื่องทนายความตามมาตรา 173 นั้นหาได้ไม่เพราะมาตรา 173 ที่บัญญัติว่า “ในคดีอุกฉกรรจ์ มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไป ฯลฯ ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการก็ให้ศาลตั้งทนายให้” มิได้ถูกแก้ไขด้วยประการใด ยังใช้บังคับอยู่ตามเดิม มาตรา 176 ที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่ก็มิได้ยกเว้น การปฏิบัติตามมาตรา 173 นี้ ทั้งการปฏิบัติตามมาตรา 173 ย่อมเป็นผลดีแก่จำเลยที่จะได้มีทนายความดำเนินคดีรักษาประโยชน์ของจำเลยมาแต่ต้น เป็นคนละส่วนกับการพิพากษาคดีของศาล เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกได้ถึงสิบปี เข้าตาม มาตรา 173 ก็ไม่มีเหตุอันใดที่ศาลจะไม่ต้องสอบถามจำเลยเรื่องทนาย ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีชอบแล้ว
พิพากษายืน