คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 905/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ที่จำเลยฎีกาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารมิใช่ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปจากผู้ปกครองเพื่อการอนาจาร นั้น เมื่อฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่าจำเลยพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจาร อันเป็นองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 284 วรรคแรก แม้โจทก์จะมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 284 วรรคแรก ซึ่งเป็นเรื่องที่โจทก์มิได้กล่าวมาในฟ้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ย่อมไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้ จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
แม้ทางพิจารณาจะได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปจากผู้ปกครองเพื่อการอนาจาร ตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม 5 กรรม ก็ตาม แต่โจทก์บรรยายฟ้องโดยไม่มีรายละเอียดให้เห็นว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษทุกกรรม ศาลจะลงโทษจำเลยในแต่ละกรรมนอกเหนือจากคำฟ้องและคำขอของโจทก์ไม่ได้ จึงลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม กรรมเดียว ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 9 กรกฎาคม 2547 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ 5 สิงหาคม 2547 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยพรากเด็กหญิง ป. ผู้เสียหายที่ 1 อายุ 14 ปี ไปเสียจาก ก. ผู้เสียหายที่ 2 ผู้ปกครองเพื่อการอนาจาร วันที่ 9 กรกฎาคม 2547 วันที่ 18 กรกฎาคม 2547 วันที่ 29 กรกฎาคม 2547 วันที่ 3 สิงหาคม 2547 และวันที่ 4 สิงหาคม 2547 เวลากลางคืนก่อนเที่ยงและเวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยกอดปล้ำและกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 1 จนสำเร็จความใคร่ โดยผู้เสียหายที่ 1 ยินยอม เหตุเกิดที่ตำบลท่าตำหนัก อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277, 279, 284, 317
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก, 279 วรรคแรก, 284 วรรคแรก, 317 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตนกับฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาตน ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 4 ปี รวม 5 กระทง เป็นจำคุก 20 ปี ฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารกับฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปจากผู้ปกครองเพื่อการอนาจารเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปจากผู้ปกครองเพื่อการอนาจาร ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 5 กระทง เป็นจำคุก 25 ปี รวมจำคุก 45 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 22 ปี 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับบทลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 วรรคแรก สำหรับโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า การกระทำความผิดของจำเลยฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตนโดยเด็กหญิงนั้นยินยอมกับความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปจากผู้ปกครองเพื่อการอนาจารไม่เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน และขอให้ลงโทษสถานเบานั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งมิใช่ภริยาของตน กระทงละ 2 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปจากผู้ปกครองเพื่อการอนาจารกระทงละ 2 ปี 6 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้โดยไม่ปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 วรรคแรก เป็นการแก้ไขเล็กน้อย และยังคงลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกาว่า โจทก์มีผู้เสียหายที่ 1 เพียงปากเดียวที่เบิกความยืนยันว่า จำเลยกระทำความผิดหลายกรรม นอกจากการกระทำในวันที่ 4 สิงหาคม 2547 เท่านั้นที่โจทก์มีผู้เสียหายที่ 2 พบเห็นการกระทำความผิด การกระทำครั้งอื่นๆ น่าจะมีรายละเอียดเหตุการณ์มากกว่านี้พอที่จะฟังได้ว่ามีการกระทำความผิด กับขอให้ลงโทษสถานเบา ฎีกาของจำเลยเป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลและดุลพินิจในการลงโทษ อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายและฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าวศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ที่จำเลยฎีกาว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจารมิใช่ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปจากผู้ปกครองเพื่อการอนาจาร นั้น เห็นว่า เมื่อฟ้องโจทก์มิได้บรรยายว่าจำเลยพาผู้อื่นไปเพื่อการอนาจาร อันเป็นองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 วรรคแรก แม้โจทก์จะมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 วรรคแรก ซึ่งเป็นเรื่องที่โจทก์มิได้กล่าวมาในฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ย่อมไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้ จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
อนึ่งแม้ทางพิจารณาจะได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปจากผู้ปกครองเพื่อการอนาจาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม 5 กรรม ก็ตาม แต่โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 9 กรกฎาคม 2547 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่ 5 สิงหาคม 2547 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยพรากเด็กหญิง ป. ผู้เสียหายที่ 1 อายุ 14 ปี ไปเสียจาก ก. ผู้เสียหายที่ 2 ผู้ปกครองไปเพื่อการอนาจาร โดยไม่มีรายละเอียดให้เห็นว่า โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษทุกกรรม ดังนั้น ศาลจะลงโทษจำเลยในแต่ละกรรมนอกเหนือจากคำฟ้องและคำขอของโจทก์ไม่ได้ จึงลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม กรรมเดียว ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม กรรมเดียว จำคุก 5 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานอื่นแล้วเป็นจำคุก 12 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาอุทธรณ์ภาค 7

Share