คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2256/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และจำเลยที่ 1 ต่างลงชื่อในบันทึกข้อตกลงว่าเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินแปลงใหญ่ และได้มาจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมออกจากกันเป็นคนละ 1 แปลง แต่ยังไม่ได้จดภาระจำยอมทางเดินเข้าออกเนื่องจากยังไม่มีโฉนดทุกคนทราบว่าทางเดินกว้าง 6 เมตร และจะมาจดภาระจำยอมเรื่องทางเดินผ่านเมื่อได้รับโฉนดที่แบ่งแยกใหม่แล้ว ดังนี้ เมื่อทุกคนต่างได้รับโฉนดที่แบ่งแยกใหม่แล้วจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อตกลง แม้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จะขายที่ดินแปลงของตนให้โจทก์ที่ 5 และที่ 6 และโจทก์ที่ 4 จะยกที่ดินแปลงของตนให้โจทก์ที่ 7 ซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริงไปแล้วก่อนฟ้อง โจทก์ทั้งเจ็ดโดยอาศัยสิทธิซึ่งกันและกันก็มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ปฏิบัติตามข้อตกลงได้.
การที่จำเลยที่ 1 ยกที่ดินแปลงของตนให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นบุตรของตนและอาศัยอยู่กับตนโดยเสน่หา ทั้งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้ทราบว่าจำเลยที่ 1ต้องจดทะเบียนทางภาระจำยอมมาตั้งแต่แรก โดยไม่ปรากฏว่ามีเหตุจำเป็นที่ต้องรีบโอนให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4ก่อนจดทะเบียนภาระจำยอมเป็นพฤติการณ์ที่แสดงว่า ทั้งผู้ยกให้และผู้รับยกให้ต่างทราบดีว่าเป็นทางให้โจทก์เจ้าของที่ดินแปลงข้างในเสียเปรียบ เป็นการฉ้อฉลตามป.พ.พ. มาตรา 237 โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการยกให้ได้.
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการให้เพื่อให้ได้มาซึ่งทางภาระจำยอมเท่านั้น มิใช่ให้โอนที่ดินพิพาทมาเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ การบังคับให้เพิกถอนการให้จึงไม่จำเป็นแก่การบังคับเพื่อประโยชน์ของโจทก์ ทั้งโจทก์ก็มีคำขอให้จำเลยที่ 1 ผู้ยกให้หรือจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ผู้รับการยกให้ที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนภาระจำยอมมาด้วย ศาลจึงพิพากษาให้เฉพาะจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไปจดทะเบียนทางภาระจำยอมในที่ดินของตนได้โดยไม่จำต้องเพิกถอนการให้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมที่ดินแปลงที่ 1 โฉนดเลขที่ 59822 แปลงที่2 โฉนดเลขที่ 59823 แปลงที่ 3 โฉนดเลขที่ 59824 แปลงที่ 4 โฉนดเลขที่ 59825 และแปลงที่ 5 โฉนดเลขที่ 249 รวมอยู่ในโฉนดเดียวกันซึ่งเป็นของโจทก์ที่ 4 ต่อมาโจทก์ที่ 4 จดทะเบียนให้โจทก์ที่ 1ที่ 2 ที่ 3 และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับโจทก์ที่ 4 คนละส่วนเท่า ๆ กัน และต่อมาได้แบ่งแยกกรรมสิทธิ์กัน จำเลยที่ 1 ได้ที่ดินแปลงที่ 1 ส่วนโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ได้แปลงที่ 2ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ตามลำดับ เดิมก่อนแบ่งเป็น 5 แปลงมีเฉพาะด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้เท่านั้นที่อยู่ติดทางสาธารณะเมื่อแบ่งแยกแล้วที่ดินแปลงที่ 1 จึงติดทางสาธารณะ ที่ดินแปลงอื่นไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ แต่ก่อนแบ่งแยกเจ้าของรวมต่างทำบันทึกกันให้จดทะเบียนภาระจำยอมมีความกว้าง 6 เมตร ผ่านออกสู่ทางสาธารณะได้ทุกแปลงและกำหนดจะไปจดทะเบียนกันเมื่อได้รับโฉนดใหม่ แต่ระหว่างนัดไปจดทะเบียนภาระจำยอม โจทก์ที่ 1 ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 5 โจทก์ที่ 2 โอนให้แก่โจทก์ที่ 6 ส่วนโจทก์ที่ 4 โอนให้แก่โจทก์ที่ 7 โดยผู้รับโอนทุกคนยอมผูกพันตามข้อตกลงดังกล่าวต่อมาเมื่อจะไปจดทะเบียนภาระจำยอมตามข้อตกลงไม่สามารถจะกระทำได้เพราะจำเลยที่ 1 จดทะเบียนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2ที่ 3 ที่ 4 บุตรของตนโดยเสน่หา และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ได้ทราบถึงข้อตกลงดังกล่าวด้วยแต่ไม่ยอมปฏิบัติตามข้อตกลง ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการยกที่ดินโฉนดเลขที่ 59822 ระหว่างจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และบังคับให้จำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่2 ที่ 3 ที่ 4 จดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินโฉนดดังกล่าวให้เป็นภารยทรัพย์แก่ที่ดินโฉนดที่ 59823, 59824, 59825, 249 โดยกำหนดให้ทางภาระจำยอมมีความกว้าง 6 เมตร หากไม่ปฏิบัติตามให้จำเลยทั้งสี่ส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวต่อศาลใน 7 วัน และให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 ไปแล้ว และโจทก์ที่ 5 ที่ 6ที่ 7 มิใช่คู่สัญญาของจำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5ที่ 6 ที่ 7 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 ยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 โดยสุจริต และไม่เป็นที่เสียหายแก่โจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนจำเลยที่ 1 ไม่เคยตกลงให้แบ่งแยกที่ดินเป็นทางเดินกว้าง 6 เมตร ตามฟ้อง บริเวณที่พิพาทมีคนอื่นเข้าออกเป็นทางสาธารณะกว้าง 5 เมตรเศษ เป็นเวลานานจนทุกวันนี้ ไม่มีความจำเป็นต้องกำหนดทางเดินพิพาทให้กว้างถึง 6 เมตร ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 จดทะเบียนภาระจำยอมที่ดินโฉนดเลขที่ 59822 กว้าง 1 เมตร จากแนวเขตที่ดินด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ยาวตลอดแนวที่ดินให้แก่ที่ดินโฉนดเลขที่59825 ของโจทก์ที่ 3 หากไม่ปฏิบัติตามก็ให้โจทก์ที่ 3 จดเองได้โดยให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4คำขออื่นและฟ้องของโจทก์ที่ 3 เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ให้ยก
โจทก์ทั้งเจ็ดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4เปิดทางจำเป็นกว้าง 1 เมตร ตามแนวภาระจำยอมแก่โจทก์ที่ 5 ที่ 6ที่ 7 โดยโจทก์ที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 ไม่ต้องเสียค่าทดแทน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งเจ็ดฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ทั้งเจ็ดมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสี่จดทะเบียนทางภาระจำยอมกว้าง 6 เมตร ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.9 นั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยก่อนว่าเอกสารหมาย จ.9 ได้มีการตกลงให้เปิดทางเดินเป็นภาระจำยอมกว้าง 6 เมตร ทุกแปลงจริงหรือไม่…ศาลฎีกาเชื่อว่าเมื่อได้ตกลงกันเรียบร้อยทั้งเรื่องการจ่ายเงินค่าที่ดินส่วนที่นางชุมศรีได้เกินส่วนของตนไปและในเรื่องใครจะได้ที่ดินแปลงใดรวมทั้งเรื่องทางเดินเข้าออกกว้าง 6 เมตรแล้ว ทั้งสองฝ่ายจึงได้ไปยืนยันให้เจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนแบ่งแยกให้ในวันที่ 20ตุลาคม 2524 ดังที่ปรากฏในสารบัญจดทะเบียนโฉนดเอกสารหมาย จ.7 ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้โฉนดเอกสารหมาย จ.1 โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ได้โฉนดเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.4 และ จ.7 ตามลำดับ ต่อมาวันที่ 24 ตุลาคม2524 โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จึงได้ทำสัญญาขายที่ดินและจดทะเบียนภาระจำยอมให้แก่นายมนต์ชัย กอจรัญจิตต์ ตามเอกสารหมาย จ.12 ซึ่งมีแผนที่สังเขปแสดงทางภาระจำยอมพร้อมบันทึกและแผนที่การแบ่งแยกแนบท้ายสัญญาด้วย ต่อมาวันที่ 20 เมษายน 2525 จึงได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กันแต่ได้โอนใส่ชื่อโจทก์ที่ 5 และโจทก์ที่ 6 เป็นผู้ซื้อตามลำดับ ส่วนโจทก์ที่ 4 ก็จดทะเบียนยกให้โจทก์ที่ 7 เมื่อเดือนเมษายน 2525 ต่อมาวันที่ 29 เมษายน 2526 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนยกให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นบุตร โดยยังมิได้มีการจดทะเบียนทางภาระจำยอมตามเอกสารหมาย จ.9 ปัญหาว่าโจทก์ทั้งเจ็ดมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสี่ไปจดทะเบียนทางภาระจำยอมให้กว้าง 6 เมตรตามฟ้องได้หรือไม่ เห็นว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3ที่ 4 และจำเลยที่ 1 ต่างได้ลงชื่อในบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.9ซึ่งมีข้อความว่า ข้าพเจ้าผู้มีนามดังต่อไปนี้ 1.เรือเอกสุพรสำเริงเรือง แปลงที่ 1 หมายเลข 4294 2.จ่าสิบเอกสุนทร สำเริงเรืองแปลงที่ 2 หมายเลข 4295 3.นางวรรณภา แก่นโกมล แปลงที่ 3 หมายเลข4296 4.จ่าสิบเอกสุพิชญ์ สำเริงเรือง แปลงที่ 4 หมายเลข 42975.นางผัน สำเริงเรือง แปลงที่ 5 หมายเลข 86 ขอให้ถ้อยคำว่า ข้าพเจ้าเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินหมายเลข (ที่ถูกเป็นโฉนดที่) 249 เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ร่วมกัน วันที่ 20 ตุลาคม 2524 ได้มาจดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมออกจากกันเป็นคนละ 1 แปลง แต่ยังไม่ได้จดภาระจำยอมทางเดินเข้าออก เนื่องจากยังไม่มีโฉนดต้องให้อธิบดีลงนามโฉนดใหม่ ข้าพเจ้าทุกคนทราบทางเดินเข้าออกร่วมกว้าง 6 เมตรจึงขอทำสัญญาไว้กันเองว่าเมื่อได้รับโฉนดแบ่งแยกใหม่เสร็จ ข้าพเจ้าทุกคนจะมาจดภาระจำยอมเรื่องทางเดินผ่านกันทุก ๆ แปลง ข้าพเจ้าทุกคนทราบแล้วไม่ขัดข้อง ฯลฯ แสดงว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 กับจำเลยที่ 1 ทุกคนต่างเป็นคู่สัญญากันว่าจะจดทะเบียนทางภาระจำยอมกว้าง6 เมตร ผ่านที่ดินของทุกคนเพื่อเป็นทางเข้าออก เมื่อได้รับโฉนดที่แบ่งแยกใหม่แล้ว ต้องมีหน้าที่ปฏิบัติตามข้อตกลงไปจดทะเบียนภาระจำยอมให้มีทางเดินกว้าง 6 เมตร ในที่ดินของตนที่ได้รับเพื่อเป็นทางผ่านเข้าออกตั้งแต่แปลงที่ 1 ถึงแปลงที่ 5 ทุกแปลงแม้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จะได้ขายที่แปลงของตนให้โจทก์ที่ 5 และที่ 6และโจทก์ที่ 4 จะโอนยกที่ดินแปลงที่ 5 ให้โจทก์ที่ 7 ซึ่งเป็นเจ้าของที่แท้จริงไปแล้วก่อนฟ้อง โจทก์ทั้งเจ็ดโดยอาศัยสิทธิซึ่งกันและกันก็มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามข้อตกลงตามเอกสารหมาย จ.9 ได้ แม้จำเลยที่ 1 ได้โอนยกที่ดินแปลงของตนให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ไปแล้วก่อนถูกฟ้องก็ได้ความว่า จำเลยที่ 2ที่ 3 ที่ 4 เป็นบุตรจำเลยที่ 1 และยังอาศัยอยู่กับจำเลยที่ 1ทั้งได้ทราบถึงการที่จำเลยที่ 1 ต้องจดทะเบียนภาระจำยอมดังกล่าวมาแต่แรก พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินแปลงที่ 1 ของตนให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 โดยเสน่หา โดยที่จำเลยที่ 4 ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ไม่ปรากฏเหตุจำเป็นที่ต้องรีบโอนให้ก่อนจดทะเบียนทางภาระจำยอม โดยจำเลยที่ 1 จะรอให้จดทะเบียนทางภาระจำยอมให้เรียบร้อยก่อนจึงจดทะเบียนโอนให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ในภายหลังก็ได้ ศาลฎีกาเชื่อว่าทั้งจำเลยที่ 1 ผู้ยกให้และจำเลยที่ 2 ที่ 3ที่ 4 ผู้รับยกให้ต่างทราบดีว่าเป็นทางให้โจทก์ที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 7เจ้าของที่ดินแปลงข้างในเสียเปรียบ เป็นการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 โจทก์ทั้งเจ็ดจึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการยกให้ดังกล่าวนี้ได้ อย่างไรก็ดีศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์ทั้งเจ็ดขอให้เพิกถอนการให้ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ก็เพื่อให้ได้มาซึ่งทางภาระจำยอมมาด้วยจึงเห็นสมควรให้เฉพาะจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ไปจดทะเบียนทางภาระจำยอมในที่ดินของตนเพื่อให้เป็นทางเข้าออกแก่ที่ดินแปลงที่อยู่ด้านในของโจทก์ที่ 3 ที่ 5 ถึงที่ 7 โดยไม่จำต้องเพิกถอนการให้ และปรากฏว่าที่ดินทั้งห้าแปลงนี้ได้มีบุคคลอื่นตัดถนนล้ำเข้ามาในเขตที่ดินทั้งห้าแปลงนี้ก่อนแล้วมีความกว้างประมาณ 1 เมตรเศษดังนั้นการจดทะเบียนทางภาระจำยอมมีความกว้าง 6 เมตร ของแต่ละแปลงนี้ให้รวมถึงส่วนที่ถูกบุคคลอื่นตัดถนนล้ำเข้ามาด้วย ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เปิดทางจำเป็นกว้าง 1 เมตรแก่โจทก์ที่ 5 ที่ 6 ที่ 7และให้เปิดทางภาระจำยอมให้โจทก์ที่ 3 กว้าง 1 เมตร ยกฟ้องโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 นั้น ยังไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 จดทะเบียนทางภาระจำยอมที่ดินโฉนดที่ 59822 เลขที่ดิน 4294 แขวงบางขุนเทียนเขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร กว้าง 6 เมตร จากแนวเขตที่ดินด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ยาวตลอดแนวที่ดิน ถ้าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยดังกล่าวให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1

Share