คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 824/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 1 โดยอาศัยมูลหนี้ที่ ต. ได้นำรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ไปจอดในบริเวณโรงแรมของจำเลยที่ 1 แล้วเข้าพักในโรงแรม ต่อมารถยนต์คันดังกล่าวหายไป จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าสำนักโรงแรมต้องรับผิดในความสูญหายของรถยนต์ที่ผู้พักอาศัยพามาจึงเป็นการฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าสำนักโรงแรมรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใดๆ อันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัยหากได้พามาตาม ป.พ.พ. มาตรา 674 ซึ่งการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีนี้มีอายุความ 6 เดือน นับแต่วันที่คนเดินทางหรือแขกอาศัยออกไปจากสถานที่นั้นตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 678 แม้โจทก์จะอ้างคำฟ้องว่าลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 1 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาและมีคำขอให้คืนรถยนต์แต่โจทก์ก็ขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะเจ้าสำนักโรงแรมเท่านั้น จึงไม่ใช่เป็นการฟ้องในมูลละเมิดที่มีอายุความ 1 ปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันคืนรถยนต์แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ร่วมกันชำระเงิน 190,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าโจทก์เป็นผู้รับประกันรถยนต์หมายเลขทะเบียน ค – 7908 ชลบุรี เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2540 เวลา 0.03 นาฬิกา ในระหว่างอายุสัญญาประกันภัย นางสาวตติยา คำแดง ได้ขับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ไปจอดบริเวณที่จอดรถภายในโรงแรมสวัสดีเพลซของจำเลยที่ 1 ต่อมาวันเดียวกัน เวลา 8 นาฬิกา พบว่ารถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยสูญหายไป โจทก์ผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้วเป็นเงิน 190,000 บาท และคดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ขาดอายุความหรือไม่ คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 1 โดยอาศัยมูลหนี้ที่นางสาวตติยาได้นำรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ไปจอดในบริเวณโรงแรมของจำเลยที่ 1 แล้วเข้าพักโรงแรม ต่อมารถยนต์คันดังกล่าวหายไป จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าสำนักโรงแรม ต้องรับผิดในความสูญหายของรถยนต์ที่ผู้พักอาศัยพามาจึงเป็นการฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าสำนักโรงแรมรับผิดเพื่อความสูญหายหรือบุบสลายอย่างใดๆ อันเกิดแก่ทรัพย์สินซึ่งคนเดินทางหรือแขกอาศัยหากได้พามาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 674 ซึ่งการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนในกรณีนี้มีอายุความ 6 เดือน นับแต่วันที่คนเดินทางหรือแขกอาศัยออกไปจากสถานที่นั้น ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 678 แม้โจทก์จะอ้างคำฟ้องว่า ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 1 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาและมีคำขอให้คืนรถยนต์แต่โจทก์ก็ขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะเจ้าสำนักโรงแรมเท่านั้น จึงไม่ใช่เป็นการฟ้องในมูลละเมิดที่มีอายุความ 1 ปี ดังที่โจทก์ฎีกา เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า เหตุรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยสูญหาย เกิดขึ้นวันที่ 2 สิงหาคม 2540 หลังเกิดเหตุนางสาวตติยา ผู้นำรถคันที่สูญหายเข้าพักโรงแรมได้ออกจากโรงแรมของจำเลยที่ 1 ในวันเดียวกัน โจทก์รับช่วงสิทธิจากผู้เอาประกันภัยตามบทบัญญัติ มาตรา 880 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อความสูญหายของรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้จากจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2541 เกินกำหนด 6 เดือนนับแต่นางสาวตติยาคนเดินทางหรือแขกอาศัยได้ออกจากโรงแรมของจำเลยที่ 1 แล้ว คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน จำเลยที่ 1 ไม่แก้ฎีกาจึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้

Share