คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 602/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างฝ่าฝืนระเบียบการทำงานของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างโดยนำเงินค่าธรรมเนียมรถ และค่าตั๋วรถโดยสารซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของโจทก์จำนวน 2,512 บาท เข้าฝากธนาคารล่าช้าไปหนึ่งวัน โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์กระทำโดยส่อเจตนาทุจริตย่อมถือว่าเป็นการทำงานล่าช้า หรือผิดพลาดเล็กน้อย แม้จำเลยจะได้รับความเสียหายบ้างก็เพียงขาดผลประโยชน์จากดอกเบี้ยของธนาคารเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรง ดังนี้ เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ตักเตือนเป็นหนังสือก่อนจำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย จำเลยไล่โจทก์ออกจากงานโดยอ้างว่าโจทก์นำส่งเงินรายได้ของสถานีเดินรถชลบุรีประจำวันที่8, 10 และ 21 เมษายน 2529 กับวันที่ 5 พฤษภาคม 2529 ล่าช้าไม่เป็นไปตามระเบียบ อันเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้ตนเองได้รับประโยชน์อันมิควรได้อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะโจทก์มิได้มีหน้าที่นำเงินรายได้ของสถานีส่งให้แก่จำเลยหรือนำฝากธนาคารแต่เป็นหน้าที่ของนางแสงเดือน คชชา การที่จำเลยไล่โจทก์ออกจากงานจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและจำเลยจะต้องชำระค่าชดเชยให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งและอัตราค่าจ้างเดิม หากไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ก็ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 483,300 บาท และจ่ายค่าชดเชยเป็นเงิน24,150 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์มีหน้าที่จำหน่ายตั๋วรถโดยสารพร้อมกับเก็บเงินค่าธรรมเนียมรถโดยสารเอกชนที่เข้าวิ่งร่วมเส้นทางกับจำเลย แล้วจะต้องนำเงินรายได้ของจำเลยดังกล่าวทั้งหมดส่งมอบให้จำเลยทุกวัน โดยนำเงินส่งเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาชลบุรี แต่เมื่อวันที่ 8, 10 และ 21 เมษายน 2529 กับวันที่ 5พฤษภาคม 2529 โจทก์ได้รับเงินจากการจำหน่ายตั๋วรถโดยสารและเก็บค่าธรรมเนียมรถโดยสารเอกชนอันเป็นรายได้และผลประโยชน์ของจำเลยประจำสถานีเดินรถชลบุรีจำนวนรวม 10,837 บาทไว้ในความครอบครอง แล้วโจทก์ไม่นำเงินรายได้ดังกล่าวส่งเข้าบัญชีธนาคารภายในกำหนดเวลาตามระเบียบของจำเลยและในทางปฏิบัติตามปกติของโจทก์ ซึ่งถือว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองได้รับประโยชน์ที่มิควรได้ อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่และเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง จำเลยจึงมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยไล่โจทก์ออกจากงาน การเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม โจทก์ไม่มีสิทธิกลับเข้าทำงานและได้รับค่าเสียหาย รวมทั้งไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์มิได้เป็นผู้นำเงินรายได้ประจำวันที่ 8 และ 10 เมษายน 2529 ฝากธนาคารล่าช้า หรือนำเงินรายได้ประจำวันที่ 21 เมษายน 2529 ฝากธนาคารขาดจำนวน โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยโดยไม่นำเงินค่าธรรมเนียมรถร่วมและค่าตั๋วรถโดยสารประจำทางของจำเลยประจำวันที่ 5 พฤษภาคม 2529 เข้าฝากธนาคารในวันรุ่งขึ้นการเลิกจ้างของจำเลยจึงมิใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม แต่ข้อเท็จจริงที่จำเลยนำสืบมิได้ส่อแสดงว่าโจทก์มีพฤติการณ์ทุจริต และการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ดังกล่าว มิใช่กรณีร้ายแรงเมื่อไม่ปรากฎว่าจำเลยได้ตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือก่อนเลิกจ้างจำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ พิพากษาให้จำเลยชำระค่าชดเชยจำนวน 23,910 บาท แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในเรื่องการนำส่งเงินรายได้ของจำเลยนำฝากธนาคารตามกำหนดมีผลกระทบเกี่ยวกับการบริหารด้านการเงินและผลประโยชน์ของจำเลย จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์นั้น กรณีนี้ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยโดยไม่นำเงินค่าธรรมเนียมรถร่วมและค่าตั๋วรถโดยสารประจำทางเข้าฝากธนาคารในวันรุ่งขึ้น แต่ข้อเท็จจริงที่จำเลยนำสืบมามิได้ส่อแสดงว่าโจทก์มีพฤติการณ์ทุจริต คงฟังได้ว่า เงินซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของโจทก์นำฝากธนาคารล่าช้าฝ่าฝืนระเบียบมีจำนวนไม่มากนัก โดยมีจำนวนเพียง 2,512 บาท และโจทก์ได้นำเงินจำนวนดังกล่าวฝากธนาคารล่าช้ากว่าระเบียบเกี่ยวกับการทำงานเพียงหนึ่งวันเท่านั้น ดังนั้นการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ดังกล่าวจึงมิใช่เป็นกรณีร้ายแรง ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือแล้ว จำเลยไล่โจทก์ออกจากงานจึงต้องจ่ายค่าชดเชยพิเคราะห์แล้วเห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ได้กระทำโดยส่อเจตนาทุจริตการที่โจทก์นำเงินจำนวน 2,512 บาท เข้าฝากธนาคารล่าช้าไปหนึ่งวันย่อมถือว่าเป็นการทำงานล่าช้าหรือผิดพลาดเล็กน้อย แม้เป็นการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานด้านการเงินและมีผลกระทบต่อผลประโยชน์ของจำเลย แต่โจทก์ก็ได้นำเงินของจำเลยเข้าฝากธนาคารโดยครบถ้วนในวันรุ่งขึ้น ไม่ได้ทำให้เงินของจำเลยสูญหายไปแต่อย่างใดจำเลยอาจจะได้รับความเสียหายบ้างก็เพียงที่ขาดประโยชน์จากดอกเบี้ยของธนาคารเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ตามพฤติการณ์แห่งคดีไม่อาจถือได้ว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรง จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยต่อเมื่อได้เคยตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือมาก่อนตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(3)เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เคยตักเตือนเป็นหนังสือมาก่อนจำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์…”
พิพากษายืน.

Share