แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติฯ มาตรา 10 ให้มีคณะกรรมการสำหรับป่าสงวนแห่งชาติคณะหนึ่ง ประกอบด้วยผู้แทนป่าไม้ ผู้แทนกรมการปกครอง ผู้แทนกรมที่ดินและกรรมการอื่นอีก 2 คน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง มีอำนาจหน้าที่ควบคุมให้พนักงานเจ้าหน้าที่จัดให้มีหลักเขตและป้ายหรือเครื่องหมายอื่นแสดงแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ในทางการบริหาร มิใช่การสอบสวนคดีอาญา ทั้งตามมาตรา 26 บัญญัติว่าการจับกุม การปราบปรามผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตาม ป.วิ.อ. เมื่อ ส. เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ได้ควบคุมตัวจำเลยและส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนแล้ว พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้อง
จำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องอันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ป่าน้ำตกเขาอีโต้ โดยกระทำความผิดจำนวน 3 คดี รวมทั้งคดีนี้ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ลงโทษทุกคดี เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งคดีและความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ ที่ปรากฏตามภาพถ่ายในสำนวนถือได้ว่าเป็นเรื่องร้ายแรงที่จำเลยอ้างในฎีกาว่าจำเลยอายุมาก โดยมีอายุ 66 ปี มีโรคประจำตัวเป็นโรคความดันโลหิตสูง มีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัวซึ่งมีบุตร 5 คน อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียน 2 คน ถ้าจำเลยต้องโทษจำคุก ย่อมทำให้ครอบครัวได้รับความลำบากยังไม่เพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 6, 7, 8, 9, 14, 31 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 ให้จำเลยและบริวารออกจากเขตป่าสงวนแห่งชาติ นับโทษของจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1545/2541 และหมายเลขดำที่ 1546/2541 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง, 31 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 ให้จำคุก 1 ปี และปรับ 30,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยและบริวารออกไปจากเขตป่าสงวนแห่งชาติคำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ลงโทษปรับและไม่รอการลงโทษจำคุกให้จำเลย และให้นับโทษจำคุกเลยในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1545/2541 หมายเลขแดงที่ 2531/2544 และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1546/2541 หมายเลขแดงที่ 2530/2544 ของศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นข้อกฎหมายว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่าโจทก์มิได้ทำการสอบสวนโดยชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 10 ได้กำหนดให้มีการดำเนินการและใช้อำนาจตามมาตรา 25 และ 26 เมื่อพิจารณาตามคำฟ้องและพยานหลักฐานของโจทก์ในสำนวนก็ไม่ปรากฏว่าได้กล่าวอ้างถึงผู้แทนกรมการปกครอง ผู้แทนกรมที่ดิน และกรรมการอื่นอีก 2 คน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งแต่อย่างใด การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ได้วินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 10, 25, และ 26 เป็นการสอบสวนในเรื่องทางแพ่ง มิใช่การสอบสวนคดีอาญา ดังนั้น แม้โจทก์จะมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 25 ดังกล่าว และมาตรา 26 เรื่องการจับกุมและปราบปรามก็ไม่ทำให้การสอบสวนคดีอาญาของโจทก์ไม่ชอบ โจทก์มีอำนาจฟ้อง โดยจำเลยเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจสอบสวนซึ่งหมายความถึงการสอบสวนทั้งคดีแพ่งและอาญา ดังนั้นเมื่อคดีของโจทก์มิได้ทำการสอบสวนโดยคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 การสอบสวนคดีอาญาของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มาตรา 10 ให้มีคณะกรรมการสำหรับป่าสงวนแห่งชาติคณะหนึ่ง ประกอบด้วยผู้แทนกรมป่าไม้ ผู้แทนกรมการปกครอง ผู้แทนกรมที่ดิน และกรรมการอื่นอีก 2 คน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งมีอำนาจหน้าที่ควบคุมให้พนักงานเจ้าหน้าที่จัดให้มีหลักเขตและป้ายหรือเครื่องหมายอื่นแสดงแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ในทางการบริหาร มิใช่การสอบสวนคดีอาญาดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยมาโดยละเอียดแล้วทั้งตามมาตรา 26 บัญญัติว่าการจับกุม การปราบปรามผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เมื่อนายสมหมาย เอื้อเจริญ เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ได้ควบคุมตัวจำเลยและส่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดี พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนแล้ว พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาในข้อเท็จจริงว่าขอให้ลงโทษจำเลยสถานเบาและรอการลงโทษจำคุก ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องอันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ ป่าน้ำตกเขาอีโต้ โดยกระทำความผิดจำนวน 3 คดี รวมทั้งคดีนี้ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ลงโทษทุกคดี เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งคดีและความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติ ที่ปรากฏตามภาพถ่ายในสำนวนถือได้ว่าเป็นเรื่องร้ายแรง ที่จำเลยอ้างในฎีกาว่าจำเลยอายุมาก โดยมีอายุ 66 ปี มีโรคประจำตัวเป็นโรคความดันโลหิตสูง มีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัวซึ่งมีบุตร 5 คน อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียน 2 คน ถ้าจำเลยต้องโทษจำคุก ย่อมทำให้ครอบครัวได้รับความลำบาก เห็นว่า ยังไม่เพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุก ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดโทษและไม่รอการโทษจำคุกนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน