คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5294/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์ฟ้องผู้ร้องเป็นจำเลยขอให้ขับไล่ผู้ร้องออกจากที่ดินซึ่งเป็นแปลงเดียวกับที่ดินพิพาทในคดีนี้ ซึ่งผู้ร้องให้การต่อสู้ในเรื่องกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองเป็นข้อต่อสู้คำฟ้องและคำให้การของผู้ร้อง จึงมีประเด็นข้อพิพาทโดยตรงว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ ตามที่ศาลชั้นต้นได้ชี้สองสถานไว้ และเมื่อศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์แต่เป็นของผู้ร้อง และคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น คำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงมีผลผูกพันโจทก์และผู้ร้องซึ่งเป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษานั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่มีสิทธิกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นให้แตกต่างไปจากผลแห่งคำวินิจฉัยของคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวได้ แม้ผู้ร้องให้การต่อสู้ในคดีก่อนโดยมิได้ฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาให้ที่ดินพิพาทตกเป็นของผู้ร้องก็ตาม
ป.วิ.พ. มาตรา 296 จัตวา (3) เป็นเพียงบทสันนิษฐานของกฎหมายที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลยในกรณีที่ผู้ร้องไม่ได้ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษว่าผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลยภายในกำหนดเวลา 8 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศ บทบัญญัติดังกล่าวมิได้บังคับไว้โดยเด็ดขาดว่าถ้าผู้ร้องไม่ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนดเวลาเช่นว่านั้นแล้ว ผู้ร้องจะต้องเป็นบริวารของจำเลยสถานเดียว หากผู้ร้องมีหลักฐานแสดงไว้ว่าผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลย ผู้ร้องก็ชอบที่จะยื่นคำร้องนำพยานหลักฐานมาสืบพิสูจน์ถึงสถานภาพของผู้ร้องได้ว่าผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลยแม้ว่าจะล่วงเวลา 8 วัน และกำหนดระยะเวลาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 จัตวา (3) เป็นเพียงระยะเวลาที่กฎหมายบัญญัติเป็นข้อสันนิษฐานถึงสถานภาพของบุคคลว่าใช่หรือไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น มิใช่ระยะเวลาสิ้นสุดเพื่อให้ดำเนินหรือมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 23 ซึ่งจะทำให้ผู้ร้องเสียสิทธิที่จะยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายหลังเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาเช่นว่านั้นแล้ว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินตามหนังสือแจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) เลขที่ 106 ตำบลนาเกลือ (สาขลา) กิ่งอำเภอพระสมุทรเจดีย์ (เมืองฯ) จังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ 13 ไร่ 2 งาน ต่อมาวันที่ 15 ธันวาคม 2542 โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทโดยปิดประกาศกำหนดเวลาให้ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของจำเลยยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนดเวลา 8 วัน นับแต่วันปิดประกาศ
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า โจทก์เคยฟ้องขับไล่ผู้ร้องออกจากที่ดินพิพาท ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าที่พิพาทเป็นของผู้ร้อง พิพากษายกฟ้องโจทก์ ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 42/2534 หมายเลขแดงที่ 1651/2535 ของศาลชั้นต้น โดยศาลวินิจฉัยว่าผู้ร้องมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทดีกว่า คดีถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลยขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดดำเนินการบังคับคดีแก่ผู้ร้อง โดยให้ผู้ร้องมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทต่อไป
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องทราบประกาศของเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว แต่ไม่ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนดเวลา 8 วัน นับแต่วันปิดประกาศต้องฟังว่าผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลย ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีพอวินิจฉัยได้ จึงให้งดไต่สวนแล้ววินิจฉัยว่า ผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจบังคับให้ผู้ร้องออกจากที่ดินพิพาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ฎีกาของโจทก์ที่ว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่งดการไต่สวนพยานแล้ววินิจฉัยว่าผู้ร้องมิใช่บริวารของจำเลยโดยหยิบยกคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1651/2535 ของศาลชั้นต้นมาเป็นข้อวินิจฉัย โดยมิได้มีการไต่สวนคำร้องของผู้ร้องเลยเป็นการไม่ชอบนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้จากคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1651/2535 ของศาลชั้นต้นว่า โจทก์ได้ฟ้องผู้ร้องซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวขอให้บังคับขับไล่ผู้ร้องออกจากที่ดินซึ่งเป็นแปลงเดียวกับที่ดินพิพาทในคดีนี้โดยอ้างว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ผู้ร้องและบิดาผู้ร้องได้เช่าจากผู้แทนโจทก์ ต่อมาเมื่อโจทก์ได้นำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดที่ดินพิพาทเพื่อขอออกโฉนดที่ดิน ผู้ร้องคัดค้านว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้อง อันเป็นการโต้แย้งสิทธิเพื่อโจทก์ โดยมีคำขอบังคับให้ผู้ร้องขนย้ายทรัพย์สินและบริวารพร้อมทั้งรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินของโจทก์ ห้ามผู้ร้องเกี่ยวข้องอีกต่อไป ผู้ร้องซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวให้การต่อสู้คดีหลายประการและต่อสู้ด้วยว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทโดยครอบครองทำประโยชน์ด้วยความสงบเปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของตั้งแต่ปี 2517 ตลอดมาจนปัจจุบัน ผู้ร้องและบิดาไม่เคยเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ขอให้ยกฟ้อง คำให้การของผู้ร้องดังกล่าวได้ยกข้อเถียงว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทจึงเป็นการยกข้อต่อสู้ในเรื่องกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ คำฟ้องของโจทก์และคำให้การของผู้ร้องจึงมีประเด็นข้อพิพาทโดยตรงว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ ตามที่ศาลชั้นต้นได้ชี้สองสถานไว้ เมื่อคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์แต่เป็นของผู้ร้องและพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นเนื่องจากโจทก์ยื่นอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์และศาลฎีกาพิพากษายกฎีกาของโจทก์ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงมีผลผูกพันโจทก์และผู้ร้องซึ่งเป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษานั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่มีสิทธิกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นให้แตกต่างไปจากผลแห่งคำวินิจฉัยของคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวได้ ที่โจทก์ฎีกาว่า ผู้ร้องมิได้ฟ้องแย้งขอให้ศาลมีคำพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้อง แม้ศาลชั้นต้นพิจารณาและมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ คำพิพากษาดังกล่าวก็มิได้ให้สิทธิแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นจำเลยเกี่ยวแก่ที่ดินพิพาทแต่อย่างใด ทำให้โจทก์เพียงแต่ไม่มีสิทธิขับไล่ผู้ร้องออกจากที่ดินพิพาทเท่านั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อผู้ร้องให้การยกข้อต่อสู้ในเรื่องกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทว่าเป็นของผู้ร้อง โดยมิได้ฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาให้ที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องนั้นก็มีผลเพียงว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้อง ศาลก็ชอบที่จะพิพากษายกฟ้องโจทก์เท่านั้น แต่หากผู้ร้องซึ่งเป็นจำเลยฟ้องแย้งเข้ามาในคดีนั้น นอกจากศาลจะพิพากษายกฟ้องโจทก์แล้วก็จะมีคำพิพากษาบังคับให้เป็นไปตามฟ้องแย้งด้วย ทั้งนี้ไม่ว่าประการใดผลของคำพิพากษานั้นยังต้องผูกพันโจทก์และผู้ร้องซึ่งเป็นคู่ความในคดีตามบทบัญญัติดังกล่าวอยู่นั่นเอง เมื่อข้อเท็จจริงตามคำร้องของผู้ร้องและตามคำคัดค้านของโจทก์เพียงพอแก่การวินิจฉัยคำร้องของผู้ร้องได้เช่นนี้ ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะนำข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวซึ่งผูกพันโจทก์และผู้ร้องมาฟังในคดีนี้ เมื่อวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทตามคำร้องซึ่งเป็นประเด็นข้อพิพาทเดียวกันได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่งดไต่สวนพยานแล้ววินิจฉัยว่าผู้ร้องมิใช่บริวารของจำเลยโดยหยิบยกคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1651/2535 ของศาลชั้นต้นมาเป็นข้อวินิจฉัยในคดีนี้โดยมิได้มีการไต่สวนคำร้องจึงชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ฎีกาของโจทก์อีกข้อหนึ่งที่ว่า ผู้ร้องเพิกเฉยมิได้ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษภายในกำหนดเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา (3) จึงต้องถือว่าผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลยและเสียสิทธิที่จะแสดงอำนาจพิเศษนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 จัตวา (3) บัญญัติให้อำนาจแก่ผู้ที่อ้างว่าไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนดเวลา 8 วัน นับแต่วันปิดประกาศ ถ้าไม่ยื่นภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษา การที่กฎหมายเพียงแต่สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลยในกรณีที่ผู้ร้องมิได้ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษว่าผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลยภายในกำหนดเวลาดังกล่าว แสดงว่ากฎหมายมิได้บังคับไว้โดยเด็ดขาดว่า ถ้าผู้ร้องไม่ได้ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายในกำหนดเวลาเช่นว่านั้นแล้ว ผู้ร้องจะต้องเป็นบริวารของจำเลยสถานเดียว และจากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า แม้ล่วงเลยเวลา 8 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศไปแล้ว ถ้าผู้ร้องมีหลักฐานแสดงได้ว่าผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลย ผู้ร้องก็ชอบที่จะยื่นคำร้องนำพยานหลักฐานมาสืบพิสูจน์ถึงสถานภาพของผู้ร้องได้ว่าผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลย กำหนดระยะเวลา 8 วันดังกล่าวจึงเป็นแต่เพียงระยะเวลาที่กฎหมายบัญญัติเป็นข้อสันนิษฐานถึงสถานภาพของบุคคลว่าใช่หรือไม่ใช่บริวารของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น มิใช่ระยะเวลาสิ้นสุดเพื่อให้ดำเนินหรือมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ซึ่งจะทำให้ผู้ร้องเสียสิทธิที่จะยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลภายหลังเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาเช่นว่านั้นแล้ว ดังที่โจทก์อ้างมาในฎีกาไม่ ดังนั้น แม้ผู้ร้องจะมิได้ยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษว่าผู้ร้องไม่ใช่เป็นบริวารของจำเลยภายในกำหนดเวลา 8 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศก็ตาม ก็ไม่มีผลถึงกับตัดสิทธิของผู้ร้องที่จะยื่นคำร้องในภายหลัง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน…”
พิพากษายืน

Share