แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ให้นำบทบัญญัติแห่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานโดยอนุโลมได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 เท่านั้น
ศาลแรงงานมีคำสั่งรับฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาแล้วได้กำหนดวันเวลานัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ โดยออกหมายเรียกให้จำเลยมาศาลในวันเวลานัด พร้อมกับส่งสำเนาคำฟ้องให้จำเลยโดยวิธีปิดหมาย ณ บ้านเลขที่ 106/33 อันเป็นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 37 เมื่อจำเลยยอมรับในคำร้องว่าบ้านเลขที่ดังกล่าวเป็นที่อยู่ในหนังสือจดทะเบียนของจำเลย จึงเป็นที่ตั้งสำนักงานอันเป็นภูมิลำเนาของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 68, 1111 แม้จำเลยจะมีที่ทำการอยู่ที่บ้านเลขที่ 33 ก็เป็นกรณีจำเลยมีภูมิลำเนาหลายแห่ง การส่งหมายเรียกให้จำเลยโดยการปิดหมาย ณ บ้านเลขที่ 106/33 จึงชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 74 ประกอบมาตรา 79 จึงต้องถือว่าจำเลยได้รับหมายเรียกให้มาศาลตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 37 แล้วเมื่อจำเลยไม่มาตามกำหนด โดยไม่แจ้งให้ศาลทราบเหตุที่ไม่มา และศาลแรงงานได้มีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดและพิจารณาตัดสินคดีของโจทก์ไปฝ่ายเดียว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 40 การที่จำเลยขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าวจึงต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 41 คือต้องดำเนินการภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลแรงงานมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัด เมื่อจำเลยยื่นคำร้องพ้นกำหนด กรณีจึงต้องยกคำร้อง
ย่อยาว
คดีทั้งเก้าสำนวนนี้ศาลแรงงานกลางรวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยเรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 9
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งเก้าฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่ายและค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ย ศาลแรงงานกลางกำหนดวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์วันที่ 10 สิงหาคม 2542 เวลา 14 นาฬิกา โดยออกหมายเรียกให้จำเลยมาศาลในวันเวลาดังกล่าวส่งให้จำเลยพร้อมสำเนาคำฟ้องโดยวิธีปิดหมาย ณ บ้านเลขที่ 106/33 ตามที่โจทก์ทั้งเก้าระบุไว้ในคำฟ้องว่าเป็นภูมิลำเนาของจำเลย ครั้นถึงวันเวลานัดปรากฏว่าจำเลยไม่มาศาลโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ศาลแรงงานกลางจึงมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดและขาดนัดพิจารณาแล้วพิจารณาคดีของโจทก์ทั้งเก้าไปฝ่ายเดียวและพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่ายและค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งเก้าตามคำฟ้อง
วันที่ 16 พฤษภาคม 2543 จำเลยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาผิดระเบียบดังกล่าว
ศาลแรงงานกลางสั่งคำร้องของจำเลยว่า ตามคำร้องจำเลยขอให้ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาผิดระเบียบโดยอ้างว่า การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไม่ชอบ และอ้างว่าหากมีการพิจารณาคดีใหม่โจทก์ที่ 1 จะไม่ได้รับค่าชดเชย คำร้องฉบับนี้จึงเป็นคำแถลงให้ศาลแรงงานกลางทราบถึงความจำเป็นที่ไม่อาจมาศาลในวันนัดพิจารณาซึ่งเป็นเหตุให้จำเลยไม่อาจเข้ามาสู้คดีได้ อันเป็นการแถลงเพื่อให้ศาลแรงงานมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดตามมาตรา 40, 41 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ซึ่งต้องแถลงภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งหรือวันที่จำเลยทราบคำสั่งนั้น จำเลยทราบถึงผลแห่งคดีตั้งแต่วันยึดทรัพย์ (วันที่ 7 ตุลาคม 2542) ทั้งได้ยื่นคำแถลงขอถ่ายเอกสารและศาลอนุญาตให้ถ่ายเอกสารวันที่ 28 เมษายน 2543 และวันที่ 1 พฤษภาคม 2543 แต่มิได้แถลงให้ศาลทราบภายใน 7 วัน จึงไม่เป็นไปตามบทกฎหมายดังกล่าว ให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า การพิจารณาคดีแรงงานมีวิธีพิจารณาต่างกับคดีแพ่งทั่ว ๆ ไป โดยมีพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 บัญญัติไว้เป็นพิเศษ กรณีที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ได้บัญญัติไว้แล้วอย่างไรก็ต้องบังคับไปตามนั้น จะนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับไม่ได้ เพราะพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงานโดยอนุโลมได้เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 เท่านั้น
คดีนี้เมื่อศาลแรงงานกลางมีคำสั่งรับฟ้องของโจทก์ทั้งเก้าไว้พิจารณาแล้วศาลแรงงานกลางได้กำหนดวันเวลานัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ โดยออกหมายเรียกให้จำเลยมาศาลในวันเวลานัด พร้อมกับส่งสำเนาคำฟ้องให้จำเลยโดยวิธีปิดหมาย ณ บ้านเลขที่ 106/33 ถนนสุขาภิบาล 1 แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร อันเป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 37 เมื่อจำเลยยอมรับในคำร้องว่าบ้านเลขที่ดังกล่าวเป็นที่อยู่ในหนังสือจดทะเบียนของจำเลยจึงเป็นที่ตั้งสำนักงานอันเป็นภูมิลำเนาของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 68, 1111 แม้จำเลยจะมีที่ทำการอยู่ที่บ้านเลขที่ 33 อาคารดอกเตอร์เจอร์ฮาร์ดลิงค์ ชั้น 14 ก็เป็นกรณีจำเลยมีภูมิลำเนาหลายแห่ง การส่งหมายเรียกให้จำเลยโดยการปิดหมาย ณ บ้านเลขที่ 106/33 จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 74 ประกอบมาตรา 79 จึงต้องถือว่าจำเลยได้รับหมายเรียกให้มาศาลตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 37 แล้ว เมื่อจำเลยไม่มาตามกำหนด โดยไม่แจ้งให้ศาลแรงงานกลางทราบเหตุที่ไม่มา และศาลแรงงานกลางได้มีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดและพิจารณาตัดสินคดีของโจทก์ทั้งเก้าไปฝ่ายเดียว จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 40 จำเลยขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาดังกล่าวจึงต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 41 คือต้องดำเนินการภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัด เมื่อจำเลยยื่นคำร้องพ้นกำหนด กรณีจึงต้องยกคำร้อง ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยโดยไม่ไต่สวนจึงเป็นการถูกต้องแล้ว
พิพากษายืน.