แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยทั้งสิบห้าเป็นคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 274 และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 บัญญัติให้มีขึ้น การดำเนินงานของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมเป็นการใช้อำนาจในการบริหารงานบุคคล และเป็นการกระทำทางปกครองประเภทหนึ่ง ถ้าการดำเนินงานของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้มีสิทธิเสนอคดีย่อมนำคดีขึ้นสู่การวินิจฉัยของศาลได้ แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 9 วรรคสอง (2) บัญญัติว่า การดำเนินการของคณะกรรมการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ ไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 271 บัญญัติว่า “ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น” ดังนั้น คดีที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้สมัครสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากาษากล่าวอ้างว่าการดำเนินงานของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมที่เกี่ยวกับการไม่รับสมัครสอบโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงอยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม
โจทก์บรรยายฟ้องสรุปได้ว่า จำเลยทั้งสิบห้าในฐานะคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมได้ประกาศรับสมัครสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาประจำปี 2546 รวมทั้งกำหนดคุณสมบัติต่าง ๆ ไว้ และโจทก์ซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนจึงสมัครสอบ แต่เมื่อประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบกลับไม่ปรากฏชื่อโจทก์ โจทก์มีหนังสือสอบถาม แต่ไม่ได้รับคำชี้แจง เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่ได้รับสิทธิสอบคัดเลือก คำสั่งในการตัดสิทธิสอบดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า คุณสมบัติต่าง ๆ ดังกล่าว คือ คุณสมบัติประการใดบ้างโจทก์มีคุณสมบัติครบถ้วนทุกประการอย่างไร ที่ทำให้โจทก์มีสิทธิสอบ ส่วนที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสิบห้าประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบแต่ไม่ปรากฏรายชื่อโจทก์ โจทก์จึงมีหนังสือสอบถามเหตุผลไปยังเลขาธิการคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม แต่คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมไม่ชี้แจงโดยไม่มีเหตุผล โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า โจทก์อาศัยสิทธิตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดเพื่อให้ต้องตอบหนังสือสอบถามของโจทก์ หากไม่ตอบเป็นการผิดต่อกฎหมายฉบับใด เพราะเหตุใด นอกจากนี้ที่โจทก์กล่าวในคำฟ้องว่าการกระทำของจำเลยทั้งสิบห้าในการมีคำสั่งตัดสิทธิสอบของโจทก์เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ก็มิได้ระบุว่าไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายใด มาตราใด เพราะเหตุใด ทั้งข้อหาหรือฐานความผิดโจทก์ระบุแต่เพียงว่าละเมิด ปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และอื่น ๆ แต่ไม่มีข้อความตอนใดที่บรรยายถึงการกระทำของจำเลยทั้งสิบห้าว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เรื่องใด มาตราใด คำฟ้องของโจทก์จึงไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะให้รับฟังได้ว่า มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ที่จะทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสิบห้าเป็นคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม เมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม 2546 จำเลยทั้งสิบห้าได้ประกาศรับสมัครสอบคัดเลือกบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาประจำปี 2546 รุ่นที่ 48 รวมทั้งกำหนดคุณสมบัติต่าง ๆ ในการสมัครสอบ โจทก์ซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนตามประกาศดังกล่าวได้สมัครสอบเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2546 และกำหนดให้โจทก์ไปทำการตรวจร่างกายและจิตใจเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2546 ที่โรงพยาบาลตุลาการเฉลิมพระเกียรติ หลังจากนั้นคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบ แต่ปรากฏว่าไม่มีชื่อโจทก์เป็นผู้มีสิทธิสอบ โจทก์มีหนังสือฉบับลงวันที่ 25 มิถุนายน 2546 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 สอบถามเหตุผลของการตัดสิทธิสอบโดยขอให้ชี้แจงเป็นหนังสือ แต่คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมไม่ชี้แจงเหตุผลดังกล่าวโดยไม่มีเหตุผล การกระทำของจำเลยทั้งสิบห้าในฐานะคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่ได้รับสิทธิสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาประจำปี 2546 รุ่นที่ 48 คำสั่งตัดสิทธิสอบดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้พิพากษาให้คำสั่งของจำเลยทั้งสิบห้าในฐานะคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมที่ตัดสิทธิสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาประจำปี 2546 รุ่นที่ 48 ของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้จำเลยทั้งสิบห้ามีมติเปิดให้โจทก์สอบทดแทนที่ถูกตัดสิทธิสอบในครั้งที่ผ่านมาเป็นกรณีพิเศษ
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วมีคำพิพากษาว่า ไม่ปรากฏว่าคำสั่งในการตัดสิทธิสอบไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไรที่จะทำให้เป็นข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 จึงให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ยื่นอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายพร้อมกับยื่นคำร้องลงวันที่ 1 ธันวาคม 2546 ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องดังกล่าวเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2546 ว่า “สำเนาให้จำเลยทั้งสิบห้าพร้อมกับสำเนาอุทธรณ์ หากจะคัดค้านให้ยื่นคำแถลงคัดค้านภายในกำหนดเวลายื่นคำแก้อุทธรณ์ มิฉะนั้นจะถือว่าไม่ติดใจคัดค้าน” และมีคำสั่งในอุทธรณ์ในวันเดียวกันว่า “รับอุทธรณ์ของโจทก์สำเนาให้จำเลยทั้งสิบห้าแก้ ให้โจทก์นำส่งภายใน 5 วัน หากส่งไม่ได้ให้แถลงภายใน 15 วัน นับแต่วันส่งไม่ได้ มิฉะนั้นจะถือว่าทิ้งอุทธรณ์” ต่อมาเจ้าหน้าที่รายงานต่อศาลชั้นต้นตามรายงานเจ้าหน้าที่ฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2547 ว่าส่งสำเนาคำร้องและสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งสิบห้าโดยทางไปรษณีย์ตอบรับและพ้นกำหนดระยะเวลาที่จำเลยทั้งสิบห้าจะยื่นคำคัดค้านและคำแก้อุทธรณ์แล้ว แต่จำเลยทั้งสิบห้ามิได้ยื่นคำคัดค้าน และแก้อุทธรณ์แต่อย่างใด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า “ส่งสำนวนไปศาลฎีกา”
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “เห็นว่า แม้ศาลชั้นต้นมิได้สั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา แต่การที่จำเลยทั้งสิบห้าได้รับสำเนาคำร้องขออนุญาตยื่นอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาแล้วไม่คัดค้านและศาลชั้นต้นมีคำสั่งส่งสำนวนไปศาลฎีกา พอแปลได้ว่า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ วรรคหนึ่งแล้ว คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าตามคำฟ้องของโจทก์มีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะให้รับฟังได้ว่า มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 แล้วหรือไม่ เห็นว่า จำเลยทั้งสิบห้าเป็นคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 274 และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 บัญญัติให้มีขึ้น และการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมนั้น พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 มาตรา 45 วรรคท้าย บัญญัติว่า “การประชุม การลงมติ และการเผยแพร่รายงานการประชุมของ ก.ต. ให้เป็นไปตามข้อบังคับการประชุมที่ ก.ต. กำหนดเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้” และคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมได้ออกระเบียบคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการสมัครและการสอบคัดเลือก เพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา พ.ศ.2545 ซึ่งมีความในข้อ 4 ว่า “เมื่อสมควรจะมีการสอบคัดเลือกเมื่อใดให้เลขานุการ ก.ต. เสนอขอความเห็นชอบจาก ก.ต. เพื่อจัดให้มีการสอบคัดเลือก ให้ ก.ต. ประกาศเกี่ยวกับการรับสมัคร และแต่งตั้งคณะกรรมการสอบคัดเลือกขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ 4 คน และกรรมการตามจำนวนที่จำเป็น…” การดำเนินงานของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมดังกล่าวจึงเป็นการใช้อำนาจในการบริหารงานบุคคล และเป็นการกระทำทางปกครองประเภทหนึ่ง ซึ่งหากปราศเสียจากการตรวจสอบทางตุลาการแล้วความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำดังกล่าวย่อมขาดหลักประกันเมื่อการดำเนินงานของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้มีสิทธิเสนอคดีย่อมนำคดีขึ้นสู่การวินิจฉัยของศาลได้ แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 9 วรรคสอง (2) บัญญัติว่า การดำเนินการของคณะกรรมการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ ไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 271 บัญญัติว่า “ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น” ดังนั้น คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม แต่การที่บุคคลใดจะเป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่งต่อศาลยุติธรรมได้ จะต้องปรากฏว่าบุคคลนั้นถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 เพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิที่ผู้นั้นมีอยู่ตามกฎหมาย โจทก์บรรยายฟ้องสรุปได้ว่า จำเลยทั้งสิบห้าในฐานะคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมได้ประกาศรับสมัครสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาประจำปี 2546 รวมทั้งกำหนดคุณสมบัติต่าง ๆ ไว้ และโจทก์ซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนจึงสมัครสอบ แต่เมื่อประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบกลับไม่ปรากฏชื่อโจทก์ โจทก์มีหนังสือสอบถามเหตุผลของการตัดสิทธิสอบ แต่ไม่ได้รับคำชี้แจง การกระทำของจำเลยทั้งสิบห้าเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่ได้รับสิทธิสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พพากษาประจำปี 2546 รุ่น 48 คำสั่งในการตัดสิทธิสอบดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น ข้ออ้างอันเป็นหลักแห่งข้อหาตามที่โจทก์กล่าวอ้างก็คือ จำเลยทั้งสิบห้าในฐานะคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมได้ประกาศรับสมัครสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาประจำปี 2546 รวมทั้งกำหนดคุณสมบัติต่าง ๆ ไว้ แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า คุณสมบัติต่าง ๆ ดังกล่าว คือ คุณสมบัติประการใดบ้างและที่โจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์ซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนจึงสมัครสอบ โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์มีคุณสมบัติครบถ้วนทุกประการอย่างไร ที่ทำให้โจทก์มีสิทธิสอบคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นข้าราชการตุลาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษา ทั้งสิทธิเช่นว่านั้นต้องเป็นสิทธิตามที่กฎหมายบัญญัติโดยจำเลยทั้งสิบห้าไม่อาจมีคำสั่งตัดสิทธิดังกล่าวของโจทก์ได้ ส่วนที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสิบห้าในฐานะคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบแต่ไม่ปรากฏรายชื่อโจทก์เป็นผู้มีสิทธิสอบ โจทก์จึงมีหนังสือสอบถามเหตุผลไปยังเลขาธิการคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ที่ถูกเลขานุการคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม) ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 แต่คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมไม่ชี้แจ้งโดยไม่มีเหตุผล โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า โจทก์อาศัยสิทธิตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดเพื่อให้จำเลยทั้งสิบห้าต้องตอบหนังสือสอบถามของโจทก์ หากไม่ตอบเป็นการผิดต่อกฎหมายฉบับใด เพราะเหตุใด นอกจากนี้ที่โจทก์กล่าวในคำฟ้องว่า การกระทำของจำเลยทั้งสิบห้าในฐานะคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมในการมีคำสั่งตัดสิทธิสอบของโจทก์เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์มิได้ระบุว่าไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายใด มาตราใด เพราะเหตุใด รวมทั้งในส่วนของข้อหาหรือฐานความผิด โจทก์ระบุแต่เพียงว่าละเมิด ปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และอื่น ๆ แต่ในคำฟ้องไม่มีข้อความตอนใดที่บรรยายถึงการกระทำของจำเลยทั้งสิบห้าว่ากระทำการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เรื่องใด มาตราใด คำฟ้องของโจทก์จึงไม่มีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะให้รับฟังได้ว่า มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ