คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7700/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาเพียงว่าใบอนุโมทนาบัตรที่ระบุชื่อโจทก์และครอบครัวเป็นผู้บริจาค โจทก์สามารถนำไปหักค่าลดหย่อนเงินบริจาคได้หรือไม่ การที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า แม้โจทก์ไม่มีใบอนุโมทนาบัตรของวัดมาแสดง แต่โจทก์พิสูจน์พยานบุคคลว่ามีการบริจาคจริงโจทก์ก็ย่อมนำไปหักเป็นค่าลดหย่อนได้ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลางตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 47 (7) (ข) ให้สิทธิผู้มีเงินได้พึงประเมินนำเงินที่ตนบริจาคมาหักเป็นค่าลดหย่อนได้ โดยหักได้เท่าจำนวนที่บริจาค แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินที่เหลือจากการหักค่าใช้จ่ายแล้ว เมื่อใบอนุโมทนาบัตรที่โจทก์นำมาขอหักเป็นค่าลดหย่อนระบุชื่อโจทก์และครอบครัวเป็นผู้บริจาค และโจทก์ได้บริจาคเงินจริง โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีชื่อในใบอนุโมทนาบัตรดังกล่าวจึงมีสิทธิหักเป็นค่าลดหย่อนได้
การที่ใบอนุโมทนาบัตรระบุชื่อโจทก์และครอบครัวเป็นผู้บริจาคเพื่อเหตุผลทางด้านจิตใจและความเชื่อทางศาสนาว่าบุคคลในครอบครัวของโจทก์ทุกคนได้ร่วมกันทำบุญกุศล เมื่อโจทก์เป็นผู้มีชื่อระบุในใบอนุโมทนาบัตร โดยไม่มีชื่อบุคคลอื่นร่วมด้วย โจทก์จึงมีสิทธิที่จะนำเงินบริจาคทั้งจำนวนตามที่ปรากฏในใบอนุโมทนาบัตรนั้นมาหักเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของโจทก์ได้
การขอคืนภาษีอากรที่นำส่งแล้วเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษีหรือที่ไม่มีหน้าที่ต้องเสีย ผู้เสียภาษีจะต้องยื่นคำร้องขอคืนภาษีต่อเจ้าพนักงานของจำเลยตามประมวลรัษฎากร มาตรา 27 ตรี แต่โจทก์ไม่ได้ยื่นคำร้องขอคืนภาษี โจทก์จึงไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอคืนภาษีและดอกเบี้ยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงิน 21,806 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์จึงไม่ชอบ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) และมาตรา 246

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อปี 2545 โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2544 ณ สำนักงานภาษีสรรพากรเขตราชเทวี ต่อมาสำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ 4 มีหนังสือแจ้งให้โจทก์นำเงินภาษีจำนวน 21,806 บาท และเงินเพิ่มจำนวน 4,005.15 บาท ไปชำระเพิ่มโดยให้เหตุผลว่าหลักฐานการบริจาคเงิน (ใบอนุโมทนาบัตร) ที่ระบุนามผู้บริจาคเป็นชื่อโจทก์และครอบครัวไม่สามารถนำมาหักเป็นค่าลดหย่อนได้ โจทก์ได้ชำระภาษีตามหนังสือฉบับดังกล่าวและได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์เห็นว่าประมวลรัษฎากร มาตรา 47 (7) ประกาศกระทรวงการคลังและวิธีกรอกแบบรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาข้อ 7 ไม่มีการวางหลักเกณฑ์หรือกำหนดให้ชัดเจนว่าใบอนุโมทนาบัตรต้องระบุชื่อของผู้เสียภาษีเงินได้เพียงคนเดียว การกำหนดหลักเกณฑ์โดยไม่มีการแจ้งหรือประกาศใช้อย่างถูกต้องเป็นการทั่วไปย่อมไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ เนื่องจากโจทก์ไม่สามารถนำใบอนุโมทนาบัตรใบอื่นมาเปลี่ยนในภายหลังเพื่อหักลดหย่อนแทนใบแรกได้ นอกจากนี้หากมีประกาศหรือระเบียบที่วางแนวปฏิบัติใดในเรื่องนี้ เจตนารมณ์ของการห้ามไม่ให้ใช้ใบอนุโมทนาบัตรที่ระบุชื่อแท้จริงของบุคคลมากกว่าหนึ่งคนก็เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ซ้ำซ้อน ซึ่งควรแตกต่างจากกรณีของโจทก์ที่มีชื่อของบุคคลที่แท้จริงคือชื่อโจทก์เพียงผู้เดียว การตีความคำว่าครอบครัวหมายถึงบุคคลหลายคนย่อมเป็นการไม่เป็นธรรมและไม่ถูกต้องตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โจทก์ได้บันทึกรับรองว่าไม่มีบุคคลใดในครอบครัวของโจทก์นำใบอนุโมทนาบัตรเหล่านี้ไปใช้ซึ่งจำเลยสามารถตรวจสอบแบบแสดงรายการภาษีของบุคคลในครอบครัวของโจทก์ได้ ขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และคำวินิจฉัยอุทธรณ์และให้จำเลยคืนเงิน 21,806 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ต่อปี แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90) ปี 2544 ขอหักค่าลดหย่อนเงินบริจาคตามประมวลรัษฎากร มาตรา 47 (7) (ข) จำนวน 71,500 บาท โดยยื่นหลักฐานการบริจาค 7 ฉบับ เป็นใบอนุโมทนาบัตรวัดทัศนารุณสุนทริการาม 6 ฉบับ บริจาคฉบับละ 10,000 บาท รวม 5 ฉบับ และ 1,500 บาท 1 ฉบับ ระบุชื่อนายวุฒิวาร วาระศิริ และครอบครัวเป็นผู้บริจาค ฉบับที่ 7 เป็นหนังสือขอบคุณของโรงเรียนท่ากลางแจ้งจมวิทยา จำนวนเงิน 20,000 บาท ระบุชื่อนายวุฒิวาร วาระศิริ เป็นผู้บริจาค เจ้าพนักงานของจำเลยยอมให้โจทก์หักค่าลดหย่อนเงินบริจาคได้เพียง 20,000 บาท ทำให้มีภาษีชำระเพิ่มเติมพร้อมเงินเพิ่มตามหนังสือแจ้งการประเมิน ครอบครัวโจทก์ประกอบด้วยโจทก์และภริยา ซึ่งตามหลักฐานใบอนุโมทนาบัตรและหนังสือขอบคุณในความอนุเคราะห์บริจาคเงินที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90 ในกรณีคู่สมรสไม่มีเงินได้ การหักค่าลดหย่อนกรณีที่บริจาคให้แก่สถานสาธารณกุศลและสถานศึกษาของทางราชการ จึงหักได้เฉพาะในส่วนที่มีชื่อโจทก์เท่านั้น ส่วนใบอนุโมทนาบัตรซึ่งเป็นหลักฐานในการบริจาคให้แก่วัดทัศนารุณสุนทริการาม (วัดตะพาน) ระบุชื่อโจทก์และครอบครัว ซึ่งคำว่าครอบครัวหมายถึงสถาบันสังคมที่ประกอบด้วยสามี ภริยาและบุตร ดังนั้น ตามใบอนุโมทนาบัตรที่โจทก์บริจาคให้สถานสาธารณกุศลทั้งหกฉบับดังกล่าวไม่สามารถระบุจำนวนเงินที่บริจาคให้ปรากฏได้อย่างชัดเจนว่าเป็นของบุคคลใด จำนวนเท่าใด ไม่สามารถทราบว่าโจทก์บริจาคเงินในส่วนของตนเท่าใด จึงไม่อาจใช้ใบอนุโมทนาบัตรทั้งหกฉบับดังกล่าวเป็นหลักฐานเพื่อหักลดหย่อนเงินบริจาคในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามประมวลรัษฎากร มาตรา 47 (7) (ข) การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ให้จำเลยคืนเงิน 21,806 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอนับแต่วันที่โจทก์ชำระเงินให้แก่จำเลยจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ ส่วนค่าทนายความโจทก์ดำเนินคดีเองจึงไม่กำหนดให้
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2544 (แบบ ภ.ง.ด.90) โดยขอหักค่าลดหย่อนเงินบริจาคตามประมวลรัษฎากร มาตรา 47 (7) (ข) จำนวน 71,500 บาท ตามหลักฐานการบริจาครวม 7 ฉบับ ดังนี้
1. ใบอนุโมทนาบัตรวัดทัศนารุณฯ นายวุฒิวาร วาระศิริ และครอบครัว 10,000 บาท
2. ใบอนุโมทนาบัตรวัดทัศนารุณฯ นายวุฒิวาร วาระศิริ และครอบครัว 10,000 บาท
3. ใบอนุโมทนาบัตรวัดทัศนารุณฯ นายวุฒิวาร วาระศิริ และครอบครัว 10,000 บาท
4. ใบอนุโมทนาบัตรวัดทัศนารุณฯ นายวุฒิวาร วาระศิริ และครอบครัว 10,000 บาท
5. ใบอนุโมทนาบัตรวัดทัศนารุณฯ นายวุฒิวาร วาระศิริ และครอบครัว 10,000 บาท
6. ใบอนุโมทนาบัตรวัดทัศนารุณฯ นายวุฒิวาร วาระศิริ และครอบครัว 1,500 บาท
7. หนังสือขอบคุณของโรงเรียนท่ากลางแจ้งจมฯ นายวุฒิวาร วาระศิริ 20,000 บาท
เจ้าพนักงานของจำเลยยอมให้โจทก์หัดค่าลดหย่อนเฉพาะส่วนที่บริจาคให้แก่โรงเรียนท่ากลางแจ้งจมวิทยา จำนวน 20,000 บาท เท่านั้น ส่วนใบอนุโมทนาบัตรที่ระบุชื่อโจทก์และครอบครัวบริจาคเงินให้แก่วัดทัศนารุณสุนทริการามนั้น เจ้าพนักงานของจำเลยเห็นว่าโจกท์ไม่อาจใช้ใบอนุโมทนาบัตรดังกล่าวเพื่อหักค่าลดหย่อนเงินบริจาคได้ จึงประเมินให้โจทก์ชำระภาษีเพิ่มเติม ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าแม้โจทก์ไม่มีใบอนุโมทนาบัตรของวัดมาแสดง แต่โจทก์พิสูจน์พยานบุคคลว่ามีการบริจาคจริงโจทก์ก็ย่อมนำไปหักเป็นค่าลดหย่อนได้ เป็นการไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่า คดีนี้มีประเด็นที่ต้องพิจารณาเพียงว่า ใบอนุโมทนาบัตรที่ระบุชื่อโจทก์และครอบครัวเป็นผู้บริจาค โจทก์สามารถนำไปหักค่าลดหย่อนเงินบริจาคได้หรือไม่ ดังนั้นการที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่ แม้โจทก์ไม่มีใบอนุโมทนาบัตรของวัดมาแสดง แต่โจทก์พิสูจน์พยานบุคคลว่ามีการบริจาคจริงโจทก์ก็ย่อมนำไปหักเป็นค่าลดหย่อนได้ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลางตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยคือ ใบอนุโมทนาบัตร ที่ระบุชื่อโจทก์และครอบครัวเป็นผู้บริจาค โจทก์สามารถนำไปหักเป็นค่าลดหย่อนเงินบริจาคได้หรือไม่เพียงใด ในปัญหานี้จำเลยอุทธรณ์ว่า การหักค่าลดหย่อนตามมาตรา 47 (7) (ข) แห่งประมวลรัษฎากรจะต้องเป็นค่าลดหย่อนเฉพาะตัวของผุ้เสียภาษีเท่านั้น ใบอนุโมทนาบัตรที่ระบุชื่อโจทก์และครอบครัว จึงมิอาจรับฟังได้ว่า โจทก์แต่เพียงผู้เดียวเป็นผู้บริจาคเงินทั้งจำนวน เมื่อโจทก์ไม่ระบุจำนวนเงิน และไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าโจทก์มีส่วนบริจาคเท่าใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิใช้ใบอนุโมทนาบัตรดังกล่าวเพื่อหักค่าลดหย่อน เห็นว่า ตามมาตรา 47 (7) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร ให้สิทธิผู้มีเงินได้พึงประเมินนำเงินที่ตนบริจาคมาหักเป็นค่าลดหย่อนได้ โดยหักได้เท่าจำนวนที่บริจาค แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินที่เหลือจากการหักค่าใช้จ่ายแล้ว เมื่อใบอนุโมทนาบัตรที่โจทก์นำมาขอหักเป็นค่าลดหย่อนระบุชื่อโจทก์และครอบครัวเป็นผู้บริจาค ย่อมมีเหตุให้เชื่อได้ว่าโจทก์ได้บริจาคเงินจริง โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีชื่อในใบอนุโมทนาบัตรดังกล่าวจึงมีสิทธิหักเป็นค่าลดหย่อนได้ ส่วนปัญหาว่าโจทก์สามารถนำเงินบริจาคตามที่ปรากฏในใบอนุโมทนาบัตรทั้งจำนวนมาหักเป็นค่าลดหย่อนได้หรือไม่นั้น เห็นว่า การที่ใบอนุโมทนาบัตรระบุชื่อโจทก์และครอบครัวเป็นผู้บริจาคก็เพื่อเหตุผลทางด้านจิตใจและความเชื่อทางศาสนาว่าบุคคลในครอบครัวของโจทก์ทุกคนได้ร่วมกันทำบุญกุศล เมื่อโจทก์เป็นผู้มีชื่อระบุในใบอนุโมทนาบัตร โดยไม่มีชื่อบุคคลอื่นร่วมด้วย โจทก์จึงมีสิทธิที่จะนำเงินบริจาคทั้งจำนวนตามที่ปรากฏในใบอนุโมทนาบัตรนั้นมาหักเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของโจทก์ได้ ทั้งนี้ไม่เกินกว่าจำนวนที่กฎหมายกำหนด อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่โจทก์ขอให้จำเลยคืนเงินภาษีพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์เนื่องจากโจทก์ได้นำเงินไปชำระแก่จำเลยตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้ว และศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงิน 21,806 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ นับแต่วันที่โจทก์ชำระหนี้ให้แก่จำเลยจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นั้น เห็นว่า การขอคืนภาษีอากรที่นำส่งแล้วเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษีหรือที่ไม่มีหน้าที่ต้องเสีย ผู้เสียภาษีจะต้องยื่นคำร้องขอคืนภาษีต่อเจ้าพนักงานของจำเลย ตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอคืนภาษีแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอคืนภาษีและดอกเบี้ยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงิน 21,806 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์จึงไม่ชอบ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) และมาตรา 246”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เลขที่ 01004371/1/00059 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เลขที่ สภ.1 (อธ.4)/139/2546 ลงวันที่ 16 กันยายน 2546 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share