แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เมื่อมีการเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้ว เจ้าของทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อมีสิทธิริบเงินที่ผู้เช่าซื้อส่งใช้มาแล้วและกลับเข้าครอบครองทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อเท่านั้น ป.พ.พ. มาตรา 574 วรรคหนึ่งหาได้มีบทบัญญัติให้เรียกเอาค่าเช่าซื้อที่ยังค้างได้อีก ดังนั้น โจทก์จะเรียกให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเช่าซื้อที่ยังค้างอยู่อีกไม่ได้ เพราะสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้วคู่สัญญาไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาอีกต่อไป โจทก์คงเรียกได้แต่เฉพาะค่าเสียหายอันเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อเท่านั้น การที่สัญญาเช่าซื้อกำหนดให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระได้นั้น จึงเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับซึ่งมีผลใช้บังคับระหว่างคู่สัญญาได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายจำนวน 182,608 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ราคารถยนต์ที่แท้จริงเป็นเงิน 200,000 บาท เงินที่เหลือ 78,232 บาท เป็นดอกเบี้ยรวม 24 เดือน โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 91,151 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 45,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 1 วรรคท้าย ที่ว่า “แม้ในที่สุดต่อไปภายหน้าสัญญาต้องเลิกกัน ผู้เช่าซื้อตกลงที่จะชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระก่อนเลิกสัญญาจนครบถ้วนแก่เจ้าของจนถึงวันที่เจ้าของได้รับรถยนต์คืนหรือวันบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ” มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับหรือไม่ ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวนี้ ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2539 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน 7 ฉ-9605 กรุงเทพมหานคร จากโจทก์ในราคา 278,232 บาท แบ่งชำระเป็น 24 งวด งวดละเดือน เดือนละ 11,593 บาท เริ่มงวดแรกในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2539 งวดต่อไปชำระทุกเดือนถัดไปจนกว่าจะครบ จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม หลังจากทำสัญญาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 2 ประจำวันที่ 1 ธันวาคม 2539 และจำเลยที่ 1 ยังคงครอบครองรถยนต์ที่เช่าซื้อต่อไปจนถึงวันที่ 7 มิถุนายน 2540 จำเลยที่ 1 จึงคืนให้แก่โจทก์ โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและนำรถยนต์ที่เช่าซื้อออกประมูลขายได้เงินจำนวน 168,181.82 บาท ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายก่อนเลิกสัญญาเป็นเงิน 10,000 บาท และค่าเสียหายหลังบอกเลิกสัญญาจนถึงวันที่โจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนเป็นเงิน 35,000 บาท รวมค่าเสียหาย 45,000 บาท เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 574 วรรคหนึ่ง เมื่อเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้วเจ้าของทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อมีสิทธิรับเงินที่ผู้เช่าซื้อส่งใช้มาแล้วและกลับเข้าครอบครองทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อเท่านั้น หาได้มีบทบัญญัติให้เรียกเอาค่าเช่าซื้อที่ยังค้างได้อีกไม่ ฉะนั้น โจทก์จะเรียกให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเช่าซื้อที่ยังค้างอยู่อีกไม่ได้ เพราะสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้วคู่สัญญาไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาอีกต่อไป โจทก์คงเรียกได้แต่เฉพาะค่าเสียหายอันเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาเช่าซื้อเท่านั้น การที่สัญญาเช่าซื้อ ข้อ 1 วรรคท้าย กำหนดให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระได้นั้น จึงเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้ามีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ซึ่งมีผลใช้บังคับระหว่างคู่สัญญาได้ ฉะนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ข้อกำหนดในสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 1 วรรคท้าย เป็นข้อตกลงที่มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับจึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน