คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7750/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสี่ มุ่งเอาผิดแก่ผู้ร่วมปล้นทรัพย์ทุกคนถ้าผู้กระทำแม้แต่คนหนึ่งคนใดใช้ปืนยิงจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดเมื่อจำเลยที่ ๑ ใช้ปืนยิงในการปล้นทรัพย์
การปล้นทรัพย์จะขาดตอนแล้วหรือไม่ ย่อมต้องพิจารณาจากพฤติการณ์แห่งคดีตามข้อเท็จจริงที่ได้ความซึ่งมิได้จำกัดด้วยระยะทาง แม้จำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 ออกมาเกือบถึงถนนสายป่าโมก – สุพรรณบุรีแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในบริเวณสถานีบริการน้ำมันที่เกิดเหตุซึ่งทางฝ่ายผู้เสียหายกับพวกยังอาจติดตามขัดขวางการปล้นทรัพย์นั้นได้ ยังอยู่ในขั้นตอนของการพาเอาทรัพย์ไป การปล้นทรัพย์ของจำเลยทั้งสองกับพวกจึงยังไม่ขาดตอน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2545 เวลากลางคืนหลังเที่ยงจำเลยทั้งสองกับนายนิติพรหรือแบงค์ เรืองหิรัญวนิช นายสมคิดหรือเก๋ ศิริเวช ซึ่งถูกแยกไปดำเนินคดีที่แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวของศาลชั้นต้น และพวกอีก 3 คน ร่วมกันมีอาวุธปืนสั้นไม่มีเครื่องหมายทะเบียน 1 กระบอก กระสุนปืนหลายนัดโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ พาอาวุธปืนกระบอกนั้นติดตัวไปบนถนนสายป่าโมก – สุพรรณบุรีและสถานีบริการน้ำมันทรงพลบริการ ตำบลป่าโมก อำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง ซึ่งเป็นหมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวและไม่มีเหตุสมควรแล้วปล้นเงินสด 4,900 บาท ของนางจินตนา ผ่องพุฒิ ผู้เสียหายไปจากความครอบครองของนายพิทยา สุขแพทย์ พนักงานเติมน้ำมันซึ่งเป็นลูกจ้าง ใช้อาวุธปืนขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะยิงนายพิทยาให้ตาย และยิงปืนขึ้นฟ้า 2 นัด เพื่อข่มขู่มิให้นายพิทยากับพวกติดตามจำเลยทั้งสองกับพวก โดยใช้รถจักรยานยนต์ 4 คัน เป็นยานพาหนะ เพื่อความสะดวกแก่การปล้นทรัพย์ ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ พาทรัพย์นั้นไป และเพื่อให้พ้นการจับกุม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 340 ตรี, 371, 91, 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงิน 4,900 บาท แก่ผู้เสียหาย และนับโทษจำเลยแต่ละคนต่อจากโทษในคดีดังกล่าว
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ และรับว่าต่างก็เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง ประกอบมาตรา 340 ตรี, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธปืนและใช้ยานพาหนะ จำคุกคนละ 18 ปี ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไม่มีทะเบียนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 1 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเหตุสมควร เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 เดือน รวมจำคุกคนละ 19 ปี 6 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 9 ปี 9 เดือน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงิน 4,900 บาท แก่ผู้เสียหายเนื่องจากศาลยังมิได้มีคำพิพากษาให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ จึงให้ยกคำขอในส่วนนี้
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 370 วรรคสี่ ประกอบมาตรา 340 ตรี ลงโทษจำคุกคนละ 24 ปี ลดโทษให้ตามมาตรา 78 คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 12 ปี เมื่อรวมกับโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ อีก 2 กระทง ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วเป็นจำคุกคนละ 12 ปี 9 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยทั้งสองกับพวกรวม 7 คน ร่วมกันมีอาวุธปืนสั้นโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ 1 กระบอก กระสุนปืนหลายนัด พาอาวุธปืนกระบอกนั้นติดตัวไปในหมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวและไม่มีเหตุสมควร ปล้นเงิน 4,900 บาท ของนางจินตนาผู้เสียหายไปจากความครอบครองดูแลของนายพิทยาลูกจ้างในสถานีบริการน้ำมันทรงพลบริการ โดยใช้อาวุธปืนขู่ว่าในทันใดนั้นจะยิงนายพิทยาให้ตาย หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ซึ่งนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขับเพื่อหลบหนีได้ใช้อาวุธปืนยิงขึ้นฟ้า 2 นัด ก่อนออกจากบริเวณสถานีบริการน้ำมันแห่งนั้นในทำนองขู่นายพิทยากับพวกไม่ติดตาม แล้วพากันหลบหนีไป จำเลยที่ 1 มิได้ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาดังกล่าว คดีในส่วนของจำเลยที่ 1 จึงเป็นอันยุติ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 มีว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับการกระทำที่จำเลยที่ 1 ใช้ปืนยิงขึ้นฟ้า 2 นัด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสี่ด้วยหรือไม่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้าในการปล้นทรัพย์ผู้กระทำแม้แต่คนหนึ่งคนใดมีอาวุธติดตัวไปด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษ ฯลฯ” แสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายว่า มุ่งเอาผิดแก่ผู้ร่วมปล้นทรัพย์ทุกคน ถ้าผู้กระทำแม้แต่คนหนึ่งคนใดมีอาวุธติดตัวไปด้วย เพราะผู้กระทำอาจใช้อาวุธนั้นทำร้ายผู้เสียหายอันเป็นเหตุฉกรรจ์ได้ ความในวรรคสี่ของมาตราเดียวกันบัญญัติว่า “ถ้าการปล้นทรัพย์ได้กระทำโดย ฯลฯ ใช้ปืนยิง ฯลฯ ผู้กระทำต้องระวางโทษ ฯลฯ” แสดงให้เห็นต่อเนื่องกันไปว่าถ้าผู้กระทำแม้แต่คนหนึ่งคนใดใช้ปืนยิงในการปล้นทรัพย์นั้น ผู้ร่วมปล้นทรัพย์ทุกคนก็ยังคงต้องร่วมรับผิดในการกระทำครั้งนั้นตามเจตนารมณ์ของกฎหมายในมาตราเดียวกัน ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิด เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ใช้ปืนยิงในการปล้นทรัพย์ ข้อที่จำเลยที่ 2 อ้างว่าในขณะที่จำเลยที่ 1 ใช้ปืนยิงนั้น จำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 ออกมาห่างจากนายพิทยาเกือบ 30 เมตร และอยู่ห่างจากถนนสายป่าโมก – สุพรรณบุรีเพียง 2 เมตรเท่านั้น ทำนองว่าการปล้นทรัพย์ขาดตอนไปแล้ว เห็นว่า การปล้นทรัพย์จะขาดตอนแล้วหรือไม่ ย่อมต้องพิจารณาจากพฤติการณ์แห่งคดีตามข้อเท็จจริงที่ได้ความ ซึ่งมิได้จำกัดด้วยระยะทางดังที่จำเลยที่ 2 เข้าใจ คดีนี้แม้จำเลยที่ 2 จะขับรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 ออกมาเกือบถึงถนนสายป่าโมก – สุพรรณบุรีแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในบริเวณสถานีบริการน้ำมันที่เกิดเหตุซึ่งทางฝ่ายนายพิทยากับพวกยังอาจติดตามขัดขวางการปล้นทรัพย์นั้นได้ ยังอยู่ในขั้นตอนของการพาเอาทรัพย์ไป การปล้นทรัพย์ของจำเลยทั้งสองกับพวกจึงยังไม่ขาดตอน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่าจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับการที่จำเลยที่ 1 ใช้ปืนยิงในการปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรคสี่ จึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share