คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7785/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสงขลา วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาของ ศ. ลูกจ้างและก่อนถึงแก่ความตาย ศ. ไม่ได้เลี้ยงดูโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนจำเลยเพียงปัญหาเดียวว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิรับเงินทดแทนกรณีเสียชีวิตของ ศ. เนื่องจากโจทก์เป็นผู้อยู่ในอุปการะของ ศ. ซึ่งจำเลยก็วินิจฉัยเฉพาะในปัญหานี้ว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้อยู่ในอุปการะของ ศ. จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนในชั้นพิจารณาของจำเลยจึงไม่มีปัญหาว่าโจทก์ซึ่งเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของ ศ. มีสิทธิได้รับเงินทดแทนหรือไม่ ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่พอใจคำวินิจฉัยของจำเลยและนำคดีไปสู่ศาลแรงงานตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 53 โจทก์ย่อมมีสิทธิเพียงขอให้ศาลแรงงานวินิจฉัยเฉพาะปัญหาที่ว่าโจทก์เป็นผู้อยู่ในอุปการะของ ศ. หรือไม่อันเป็นปัญหาที่โจทก์อุทธรณ์ต่อจำเลยเท่านั้น แม้ศาลแรงงานกลางจะได้วินิจฉัยมาด้วยว่าโจทก์ไม่ใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ศ. จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนก็เป็นการไม่ชอบ โจทก์จะรื้อฟื้นเรื่องโจทก์เป็นบิดาไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งยุติไปแล้วในชั้นพนักงานเจ้าหน้าที่มาอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินทดแทนหาได้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้วินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งเงินทดแทนตามคำวินิจฉัยที่ 201/2544 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2544 ว่า โจทก์มิใช่ผู้อยู่ในอุปการะตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 20 จึงไม่มีสิทธิรับเงินทดแทนกรณีเสียชีวิตของนางสาวศุภิสรา บุญพิชัย ลูกจ้าง คำวินิจฉัยดังกล่าวไม่ชอบเพราะโจทก์เป็นบิดาที่แท้จริงของนางสาวศุภิสราและให้การรับรองนางสาวศุภิสราอีกทั้งเมื่อมีชีวิตอยู่นางสาวศุภิสราได้อุปการะโจทก์ ขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยดังกล่าวและให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินทดแทน
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและคำวินิจฉัยที่ 201/2544 ของจำเลยชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์มีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายคือ นางน่วม บุญพิชัย มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือนางบุญเอื้อ บุญพิชัย นางบุญเอื้อม บุญพิชัย และนางบุญเอือนหรือเทียบ บุญพิชัย นอกจากนั้นโจทก์มีภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสคือนางฉิ้ม ไม่ทราบนามสกุล นางสาวศุภิสรา บุญพิชัย ลูกจ้าง เป็นบุตรโจทก์ที่เกิดจากนางฉิ้ม เมื่อนางนาวศุภิสราถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงาน โจทก์จึงยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนต่อสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสงขลา สาขาหาดใหญ่ ท้องที่ที่นางสาวศุภิสราทำงานอยู่ พนักงานเจ้าหน้าที่ประกันสังคมวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนเนื่องจากโจทก์มิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนางสาวศุภิสราและนางสาวศุภิสราไม่ได้อุปการะโจทก์ก่อนถึงแก่ความตาย โจทก์อุทธรณ์ต่อจำเลย จำเลยวินิจฉัยตามคำวินิจฉัยที่ 201/2544 ยืนตามคำวินิจฉัยของพนักงานเจ้าหน้าที่ประกันสังคม จากข้อเท็จจริงดังกล่าวศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนางสาวศุภิสราและนางสาวศุภิสราอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของนางสุพรรณี ไม่ทราบนามสกุล ซึ่งเป็นพี่สาวร่วมมารดาของผู้ตายจนกระทั่งทำงานและถึงแก่ความตาย โดยอุทธรณ์ว่า แม้โจทก์มิได้เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนางสาวศุภิสรา แต่โจทก์เป็นบิดาตามความเป็นจริงของนางสาวศุภิสรา โจทก์มีสิทธิได้รับเงินทดแทนตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 20 (1) เห็นว่า การนำคดีไปสู่ศาลแรงงานกรณีผู้อุทธรณ์ไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 53 วรรคหนึ่ง นั้นผู้อุทธรณ์สามารถกระทำได้เฉพาะในปัญหาที่ผู้อุทธรณ์ได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเท่านั้น ผู้อุทธรณ์จะนำปัญหาอื่นที่ตนมิได้อุทธรณ์ไปสู่ศาลแรงงานย่อมมิได้ คดีนี้สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสงขลา สาขาหาดใหญ่ วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาของนาวสาวศุภิสราและก่อนถึงแก่ความตายนางสาวศุภิสราไม่ได้เลี้ยงดูโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ต่อจำเลยเพียงปัญหาเดียวว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิรับเงินทดแทนกรณีเสียชีวิตของนางสาวศุภิสราเนื่องจากโจทก์เป็นผู้อยู่ในอุปการะของนางสาวศุภิสรา ซึ่งจำเลยก็วินิจฉัยเฉพาะในปัญหานี้ว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้อยู่ในอุปการะของนางสาวศุภิสราก่อนนางสาวศุภิสราถึงแก่ความตายจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทน ในชั้นพิจารณาของจำเลยจึงไม่มีปัญหาว่า โจทก์ซึ่งเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของนางสาวศุภิสรามีสิทธิได้รับเงินทดแทนตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 20 (1) หรือไม่ ดังนั้น เมื่อโจกท์ไม่พอใจคำวินิจฉัยของจำเลยและนำคดีไปสู่ศาลแรงงานตามมาตรา 53 โจทก์ย่อมมีสิทธิเพียงขอให้ศาลแรงงานวินิจฉัยเฉพาะปัญหาที่ว่า โจทก์เป็นผู้อยู่ในอุปการะของนางสาวศุภิสราก่อนนางสาวศุภิสราถึงแก่ความตายหรือไม่อันเป็นปัญหาที่โจทก์อุทธรณ์ต่อจำเลยเท่านั้น แม้ศาลแรงงานกลางจะได้วินิจฉัยมาด้วยว่าโจทก์ไม่ใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนางสาวศุภิสราจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนก็เป็นการไม่ชอบ โจทก์จะรื้อฟื้นเรื่องโจทก์เป็นบิดาไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งยุติไปแล้วในชั้นพนักงานเจ้าหน้าที่มาอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาว่าโจทก์มีสิทธิได้รับเงินทดแทนหาได้ไม่ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกอุทธณ์ของโจทก์

Share