คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8306/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เหตุเกิดขึ้นเนื่องจากความขัดแย้งเรื่องที่ดินระหว่างกันทำให้จำเลยมีโทสะด่าว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นญาติห่าง ๆ กับจำเลยด้วยถ้อยคำหยาบคายว่า “อีพวกดอกทองไม่ต้องมายุ่งเรื่องของกู พวกมึงก็ดอกทองเหมือนกัน” ซึ่งโดยวิสัยของบุคคลระดับชาวบ้านเช่นนี้ใช่ด่าว่ากัน แม้ถ้อยคำจะไม่สุภาพและไม่สมควรที่จำเลยจะกล่าวต่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2 แต่ก็ยังไม่อาจรับฟังได้ถึงขั้นว่าจำเลยมีเจตนาหมิ่นประมาทโจทก์ทั้งห้าอย่างร้ายแรง อันจะเป็นเหตุประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ทั้งห้าเสียทีเดียว โจทก์ทั้งห้าจึงยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะเรียกถอนคืนการให้ที่ดินได้

ย่อยาว

โจทก์ทั้งห้าฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นมารดาโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 5 โจทก์ทั้งห้าเป็นผู้ครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 174 เนื้อที่ 18 ไร่ 1 งาน 9 ตารางวา เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2537 โจทก์ทั้งห้าจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวบางส่วนเนื้อที่ 1 งาน 64 ตารางวา ให้แก่จำเลยโดยเสน่หา ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 2368 ภายหลังเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 60772 มีเนื้อที่ 1 งาน 35 ตารางวา ต่อมาเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2544 จำเลยได้ด่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ว่า “อีพวกดอกทอง ไม่ต้องมายุ่งเรื่องของกู พวกพึงก็ดอกทองเหมือนกัน” คำว่า พวกมึงหมายถึงโจทก์ทั้งห้า ซึ่งเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ทั้งห้าอย่างร้ายแรง อีกทั้งจำเลยยังแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้จับกุมโจทก์ที่ 2 ดำเนินคดีโดยกล่าวว่าโจทก์ที่ 2 บุกรุกที่ดินแปลงดังกล่าวของจำเลย การกระทำของจำเลยเป็นการประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ทั้งห้าจึงขอเรียกถอนคืนการให้ที่ดินแก่จำเลย ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบที่ดินโฉนดเลขที่ 60772 ตำบลธารปราสาท อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา คืนแก่โจทก์ทั้งห้า โดยให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวเป็นชื่อโจทก์ทั้งห้า หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย
จำเลยให้การว่า โจทก์ที่ 3 และที่ 5 ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากหนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายคำฟ้องเป็นเอกสารปลอม จำเลยไม่ได้ประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ทั้งห้า และไม่เคยประทุษร้ายโจทก์ทั้งห้า หรือหมิ่นประมาทโจทก์ทั้งห้า อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาอย่างร้ายแรง โจทก์ทั้งห้าจึงไม่มีสิทธิเรียกถอนคืนการให้ที่ดินตามคำฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยส่งมอบที่ดินโฉนดเลขที่ 60772 ตำบลธารปราสาท อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา คืนให้แก่โจทก์ทั้งห้า โดยให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ทั้งห้า หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งห้า ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งห้าฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า โจทก์ทั้งห้าได้ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 60772 ตำบลธารปราสาท อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเดิมเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 174 ตำบลธารปราสาท อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ของโจทก์ทั้งห้าให้แก่จำเลยโดยเสน่หา ซึ่งต่อมาจำเลยได้ดำเนินการให้ทางราชการออกโฉนดที่ดินให้แก่ตน คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งห้าว่า จำเลยได้ประพฤติเนรคุณโดยหมิ่นประมาทโจทก์อย่างร้ายแรง โจทก์ทั้งห้าจึงมีสิทธิเรียกถอนคืนการให้ที่ดินดังกล่าวหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งห้าบรรยายฟ้องและโจทก์ที่ 1 และที่ 2 อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ไปต่อว่าจำเลยเรื่องที่จำเลยถูกกล่าวหาว่ากระทำชำเราเด็กหญิงบุษบา เหล่ากลาง ซึ่งเป็นหลานของโจทก์ที่ 1 แต่จำเลยไม่พอใจและด่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ว่า “อีพวกดอกทอง ไม่ต้องมายุ่งเรื่องของกู มึงออกไปจากบ้านของกู” ข้อความดังกล่าวนี้ คำว่า “ดอกทอง” มีความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ.2542 ว่า “หญิงใจง่ายในทางประเวณี (ใช้เป็นคำด่า)” การที่จำเลยซึ่งมีศักดิ์เป็นญาติห่าง ๆ ของโจทก์ทั้งห้าได้รับการยกให้ที่ดินตามฟ้องจากโจทก์ทั้งห้าโดยเสน่หา เนื่องจากจำเลยไม่มีที่อยู่อาศัย และจำเลยยังถูกกล่าวหาและถูกพนักงานอัยการจังหวัดนครราชสีมาฟ้องต่อศาลชั้นต้นเดียวกันเป็นคดีอาญาในข้อหากระทำชำเราเด็กหญิงบุษบาหลานของโจทก์ที่ 1 และจำเลยรับสารภาพในชั้นสอบสวน เป็นคดีหมายดำที่ 1362/2543 ตามสำเนาคำฟ้องเอกสารหมาย จ.7 กับจำเลยเบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ทั้งห้าในคดีนี้ยอมรับว่าได้กระทำชำเราเด็กหญิงบุษบา ย่อมส่อพฤติการณ์ของจำเลยในความประพฤติที่ไม่เหมาะสมและไม่เคารพต่อโจทก์ทั้งห้า แต่จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏเห็นได้ว่า เรื่องที่จำเลยกระทำชำเราเด็กหญิงบุษบาเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 8 มกราคม 2543 ก่อนเกิดเหตุตามฟ้องคดีนี้เกือบสองปี แต่โจทก์ทั้งห้ากับจำเลยเพิ่งมามีเรื่องบาดหมางใจกันในการที่โจทก์ที่ 2 ถูกจำเลยกล่าวหาว่าย้ายหลักหมุดที่ดินรุกล้ำเข้าไปในที่ดินส่วนของจำเลยตามภาพถ่ายหมาย ล.1 และ ล.2 ซึ่งพันตำรวจตรีชมพู สมสุไทย เจ้าพนักงานตำรวจประจำสถานีตำรวจภูธรอำเภอโนนสูง นายทองอยู่ ไหวพริบ ผู้ใหญ่บ้านพยานโจทก์ทั้งห้า และนายดำ บุญหนุน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านพยานจำเลยก็เบิกความยืนยันข้อเท็จจริงนี้ พฤติการณ์แห่งคดีจึงน่าเชื่อว่าเหตุคดีนี้เกิดขึ้นจากความขัดแย้งเรื่องที่ดินเป็นสาระสำคัญ และทำให้จำเลยมีโทสะด่าว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ด้วยถ้อยคำหยาบคายดังกล่าว ซึ่งโดยวิสัยของบุคคลระดับชาวบ้านเช่นนี้ใช้ด่าว่ากัน ดังนี้ แม้ถ้อยคำเช่นนั้นจะไม่สุภาพและไม่สมควรที่จำเลยจะกล่าวต่อโจทก์ที่ 1 และที่ 2 แต่ก็ยังไม่อาจรับฟังได้ถึงขั้นว่าจำเลยมีเจตนาหมิ่นประมาทโจทก์ทั้งห้าอย่างร้ายแรง อันจะเป็นเหตุประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ทั้งห้าเสียทีเดียว โจทก์ทั้งห้าจึงยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะเรียกถอนคืนการให้ที่ดินตามฟ้องได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องมานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ทั้งห้าฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share