คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8400/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การฝ่าฝืนข้อห้ามตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 33 มีโทษทางอาญาตามมาตรา 82 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ล. มิได้เป็นผู้ซึ่งได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความและไม่เป็นบุคคลซึ่งอยู่ในข้อยกเว้นตามมาตรา ๓๓ การที่ ล. เรียงหรือแต่งฟ้องฎีกาให้จำเลย จึงเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาซึ่งเกิดจากการกระทำอันไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 15, 66, 102 และริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง กับคืนธนบัตรของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 66 วรรคสอง (ที่แก้ไขใหม่) การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งแต่ละบทมีโทษเท่ากันให้ลงโทษฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน จำคุก 22 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 11 ปี ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 17 ปี เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 8 ปี 6 เดือน คืนธนบัตรของกลางที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้จำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้ฎีกา และมีนางสาวหรือนาง (ไม่ปรากฏชัด) ลำดวน ฟื้นอินต๊ะศรี ลงลายมือชื่อเป็นผู้เรียงและเขียน เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 มาตรา 33 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาต หรือผู้ซึ่งขาดจากการเป็นทนายความหรือต้องห้ามทำการเป็นทนายความว่าความในศาล หรือแต่งฟ้อง คำให้การ ฟ้องอุทธรณ์ แก้อุทธรณ์ ฟ้องฎีกา แก้ฎีกา คำร้อง หรือคำแถลงอันเกี่ยวแก่การพิจารณาคดีในศาลให้แก่บุคคลอื่น ทั้งนี้เว้นแต่จะได้กระทำในฐานะเป็นข้าราชการผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ องค์การของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่ หรือมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความหรือกฎหมายอื่น” ซึ่งการฝ่าฝืนมาตรา 33 นี้มีโทษทางอาญาตามมาตรา 82 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เมื่อนางสาวหรือนางลำดวนมิได้เป็นผู้ซึ่งได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นทนายความ และไม่ปรากฏว่าเป็นบุคคลซึ่งอยู่ในข้อยกเว้นตามมาตรา 33 การที่นางสาวหรือนางลำดวนเรียงหรือแต่งฟ้องฎีกาให้จำเลย จึงเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาซึ่งเกิดจากการกระทำอันไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาจำเลย

Share