แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกาศาลฎีกามีคำสั่งคำร้องที่ 1310/2537 ว่าจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้อง อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับฎีกา โดยมิได้นำค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวงมาวางศาล และนำเงินมาชำระตามคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์หรือหาประกันให้ไว้ต่อศาล จึงเป็นการไม่ชอบด้วย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 234 ประกอบมาตรา 247 ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ จำเลยที่ 1 เห็นว่า จำเลยที่ 1 ได้นำเงินค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาและเงินค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความที่จะต้อง ชำระแทนโจทก์ในชั้นอุทธรณ์วางไว้ต่อศาลชั้นต้นแล้ว ส่วนเงิน ที่ต้องชำระตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นไม่ได้มีคำสั่ง ให้จำเลยนำเงินมาวางหรือหาหลักประกันไว้ต่อศาลแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้จงใจหรือหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตาม โปรดมี คำสั่งให้รับฎีกาและคำร้องขอทุเลาการบังคับของจำเลยที่ 1 ไว้พิจารณาต่อไป โดยจำเลยที่ 1 พร้อมที่จะนำเงินมาชำระหรือ หาประกันมาวางศาลภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด หมายเหตุ โจทก์แถลงคัดค้าน (อันดับ 176) ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ให้ จำเลยทั้งสี่ในฐานะ ทายาทโดยธรรมของนายประสิทธิ์ สอนประหยัด ใช้ค่าตอบแทนตามสัญญาเช่าที่ดินเป็นเงิน 45,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับจากวันฟ้อง (วันที่ 18กุมภาพันธ์ 2531) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายประสิทธิ์ สอนประหยัด ผู้ตาย และจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัว ร่วมกันใช้ค่าตอบแทนค่าถมดินและ ค่าสร้างบ้านเป็นเงิน 130,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตรา ร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับจากวันฟ้อง (วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2531) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกา(อันดับ 155) จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งให้ยกคำร้องดังกล่าว (อันดับ 156,169) จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 171)
คำสั่ง พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า กรณีที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้อง อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 นั้นจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 234 ประกอบด้วยมาตรา 247 ในอันที่จำต้องนำเงินมาชำระ ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือหาประกันมาวางต่อศาลพร้อมกันกับ การยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้ปฏิบัติ ตามกฎหมายดังกล่าว คำร้องอุทธรณ์คำสั่งที่จำเลยที่ 1 ยื่นมา จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำสั่งให้ยกคำร้องไปแล้ว คำสั่งของศาลฎีกาย่อมถึงที่สุด จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิยื่นคำร้อง ให้ศาลฎีกามีคำสั่งในเรื่องนี้อีก ให้ยกคำร้อง