คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 355/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน200,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่งศาลฎีการับวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ได้แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายสำหรับข้อเท็จจริงนั้นศาลฎีกาจำต้องถือตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามมาตรา 238ประกอบมาตรา 247 ปัญหาที่ว่าราคาที่ดินพิพาทซึ่งโจทก์โอนให้แก่จำเลยแทนการชำระหนี้มีราคาเท่ากับราคาในท้องตลาดขณะที่โอนแทนการชำระหนี้ จึงมิใช่ประเด็นพิพาทแห่งคดีคู่ความจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาในประเด็นนี้แต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์กู้เงินจำเลย 100,000 บาทตกลงชำระคืนภายในวันที่ 22 มกราคม 2537 โดยจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันครบกำหนดโจทก์ขอผัดผ่อน จำเลยยอมให้โจทก์ชำระหนี้ภายในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2537 ครั้งวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2537จำเลยบอกโจทก์ว่าเงินที่ให้โจทก์กู้นั้น จำเลยกู้มาจากธนาคารเมื่อโจทก์ขอผัดผ่อนจำเลยจึงไม่มีเงินคืนธนาคาร ขอให้โจทก์โอนที่ดินแก่จำเลยชั่วคราวเพื่อนำไปจำนองธนาคารเอาเงินชำระหนี้ก่อนแล้วจะโอนที่ดินคืนเมื่อโจทก์ชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยโจทก์หลงเชื่อจึงโอนที่ดินแก่จำเลยโดยไม่มีเจตนาจะโอนให้เป็นสิทธิแต่อย่างใด และจำเลยก็ทราบดี แต่เมื่อถึงกำหนดโจทก์ต้องการให้จำเลยโอนที่ดินคืน จำเลยปฏิเสธ อ้างว่าหากต้องการที่ดินก็ต้องซื้อคืนในราคา 300,000 บาท ทั้งจะคืนที่ดินให้เพียง 4 ไร่ ขอให้พิพากษาว่าการโอนที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ ให้จำเลยรับเงินจำนวน100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายจากโจทก์เป็นค่าไถ่ถอนที่ดินหากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้หลอกลวงโจทก์ โจทก์เจตนาโอนที่ดินตามฟ้องเพื่อชำระหนี้ตามกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์แต่เฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายซึ่งการวินิจฉัยปัญหาเช่นว่านั้น ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบด้วยมาตรา 247 โดยศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์กู้เงินจากจำเลย 100,000 บาท กำหนดชำระคืนภายใน 3 เดือน โดยโจทก์นำที่ดินพิพาทมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันตามสัญญากู้และสัญญาจำนองเอกสารหมาย ล.9 และ ล.14 เมื่อครบกำหนดแล้วโจทก์ไม่ชำระหนี้ ต่อมาโจทก์โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย สำหรับประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีที่ว่านิติกรรมโอนที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยเป็นโมฆะ เนื่องจากโจทก์ไม่มีเจตนาโอนที่ดินเพื่อชำระหนี้แก่จำเลยหรือไม่นั้นศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยข้อเท็จจริงโดยฟังว่า ขณะทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาท โจทก์รู้และเข้าใจดีว่ายังเป็นหนี้จำเลยตามสัญญากู้และสัญญาจำนองที่ทำกันไว้ โจทก์โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยก็โดยเจตนาชำระหนี้ดังกล่าว มิใช่เรื่องจำเลยหลอกลวงให้โจทก์โอนที่ดินพิพาทให้ชั่วคราวโดยมีข้อตกลงให้โจทก์มาไถ่คืนได้ในภายหลังดังที่โจทก์กล่าวอ้างแต่อย่างใด ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อ 2.2 ที่ว่าศาลอุทธรณ์ภาค 1 หยิบยกคำเบิกความของนายอัคร บุญเหลือ พยานโจทก์ขึ้นวินิจฉัยแล้วฟังว่าโจทก์ทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทเพื่อชำระหนี้ มิใช่เพราะถูกหลอกลวงเป็นการฟังข้อเท็จจริงนอกฟ้อง เพราะตามฟ้องโจทก์มิได้กล่าวข้อเท็จจริงที่ว่าทำนิติกรรมเพราะถูกหลอกลวงหรือเพราะถูกกลฉ้อฉลของจำเลย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 159 วรรคหนึ่งแต่อย่างใด เป็นคำวินิจฉัยที่ฝ่าฝืนประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 145 (ที่ถูกน่าจะเป็นมาตรา 142 วรรคหนึ่ง) นั้นเห็นว่าที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า นิติกรรมโอนที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยเป็นโมฆะเนื่องจากโจทก์ไม่มีเจตนาโอนที่ดินพิพาทเพื่อชำระหนี้แก่จำเลยหรือไม่นั้นเป็นการกำหนดประเด็นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 154 นั่นเอง มิใช่การกำหนดประเด็นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 159 ที่โจทก์ฎีกา การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ใช้ดุลพินิจหยิบยกคำเบิกความของนายอัครขึ้นวินิจฉัยแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า ขณะทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาท โจทก์รู้และเข้าใจดีว่ายังเป็นหนี้จำเลยตามสัญญากู้และสัญญาจำนองที่ทำกันไว้โจทก์โอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยก็โดยเจตนาชำระหนี้ดังกล่าว มิใช่เรื่องจำเลยหลอกลวงให้โจทก์โอนที่ดินพิพาทให้ชั่วคราว โดยมีข้อตกลงให้โจทก์มาไถ่คืนได้ในภายหลังดังที่โจทก์กล่าวอ้างแต่อย่างใดนั้น เป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงไปตามประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีว่า โจทก์มีเจตนาทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยโดยเจตนาชำระหนี้ตามที่ศาลชั้นต้นได้กำหนดไว้ในวันชี้สองสถานดังกล่าวแล้ว แม้จะมีถ้อยคำว่าหลอกลวงในคำวินิจฉัยก็เป็นเรื่องกล่าวเกินเลยไปเท่านั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 1 หาได้วินิจฉัยว่าเป็นเรื่องโจทก์ทำนิติกรรมเพราะถูกจำเลยหลอกลวงหรือเพราะถูกกลฉ้อฉลของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 159 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1จึงไม่ใช่เป็นการฟังข้อเท็จจริงนอกฟ้องดังที่โจทก์ฎีกา สำหรับฎีกาของโจทก์ข้อ 2.3 ที่โจทก์อ้างว่า นิติกรรมที่โจทก์โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยเป็นโมฆะ เพราะไม่มีการตีราคาที่ดินพิพาทตามราคาท้องตลาดในเวลาและ ณ สถานที่ที่ส่งมอบ ขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 656 นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ว่าราคาที่ดินที่โจทก์โอนที่ดินพิพาทชำระหนี้แก่จำเลยเป็นราคาเท่ากับท้องตลาดขณะที่ดินแทนการชำระหนี้อันเป็นเหตุให้นิติกรรมเป็นโมฆะหรือไม่นั้นโจทก์มิได้ตั้งประเด็นนี้ขึ้นกล่าวอ้างไว้ในคำฟ้องจึงไม่ก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทย่อมไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่คู่ความในการอุทธรณ์ฎีกาแม้โจทก์จะอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะวินิจฉัยปัญหานี้ให้แก่โจทก์ก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นฟ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share