แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 ในกรณีที่ศาลเห็นว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ให้ศาลงดการไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาไว้ จนกว่าผู้นั้นหายวิกลจริตหรือสามารถจะต่อสู้คดีได้ ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจตามกฎหมายที่จะชี้ขาดในกรณีมีเหตุควรเชื่อว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้หรือไม่เมื่อศาลชั้นต้นชี้ขาดว่าจำเลยสามารถต่อสู้คดีได้ และจำเลยก็มิได้โต้แย้งคัดค้านการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นต่อมาจึงชอบด้วยกฎหมาย การที่แพทย์เบิกความเป็นพยานในชั้นที่ศาลชั้นต้นจะต้องชี้ขาดว่า สภาพของจำเลยในขณะที่ถูกฟ้องคดีนี้สามารถต่อสู้คดีได้หรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14โดยแพทย์เบิกความเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2536 ว่า จำเลยเข้ารับการรักษาตั้งแต่ปี 2532 ตรวจพบว่าจำเลยเป็นโรคจิตเภทขณะตรวจพบว่าจำเลยมีอาการวิตกกังวล ไม่สามารถตอบคำถามได้อย่างต่อเนื่อง จากสภาพของจำเลยขณะที่ตรวจ แพทย์วินิจฉัยว่าจำเลยเป็นโรคทางจิตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้เมื่อไม่มีปรากฏความเห็นของแพทย์ที่ตรวจอาการของจำเลยระหว่างเกิดเหตุ และเมื่อศาลชั้นต้นนัดพร้อมกลับปรากฏข้อเท็จจริงต่อหน้าศาลว่า จำเลยสามารถถามตอบต่อศาลได้ ดังนี้ ความเห็นของแพทย์ดังกล่าวจึงยังไม่สามารถรับฟังเป็นยุติได้ว่า ขณะกระทำความผิดจำเลยมีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือน อันจะทำให้จำเลยไม่ต้องรับโทษตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางหลอ อยู่เย็นหรือน้ำใจดี มารดาของเด็กหญิงละอองดาว น้ำใจดี ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 วรรคสาม ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า ก่อนพิจารณาคดีศาลชั้นต้นมีอำนาจชี้ขาดถึงการเจ็บป่วยของจำเลยด้วยหรือไม่ว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14บัญญัติเกี่ยวกับอำนาจของศาลไว้ว่า ระหว่างไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาถ้ามีเหตุควรเชื่อว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ให้ศาลสั่งให้พนักงานแพทย์ตรวจผู้นั้นแล้วเรียกพนักงานแพทย์ผู้นั้นมาให้การว่าตรวจได้ผลประการใดในกรณีที่ศาลเห็นว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ให้งดการไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาไว้จนกว่าผู้นั้นหายวิกลจริตหรือสามารถจะต่อสู้คดีได้ จึงเห็นได้ว่าศาลชั้นต้นมีอำนาจตามกฎหมายชี้ขาดในกรณีมีเหตุควรเชื่อว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้เมื่อศาลชั้นต้นชี้ขาดแล้วว่าจำเลยสามารถต่อสู้คดีได้และจำเลยก็มิได้โต้แย้งคัดค้านแต่อย่างใดการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นต่อมาจึงชอบด้วยกฎหมาย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่าพยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบมีน้ำหนักและเหตุผลดี ฟังได้ว่า จำเลยใช้มีดปลายแหลมเป็นอาวุธขู่บังคับในการข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายตามฟ้อง ที่จำเลยนำพยานมาสืบว่า จำเลยมิได้กระทำผิดตามฟ้องนั้นเป็นการนำสืบกล่าวอ้างเลื่อนลอยไม่มีน้ำหนักพอหักล้างพยานโจทก์และโจทก์ร่วม
ที่จำเลยฎีกาว่า แพทย์เบิกความเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2536ว่า จำเลยเข้ารับการรักษาตั้งแต่ปี 2532 ตรวจพบว่าจำเลยเป็นโรคจิตเภทขณะตรวจพบว่า จำเลยมีอาการวิตกกังวล ไม่สามารถตอบคำถามได้อย่างต่อเนื่องจากสภาพของจำเลยขณะที่ตรวจแพทย์วินิจฉัยว่าจำเลยเป็นโรคทางจิต และไม่สามารถต่อสู้คดีได้แสดงว่าจำเลยเป็นโรคจิตมาตั้งแต่ปี 2532 จนกระทั่งเกิดเหตุกระทำความผิดคดีนี้ จำเลยควรได้รับยกเว้นโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 เห็นว่า การที่แพทย์เบิกความดังกล่าวเป็นการเบิกความเป็นพยานในชั้นที่ศาลชั้นต้นจะต้องชี้ขาดว่าสภาพของจำเลยขณะที่ถูกฟ้องคดีนี้สามารถต่อสู้คดีได้หรือไม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 ไม่ปรากฏความเห็นของแพทย์ที่ตรวจอาการของจำเลยระหว่างเกิดเหตุและเมื่อศาลชั้นต้นนัดพร้อมกลับปรากฏข้อเท็จจริงต่อหน้าศาลว่าจำเลยสามารถถามตอบต่อศาลได้ ดังนี้ ความเห็นของแพทย์ดังกล่าวจึงยังไม่สามารถรับฟังเป็นยุติได้ว่า ขณะกระทำความผิดจำเลยมีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือนอันจะทำให้จำเลยไม่ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคหนึ่งดังที่จำเลยฎีกา
พิพากษายืน