คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 142/2499

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฆ่าคนเพื่อป้องกันทรัพย์ เป็นการกระทำผิดกว่าเหตุ มีความผิดตามมาตรา249,53

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องหาว่า เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2497 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยบังอาจใช้มีดดาบฟันนายซุ่น ตั้งอั้น ตายโดยเจตนา ที่ตำบลบางมะพร้าว อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 249 และริบมีดของกลาง

นายยุหมัด ตั้งอั้น บิดานายซุ่น ตั้งอั้น เข้าเป็นโจทก์ร่วมด้วย

จำเลยให้การว่า นายซุ่นเข้าไปในโรงและเข้าไปในห้องนอนของจำเลย แล้ววิ่งมาที่จำเลย จำเลยเข้าใจว่าเป็นคนร้าย และจะทำร้ายจำเลย จำเลยจึงฟันเพื่อป้องกัน

ทางพิจารณาได้ความตามคำพยานโจทก์ว่า ตามวันเวลาที่โจทก์หาจำเลยได้ใช้มีดดาบของกลางฟันนายซุ่น แล้วนายซุ่นล้มลงขาดใจตายที่ชายหาดห่างโรงเรือนของจำเลยประมาณ 8 วา นายซุ่นมีบาดแผลเป็นรอยถูกของมีคมฟันที่หลังผิวหนังขาด 2 แห่ง ที่ท้ายทอยหนังขาดเล็กน้อย 1 แห่ง ที่ต้นคอด้านซ้ายกระดูกก้านคอเกือบขาด 1 แห่งซึ่งเป็นแผลตาย

พยานโจทก์ที่รู้เห็นใกล้ชิดมีนายสิบตำรวจโทวันผู้เดียวเบิกความว่า พยานอยู่ที่ตลาดปากน้ำ ได้ยินเสียงร้องว่า ขโมย ๆ อยู่ฟากแม่น้ำข้างโน้น คือตำบลบางพร้าว พยานลงเรือข้ามไป เห็นคนอยู่ที่หาดเป็นกลุ่ม แล้วมีคนหนึ่งวิ่งออกมาจากคนกลุ่มนั้น และมีคนไล่ตามไปคนหนึ่ง ไล่ห่างคนกลุ่มนั้นไปสัก 2 วา ก็เห็นคนที่ไล่เอาของดำ ๆ ยาว ๆ หวดลงไปที่คนหนี 1 ที คนที่หนีก็ล้มลง พอเรือพยานไปถึงฝั่ง พยานขึ้นไปดู เห็นจำเลยยืนถือดาบของกลางอยู่ตรงคนที่ล้มซึ่งขาดใจตายแล้ว จำเลยบอกว่านายซุ่นเป็นขโมยเข้าบ้านจำเลยจำเลยไล่ฟันออกมาจากบ้าน

และโจทก์นำสืบเหตุผลไปในทำนองว่า นายซุ่นเป็นชู้กับนางใช้เฮียงภริยาจำเลย จำเลยดักจับจนได้พบเห็นนายซุ่นเข้าไปกอดจูบนางใช้เฮียงจำเลยจึงได้ไล่ฟันนายซุ่นตาย

ฝ่ายจำเลยนำสืบว่า จำเลยไปถ่ายอุจจาระกลับมาได้ยินเสียงกุกกักในห้องนอน จึงร้องถามว่าใคร แต่ไม่มีเสียงตอบ ทันใดมีคนวิ่งพรวดพราดออกจากห้องนอนตรงมายังจำเลย จำเลยเห็นมีอาวุธดำ ๆ ในมือจำเลยจึงคว้ามีดดาบที่เตียงไม้ฟันไป 2 ทีแล้ววิ่งร้องไล่ตามออกไปถึงชายน้ำ คนร้ายกระโดดลงน้ำว่ายหนีออกไป แต่มีคนภายเรือเข้าล้อมจะจับ คนร้ายก็กลับว่ายเข้ามาขึ้นตลิ่งอีก จำเลยร้องว่ายอมให้จับเสียดี ๆ คนร้ายกลับวิ่งหนีไปอีกจำเลยวิ่งไล่คนร้ายวิ่งไปติดราวตากปลามีแผงกั้น จะไปต่อไปไม่ได้ พอดีจำเลยวิ่งเข้าไปห่างสัก 2 ศอก คนร้ายเอามีดหัวตัดเงื้อจะฟันจำเลย จำเลยจึงเอาดาบฟันไปอีก 1 ที ถูกหลังคนร้ายก็ล้มลงไป พอดีนายสิบตำรวจโทวันมาถึง

ศาลจังหวัดหลังสวนพิจารณาแล้ว ฟังว่าจำเลยฆ่านายซุ่นตายโดยเจตนา แต่เห็นว่า รูปเรื่องควรฟังว่าเป็นเรื่องชายชู้ และจำเลยทำร้ายนายซุ่นก็เพราะนายซุ่นเข้าไปเกี่ยวข้องกับภริยาของจำเลยในบ้านจำเลยในเรื่องชายชู้ เป็นการล่วงเกินกระทำมิชอบด้วยภริยาของจำเลยได้ชื่อว่ากระทำการกดขี่ข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม ถือได้ว่าจำเลยทำร้ายนายซุ่นโดยบันดาลโทสะ และคำรับของจำเลยชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การวินิจฉัยอยู่มากทั้งปรากฏว่าจำเลยเป็นคนประพฤติตัวดีจนได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน นับว่าเป็นเหตุอันควรปรานีแก่จำเลยได้ พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 249 วางโทษจำคุก 15 ปีแต่จำเลยกระทำโดยบันดาลโทสะ ให้ลงโทษเพียงกึ่งหนึ่ง คือ 7 ปี 6 เดือน และให้ลดฐานปรานีตามมาตรา 59 อีกกึ่งหนึ่ง คงให้จำคุกจำเลย 3 ปี 9 เดือน มีดดาบของกลางให้ริบเสีย

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ทางพิจารณาน่าเชื่อว่า นายซุ่นเข้าไปในบ้านจำเลยเพื่อลักทรัพย์มากกว่า และเชื่อตามคำจำเลยว่านายซุ่นเงื้อมีดจะฟันจำเลยจำเลยจึงฟันนายซุ่นตาย การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันชีวิตพอสมควรแก่เหตุตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 50 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

อัยการโจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาคดีนี้แล้ว ทางพิจารณาคดีมีเหตุผลสมคำจำเลย ดังที่ศาลทั้งสองฟังมาว่านายซุ่นได้ลอบเข้าไปในบ้านเรือนของจำเลยในเวลาค่ำคืน จำเลยมาพบเข้าจึงได้ฟันเอานายซุ่น แล้ววิ่งไล่ออกไปฟันนายซุ่นตายที่หาดทรายห่างโรงเรือนของจำเลยประมาณ 8 วา ที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยดักทำร้ายนายซุ่นโดยโกรธเคืองว่านายซุ่นเป็นชู้กับภริยาของจำเลยนั้น ทางพิจารณายังฟังไม่ได้แน่ชัดเช่นนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า นายซุ่นลอบเข้าไปในบ้านเรือนของจำเลยในเวลาค่ำคืนเช่นนั้นเป็นอาการของผู้ร้ายจำเลยมีความชอบธรรมที่จะกระทำการป้องกันทรัพย์ของจำเลยได้ตามสมควรและที่จำเลยถือดาบวิ่งไล่นายซุ่นออกไปอีกก็เนื่องนับว่า จำเลยกระทำเพื่อป้องกันทรัพย์ของจำเลยนั้นเอง ที่จำเลยไล่ไปทันและฟันนายซุ่นล้มลงขาดใจตายนั้น น่าเชื่อตามคำนายสิบตำรวจโทวันพยานโจทก์ที่ได้ไปเห็นในระยะใกล้ ส่วนคำจำเลยแตกต่างกับคำพยานของจำเลยเองเชื่อฟังไม่ได้ ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยกระทำการป้องกันทรัพย์เกินสมควรแก่เหตุ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา 249 ประกอบด้วยมาตรา 53

ศาลฎีกาพิพากษาแก้ให้ลงโทษจำคุกจำเลยตามบทกฎหมายอันกล่าวมานั้นมีกำหนด 3 ปี (สามปี)

Share