คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1415/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การแสดงเจตนาที่จะเป็นพินัยกรรมได้ จะต้องมีลักษณะเป็นคำสั่ง. คำสั่งนั้นเป็นคำสั่งครั้งสุดท้ายกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของบุคคลนั้น. และในการต่างๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตาย.
เจ้ามรดกมีหนังสือถึงโจทก์ซึ่งเป็นบุตร. แจ้งให้ทราบว่าตนทำพินัยกรรมลับไว้ที่อำเภอในหนังสือระบุว่า. ห้ามมิให้จำเลยขายที่นา. และห้ามมิให้จำเลยออกเงินส่วนตัวทำศพเจ้ามรดก. มิให้นาตกเป็นของจำเลย. ให้แบ่งนาให้โจทก์คนละ 5 ไร่. เหลือจากแบ่งห้ามมิให้จำเลยขายเอาเงินทำศพเจ้ามรดก. และไม่ให้นาส่วนที่เหลือตกเป็นของจำเลย. เงินสด 10,000 บาท. ถ้าทำศพเจ้ามรดกแล้วมีเงินเหลือมอบให้โจทก์ไป. ให้โจทก์เป็นผู้เก็บค่าเช่านา.ตอนท้ายของหนังสือมีความต่อไปว่า. ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติตามจดหมายนี้. ก็ให้โจทก์ไปร้องเรียนนายอำเภอ. ขอให้นายอำเภอถอนพินัยกรรมลับด้วย. ดังนี้ เอกสารหนังสือของเจ้ามรดกเป็นพินัยกรรม. และเข้าแบบพินัยกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1657. เพราะเจ้ามรดกเขียนเองทั้งฉบับ. มีผลเป็นการเพิกถอนพินัยกรรมลับของเจ้ามรดกซึ่งทำไว้ฉบับแรกบางส่วนตามมาตรา 1694.
คดีที่มีจำเลยเป็นผู้จัดการมรดก. โจทก์ซึ่งเป็นทายาทฟ้องเรียกทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกจากจำเลย. จำเลยจะยกอายุความมรดก 1 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์หาได้ไม่. เพราะกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความเกี่ยวกับการจัดการมรดกที่ผู้จัดการมรดกจะต้องรับผิดต่อทายาทไว้โดยเฉพาะแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรค 2 ซึ่งมีกำหนด 5 ปี. จำเลยมีสิทธิยกอายุความ 5 ปีนี้เท่านั้นขึ้นต่อสู้โจทก์.
จำเลยมิใช่บุคคลภายนอก. แต่เป็นผู้จัดการมรดก. ต้องถือว่าจำเลยยึดถือที่นามรดกไว้แทนโจทก์ซึ่งเป็นทายาท. จำเลยจะอ้างสิทธิว่าได้แย่งการครอบครองจากโจทก์มิได้. จะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 มาใช้บังคับไม่ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นบุตรนายเจิมนางขอ นายเจิมทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้บุตรเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2506 ต่อมาเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2507 นายเจิมทำหนังสือเพิกถอนข้อกำหนดในพินัยกรรมลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2506 โจทก์จึงมีสิทธิรับส่วนแบ่งตามพินัยกรรมลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2506 ข้อ (1) ที่นาคนละ 3 ไร่ 26 วา รวม2 คน 6 ไร่ 52 วา ตามข้อ (2) คนละ 5 ไร่ 3 งาน 13 วา รวม 11 ไร่2 งาน 66 วา จำเลยโต้แย้งสิทธิ ขอให้ศาลบังคับให้แบ่ง จำเลยให้การว่า ก่อนนายเจิมตาย ได้ทำพินัยกรรมลับเขียนเองทั้งฉบับลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2506 มอบให้กรมการอำเภอ จำเลยได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมที่นาตามพินัยกรรมข้อ (1) จึงเป็นของจำเลยคนเดียว ส่วนที่นาแปลงที่ 2 โจทก์มีส่วนได้คนละ 5 ไร่ จำเลยได้แบ่งให้โจทก์ไปแล้ว คดีโจทก์ขาดอายุความและพ้นระยะเวลาที่โจทก์ฟ้องเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 ฯลฯ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้แบ่งที่นำมรดกทั้ง 2 แปลงตามฟ้องออกเป็น3 ส่วน ให้โจทก์จำเลยได้คนละ 1 ส่วน ฯลฯ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ พิพากษากลับ เป็นให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2506 นายเจิมทำพินัยกรรมลับเขียนเองทั้งฉบับ แล้วนำไปมอบให้กรมการอำเภอ ต่อมาวันที่ 5 พฤษภาคม 2507 นายเจิมมีหนังสือถึงโจทก์ทั้งสองแจ้งให้ทราบว่าตนได้ทำพินัยกรรมลับไว้ที่อำเภอ ในหนังสือฉบับนี้ได้ระบุไว้ว่า 1. ห้ามมิให้นายสรรเสริญขายที่นาที่ทุ่งหนองขาหย่าง และห้ามมิให้นายสรรเสริญออกเงินส่วนตัวทำศพนายเจิม และมิให้นาตกเป็นของนายสรรเสริญ 2. ให้แบ่งนาทุ่งมาบโพธิ์ให้แก่นางพร้อมและนายสง่า(นายสรรพชัย) คนละ 5 ไร่ก่อน เหลือจากแบ่ง ห้ามมิให้นายสรรเสริญขายเอาเงินทำศพนายเจิม ห้ามมิให้นายสรรเสริญเอาเงินส่วนตัวทำศพและไม่ให้นาส่วนที่เหลือตกเป็นของนายสรรเสริญ 3. เงินสด 10,000 บาทถ้าทำศพนายเจิมและสร้างอนุสาวรีย์ให้นายเจิมและนางขอคนละ 1 หลังแล้ว มีเงินเหลือมอบให้นางพร้อมและนายสง่า (นายสรรพชัย) ไป 4. ให้นางพร้อมและนายสง่า (นายสรรพชัย) เป็นผู้เก็บค่าเช่านาแปลงที่ 1และที่ 2 ตอนท้ายของหนังสือนี้มีข้อความต่อไปว่า ถ้านายสรรเสริญไม่ปฏิบัติตามจดหมายฉบับนี้ ก็ให้นางพร้อม นายสง่า (นายสรรพชัย)ไปร้องเรียนต่อนายอำเภอสรรค์บุรี ขอให้นายอำเภอถอนพินัยกรรมลับให้ด้วย ศาลฎีกาเห็นว่า การแสดงเจตนาที่จะเป็นพินัยกรรมได้ จะต้องมีลักษณะเป็นคำสั่ง คำสั่งนั้นเป็นคำสั่งครั้งสุดท้ายกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของบุคคลนั้น และในการต่าง ๆ อันจะให้เกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตาย ศาลฎีกาพิเคราะห์หนังสือของนายเจิม ฉบับลงวันที่ 5 พฤษภาคม 2507 แล้ว เห็นว่า เข้าหลักเกณฑ์มีลักษณะเป็นคำสั่งเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของนายเจิมเมื่อนายเจิมตายไปแล้ว แม้หนังสือฉบับนี้จะเป็นหนังสือที่นายเจิมมีไปถึงนางพร้อมและนายสรรพชัยก็ตาม แต่บุคคลทั้งสองนี้เป็นบุตรนายเจิมมีสิทธิที่จะได้รับส่วนแบ่งมรดก และในหนังสือระบุให้เป็นผู้มีหน้าที่เก็บค่าเช่านาพิพาททั้งสองแปลงนี้ เอกสารหนังสือของนายเจิมฉบับนี้จึงเป็นพินัยกรรม และเข้าแบบพินัยกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1657 เพราะนายเจิมเขียนเองทั้งฉบับ เมื่อเอกสารฉบับนี้เป็นพินัยกรรมแล้ว จึงมีผลเป็นการเพิกถอนพินัยกรรมลับของนายเจิม ซึ่งทำไว้เป็นฉบับแรกบางส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1694 เฉพาะที่นาทุ่งหนองขาหย่างและทุ่งมาบโพธิ์ นอกจากจะยกให้โจทก์ทั้งสองคนละ 5 ไร่แล้ว นายเจิมไม่ประสงค์จะยกให้แก่ทายาทคนใด ดังนั้น จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะเอานาพิพาททั้ง 2 แปลงนี้มาเป็นของตนตามพินัยกรรมลับฉบับแรกได้ คดีนี้ จำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกตามที่พินัยกรรมลับของนายเจิม ฉบับลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2506 ข้อ 2แต่งตั้งไว้ และไม่ปรากฏว่าพินัยกรรมของนายเจิมฉบับที่ลงวันที่5 พฤษภาคม 2507 เพิกถอนไม่ให้นายสรรเสริญเป็นผู้จัดการมรดกต่อไปและข้อเท็จจริงก็ฟังได้ว่าจำเลยได้เข้ามาเป็นผู้จัดการมรดกของนายเจิมตามที่ระบุไว้ในพินัยกรรมลับ คดีนี้จึงเป็นคดีที่มีจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกซึ่งได้รับแต่งตั้งโดยพินัยกรรม โจทก์ซึ่งเป็นทายาทฟ้องเรียกทรัพย์มรดกของนายเจิมจากจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกจำเลยจะยกอายุความมรดก 1 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์หาได้ไม่ เพราะกฎหมายได้บัญญัติเรื่องอายุความเกี่ยวกับการจัดการมรดกที่ผู้จัดการมรดกจะต้องรับผิดต่อทายาทไว้โดยเฉพาะแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรค 2ซึ่งมีกำหนดอายุความ 5 ปีนับตั้งแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง จำเลยมีสิทธิยกอายุความ 5 ปีนี้เท่านั้นขึ้นต่อสู้โจทก์ ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงในคดีนี้จะได้ความว่าโจทก์จะได้ทราบข้อกำหนดตามพินัยกรรมฉบับหลัง และโจทก์มิได้ถือเอาประโยชน์จากข้อกำหนดในพินัยกรรมฉบับหลังนี้จนล่วงเลยเกิน 1 ปีมาแล้วก็ตาม โจทก์ก็ยังคงมีสิทธิเรียกร้องทรัพย์มรดกของนายเจิมจากจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกได้ ส่วนข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่าที่นามรดกของนายเจิมทั้ง 2 แปลงนี้ได้แบ่งปันระหว่างโจทก์จำเลยแล้ว โจทก์ฟ้องเรียกคืนภายหลังเมื่อพ้นระยะเวลา 1 ปีนับตั้งแต่จำเลยได้แย่งการครอบครองไม่ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยมิใช่บุคคลภายนอก แต่เป็นผู้จัดการมรดกจึงต้องถือว่าจำเลยยึดถือที่นาทั้งสองแปลงนี้แทนโจทก์ซึ่งเป็นทายาท จำเลยจะอ้างสิทธิว่าได้แย่งการครอบครองจากโจทก์มิได้ ดังนั้นจึงนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1375 มาใช้บังคับแก่คดีนี้ก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share