คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 461/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินเกิดเหตุ ย่อมมี สิทธิรื้อถอนทรัพย์ของโจทก์ร่วมที่นำเข้ามาไว้ในที่ดิน ของจำเลยโดยไม่มีสิทธิตามกฎหมายอันเป็นการขัดขวางการใช้สิทธิของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336เมื่อจำเลยใช้สิทธิของเจ้าของทรัพย์ตามสมควรแก่พฤติการณ์จำเลยไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2533 เวลากลางวันจำเลยทั้งสองกับพวกอีกคนหนึ่งซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันใช้รถแทรกเตอร์ 1 คัน ไถทำลายต้นมันแกวอายุประมาณ 3 เดือนให้ผลแล้วของนายวสันต์ ยามะสัก นายสี ยาวุฒิ นายสมพงษ์ ปาวินนายชาญณรงค์ เสนหล้า และนายสมศักดิ์ กาวินจันทร์ ผู้เสียหายซึ่งเป็นกสิกรมีอาชีพทำไร่มันแกวโดยต้นไม่ดังกล่าวปลูกอยู่ในเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 8 ไร่ ทำให้ผู้เสียหายทั้งห้าได้รับความเสียหาย คิดเป็นเงินจำนวน 62,000 บาท จำเลยทั้งสองกับพวกยังได้ร่วมกันใช้รถแทรกเตอร์ดังกล่าว ไถทำลายบ้านพัก 3 หลังเสารั้วปูน 122 ต้น ลวดหนามล้อมรั้ว 120 ขด ของผู้เสียหายทั้งห้าที่สร้างขึ้นไว้เพื่อดูแลรักษาต้นมันแกวดังกล่าวคิดเป็นค่าเสียหายจำนวน 36,900 บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358,359, 33, 83 ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานายวสันต์ ยามะสัก นายสี ยาวุฒินายสมศักดิ์ กาวินจันทร์ นายสมพงษ์ ปาวิน และนายชาญณรงค์ เสนหล้า ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 359 (4) ให้จำคุก 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยที่ 1 ได้กลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไปโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี โดยกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติจำเลยที่ 1 โดยให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 2 เดือนเป็นเวลา 1 ปี ห้ามจำเลยที่ 1 เข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของโจทก์ร่วมทั้งห้า อันจะนำไปสู่การกระทำความผิดในลักษณะเดียวกับคดีนี้อีก ริบของกลาง ให้ยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ โจทก์ร่วมทั้งห้าฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่าตามวันเวลาที่เกิดเหตุตามฟ้อง โจทก์ร่วมทั้งห้าปลูกกระต๊อบ 3 หลังราคาหลังละ 2,000-3,000 บาท ล้อมรั้วลวดหนามและเป็นเจ้าของต้นมันแกวในที่ดินเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ได้ใช้รถแทรกเตอร์ไถที่ดินเป็นเหตุให้ต้นมันแกว กระต๊อบ และรั้วลวดหนามได้รับความเสียหาย… พยานหลักฐานจำเลยที่ 1 จึงมีน้ำหนักและเหตุผลดีกว่าพยานโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งห้า ฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิที่จะใช้สอยและติดตามเอาคืนที่ดิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 จำเลยที่ 1 เบิกความว่า ที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 669 และ 701 รวม 2 แปลงมีเนื้อที่รวม 110 ไร่ ตามเอกสารหมาย ล. 10และ ล. 11 เมื่อจำเลยที่ 1 ได้มาแล้วได้นำที่ดินดังกล่าวดำเนินการจัดสรรเพื่อขายในลักษณะสวนเกษตร โดยเจ้าของที่ดินเดิมแบ่งที่ดินออกเป็นแปลงย่อยไว้แล้วตามเอกสารหมาย ล.12 และหลังจากจำเลยที่ 1 ได้รับโอนที่ดินทั้งสองแปลงมาแล้ว ก็ได้นำที่ดินดังกล่าวให้ผู้อื่นเช่าโดยมีนายมนัส เป็นผู้ดูแล จำเลยที่ 1ให้นายกิจ นายเดชาและนายเจริญ เป็นผู้เช่าที่ดินที่เกิดเหตุโดยมีข้อตกลงว่าผู้เช่าที่ดินที่เกิดเหตุจะต้องออกไปจากที่ดินภายในเดือนสิงหาคม 2533 วันที่ 26 สิงหาคม 2533 จำเลยที่ 1ได้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอสันทรายเกี่ยวกับรายละเอียดดังกล่าวเพื่อจะคัดรายงานประจำวันข้อความที่แจ้งนั้นไปให้กำนันผู้ใหญ่บ้านและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองทราบว่าจำเลยที่ 1จำเป็นต้องใช้ที่ดินดังกล่าว ปรากฏตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย ล.13 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้แจ้งนายจำรัสเข้าไปดำเนินการไถปรับที่ดินที่เกิดเหตุโดยมีค่าจ้าง 15,000 บาทเมื่อดำเนินการไถตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2533 จนถึง 6 กันยายน2533 ผู้รับจ้างได้ดำเนินการไถที่ดินทั้งหมดเว้นไว้เฉพาะเนื้อที่ที่มีการปลูกมันแกวจำนวนประมาณ 4 ไร่ ซึ่งให้รอไว้ก่อนเพื่อหาตัวเจ้าของผู้ปลูกมันแกว รายละเอียดการจ้างเหมา ปรากฏตามเอกสารหมายล.14 และ ล.15 ต่อมาวันที่ 11 กันยายน 2533 นายมนัสโทรศัพท์ไปบอกจำเลยที่ 1 ว่ามีผู้มาปักเสารั้วและปลูกกระต๊อบจำนวน 3 หลัง และขึ้นโครงไม้รวกเล็ก ๆ บริเวณที่เกิดเหตุจำเลยที่ 1 จึงตามกำนันผู้ใหญ่บ้านที่เกิดเหตุมาดำเนินการปิดป้ายประกาศที่เสารั้วแจ้งให้ผู้ทำรั้วและปลูกกระต๊อบมาแสดงตัวที่บ้านจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกำนัน มิฉะนั้นจะดำเนินการทันทีปรากฏตามภาพถ่ายป้ายที่ติดอยู่ในที่ดินหมาย ล.16 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 กลับมาดูที่เกิดเหตุพร้อมกับพันตำรวจโทสุนทร ศรีทองในวันที่ 18 กันยายน 2533 จำเลยที่ 1 แจ้งต่อพันตำรวจโทสุนทร ว่า จำเลยที่ 1 ไม่อาจดำเนินการใด ๆ ในที่ดินเกิดเหตุได้เนื่องจากไม่ทราบว่าผู้ปลูกกระต๊อบและล้อมรั้วไว้เป็นผู้ใด พันตำรวจโทสุนทร บอกจำเลยที่ 1 ว่า ที่ดินเป็นของจำเลยที่ 1 อยู่แล้วจำเลยที่ 1 ย่อมดำเนินการใด ๆ ได้ต่อมาในวันที่ 19 กันยายน 2533 ซึ่งครบกำหนดตามประกาศที่จำเลยที่ 1 ติดไว้ก็ยังไม่มีบุคคลใดแสดงตัวเป็นเจ้าของ จำเลยที่ 1 จึงให้ผู้ขับรถแทรกเตอร์ของกลางไถที่ดินที่เกิดเหตุ คำเบิกความของจำเลยที่ 1 มีเอกสารประกอบและมีจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกำนันท้องที่และนายมนัส ผู้ดูแลที่ดินของจำเลยที่ 1 เบิกความสนับสนุนจึงน่าเชื่อว่าเป็นจริงตามนั้นศาลฎีกาเห็นว่า รูปคดีฟังได้ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิใช้สอยติดตามและเอาคืนในฐานะของเจ้าของทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 โดยจำเลยที่ 1รื้อถอนทรัพย์ของโจทก์ร่วมทั้งห้าที่ได้นำเข้ามาไว้ในที่ดินของจำเลยที่ 1 โดยไม่มีสิทธิตามกฎหมายอันเป็นการขัดขวางการใช้ทรัพย์ของจำเลย การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการใช้สิทธิของเจ้าของทรัพย์ตามสมควรแก่พฤติการณ์ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ดังที่โจทก์ฟ้องที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล ฎีกาโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งห้าฟังไม่ขึ้นแต่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ตามศาลชั้นต้นในส่วนที่ให้ริบของกลางนั้น เมื่อฟังว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความผิดตามฟ้องแล้ว ของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่ใช้ในการทำความผิดไม่อาจริบได้ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง”
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ริบของกลาง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share