แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่2และที่3ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับผู้ร้องโดยมีก. ทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและจำเลยที่2ที่3และก. ได้จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำเลยที่2ที่3และก.ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันเป็นประกันหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีด้วยกรณีนี้จำเลยที่2ที่3และก. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์ที่จำนองได้ร่วมกันเอาทรัพย์สินจำนองไว้แก่ผู้ร้องเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่2และที่3โดยจำเลยที่2และที่3เป็นลูกหนี้ชั้นต้นส่วนก. เป็นเพียงลูกหนี้ชั้นที่สองตามสัญญาค้ำประกันและจำนองซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์เท่านั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา724มิได้ให้สิทธิแก่จำเลยที่2และที่3ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ก. ซึ่งเป็นผู้จำนองได้และแม้ว่าก. จะทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่2และที่3อย่างลูกหนี้ร่วมก็มีความหมายเพียงว่าก. ยอมเข้ารับผิดร่วมกับจำเลยที่2และที่3หาได้หมายความว่าก. จะมีฐานะกลายเป็นลูกหนี้ชั้นต้นเช่นเดียวกับจำเลยที่2และที่3ไปด้วยไม่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา693หาได้ให้สิทธิแก่จำเลยที่2และที่3ที่จะไล่เบี้ยเอาจากก. ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันไม่ก. และจำเลยที่2และที่3ต่างไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ต่อกันอันจะทำให้มีการหักกลบลบหนี้กันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา341ดังนั้นเมื่อผู้คัดค้านได้นำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างส่วนของจำเลยที่2และที่3ในคดีนี้ชำระหนี้จำนวน9,429,863บาทให้แก่ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้มีประกันก่อนเจ้าหนี้อื่นแล้วผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิที่จะนำเงินจำนวน3,143,287.66บาทไปขอหักกลบลบหนี้กับเงินส่วนของก.ที่จะได้รับจากการขายทอดตลาดดังกล่าว
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ผู้คัดค้านส่งเงินตามที่อายัดจำนวน4,970,000 บาท แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ประจำศาลจังหวัดสมุทรปราการ
ผู้คัดค้านแถลงคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ยอดเงินส่วนของนางกัลยาที่เหลืออยู่ตามบัญชีที่ผู้คัดค้านจัดทำขึ้นนั้น ถูกต้องแล้วให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2527 จำเลยที่ 2 และที่ 3ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับผู้ร้อง โดยมีนางกัลยาพัวพันธุ์ทอง ทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและจำเลยที่ 2 ที่ 3 และนางกัลยาได้จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 62438ถึงเลขที่ 62445 และเลขที่ 32255 ตำบลสำโรงเหนือ (สำโรงฝั่งใต้)อำเภอเมืองสมุทรปราการ (เมือง) จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำเลยที่ 2 ที่ 3 และนางกัลยาถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันเป็นประกันหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีด้วย เมื่อวันที่2 ตุลาคม 2528 นางกัลยาได้ถึงแก่กรรม นายสันติ พัวพันธุ์ทองและนางสาวสายสวาท พัวพันธุ์ทอง เป็นทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกและนางสันติเป็นผู้จัดการมรดกของนางกัลยา เมื่อวันที่4 กันยายน 2529 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ผิดนัดไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3นายสันติและนางสาวสายสวาทเป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการให้ร่วมกันชำระเงิน 8,410,327.10 บาท แก่ผู้ร้อง พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 8,321,413.37 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ศาลจังหวัดสมุทรปราการพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 685/2530 ผู้ร้องอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 นายสันติและนางสาวสายสวาทร่วมกันชำระเงิน 8,321,413.37 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 กันยายน 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 88,913.73 บาทถ้าไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 ที่ 3นายสันติและนางสาวสายสวาทออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 นายสันติและนางสาวสายสวาทใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนผู้ร้อง โดยกำหนดค่าทนายความรวม 15,000 บาทแต่สำหรับนายสันติและนางสาวสายสวาทให้รับผิดไม่เกินจำนวนทรัพย์มรดกของนางกัลยาที่ตกให้แก่นายสันติและนางสาวสายสวาทปรากฏตามสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เอกสารหมาย ร.3 เมื่อปี 2531โจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีนี้ ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสามเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยทั้งสามเป็นบุคคลล้มละลาย วันที่ 30 สิงหาคม 2531 ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสามเด็ดขาด ผู้ร้องได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเป็นเงิน 12,001,889.84 บาทจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่อผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านทำการสอบสวนแล้ว เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2532 ผู้คัดค้านได้ทำความเห็นเสนอต่อศาลชั้นต้นว่า เห็นควรให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 10,804,158.35 บาท โดยให้ได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 62438ถึงเลขที่ 62445 และเลขที่ 32255 ตำบลสำโรงเหนือ (สำโรงฝั่งใต้)อำเภอเมืองสมุทรปราการ (เมือง) จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมสิ่งปลูกสร้างจำนวน 9,429,863 บาท ในฐานะเจ้าหนี้มีประกันตามมาตรา 96(3) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483ก่อนเจ้าหนี้อื่น ตามเอกสารหมาย ร.8 วันที่ 17 สิงหาคม 2533ผู้คัดค้านได้ขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นเงินจำนวน 18,100,000 บาท เป็นส่วนของนางกัลยาผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมจำนวน 6,033,333.34 บาท และเป็นส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3จำนวน 12,066,666.66 บาท สำหรับส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้นผู้คัดค้านได้นำไปชำระหนี้จำนองแก่ผู้คัดค้านตามคำพิพากษาของศาลในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 685/2530 ของศาลจังหวัดสมุทรปราการเป็นเงิน 9,429,683 บาท ถูกต้องแล้ว ปรากฏตามบัญชีแสดงรายการรับจ่ายเงินเอกสารหมาย ร.9 ผู้ร้องได้ร้องขอให้บังคับคดีแก่นายสันติและนางสาวสายสวาทเพื่อให้ชำระหนี้ในส่วนที่ขาดเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2534 ศาลจังหวัดสมุทรปราการได้ออกหมายบังคับคดีให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดหรืออายัดทรัพย์สินของนายสันติและนางสาวสายสวาท และได้มีหนังสือลงวันที่ 22 พฤษภาคม2534 ถึงศาลชั้นต้นขอให้อายัดเงินที่นายสันติและนางสาวสายสวาทในฐานะทายาทหรือผู้จัดการมรดกของนางกัลยามีสิทธิได้รับจากผู้คัดค้านเป็นเงินจำนวน 4,970,000 บาท ตามเอกสารหมาย ร.6วันที่ 19 กันยายน 2534 ผู้คัดค้านได้ออกหมายนัดแจ้งไปยังนายสันติและนางสาวสายสวาทขอหักกลบลบหนี้ที่นางกัลยาค้างชำระค่าหุ้นแก่จำเลยที่ 1 จำนวน 135,000 บาท กับจำเลยที่ 1 และหักเงินจำนวน 3,143,287.66 บาท โดยอ้างว่าเป็นเงินส่วนที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ชำระหนี้แก่ผู้ร้องแทนนางกัลยาไปและผู้คัดค้านได้โอนเงินที่เหลือจำนวน 2,755,045.68 บาทไปไว้ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 685/2530 ของศาลจังหวัดสมุทรปราการตามเอกสารหมาย ค.6 และตามบัญชีแสดงการรับจ่ายเงินเอกสารหมาย ร.11ตามที่ผู้ร้องขออายัดไว้
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อแรกของผู้ร้องว่า ผู้คัดค้านมีสิทธิจะนำเงินจำนวน 3,143,287.66 บาท ส่วนของนางกัลยามาหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ชำระแก่ผู้ร้องหรือไม่ เรื่องหักกลบลบหนี้ได้มีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 วรรคแรกว่า “ถ้าบุคคลสองคนต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมูลหนี้อันมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกันและหนี้ทั้งสองรายนั้นถึงกำหนดจะชำระไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมจะหลุดพ้นจากหนี้ของตนด้วยหักกลบลบหนี้กันได้เพียงเท่าจำนวนที่ตรงกันในมูลหนี้ทั้งสองฝ่ายนั้น เว้นแต่สภาพแห่งหนี้ฝ่ายหนึ่งจะไม่เปิดช่องให้หักกลบลบหนี้ได้”ตามมาตรา 341 วรรคแรกนี้ เห็นว่า การที่จะขอหักกลบลบหนี้กันได้นั้นจะต้องมีบุคคลสองฝ่ายต่างเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ต่อกัน มูลหนี้มีวัตถุเป็นอย่างเดียวกันและหนี้ทั้งหมดรายนั้นถึงกำหนดชำระแล้วสำหรับกรณีนี้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และนางกัลยาเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในทรัพย์ที่จำนองได้ร่วมกันเอาทรัพย์สินจำนองไว้แก่ผู้ร้องเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นลูกหนี้ชั้นต้นส่วนนางกัลยาเป็นเพียงลูกหนี้ชั้นที่สองตามสัญญาค้ำประกันและจำนองซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์เท่านั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 724 ได้บัญญัติไว้ว่า “ผู้จำนองใดได้จำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระแล้วและเข้าชำระหนี้เสียเองแทนลูกหนี้เพื่อจะปัดป้องมิให้ต้องบังคับจำนอง ท่านว่าผู้จำนองนั้นชอบที่จะได้รับเงินใช้คืนจากลูกหนี้ตามจำนวนซึ่งผู้รับจำนองจะได้รับใช้หนี้จากการบังคับจำนองนั้น” ตามบทบัญญัติมาตรา 724 นี้ หมายความว่า ถ้านางกัลยาชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้องแทนจำเลยที่ 2 และที่ 2 ไป หรือถ้ามีการบังคับจำนองนำทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินส่วนของนางกัลยาไปใช้หนี้แก่ผู้ร้องแทนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไป นางกัลยาก็มีสิทธิจะได้รับเงินใช้คืนจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ตามบทกฎหมายดังกล่าวมิได้ให้สิทธิแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นที่จะไล่เบี้ยเอาแก่นางกัลยาซึ่งเป็นผู้จำนองได้ และแม้ว่านางกัลยาจะทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 อย่างลูกหนี้ร่วม ก็มีความหมายเพียงว่านางกัลยายอมเข้ารับผิดร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในทันทีโดยจะอ้างสิทธิพิเศษตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 688, 689 และ 690แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ขึ้นต่อสู้กับผู้ร้องไม่ได้เท่านั้นหาได้หมายความว่า นางกัลยาจะมีฐานะกลายเป็นลูกหนี้ชั้นต้นเช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไปด้วยไม่ และเมื่อนางกัลยาได้ชำระหนี้แก่ผู้ร้องแล้ว นางกัลยาย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ อีกทั้งยังเข้ารับช่วงสิทธิของผู้ร้องที่มีเหนือจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้อีกด้วย ทั้งนี้ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 693 จะเห็นได้ว่าตามบทกฎหมายที่กล่าวมาหาได้ให้สิทธิแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3ที่จะไล่เบี้ยเอาจากนางกัลยาซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันไม่นางกัลยาและจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่างไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้ต่อกันอันจะทำให้มีการหักกลบลบหนี้กันได้ ดังนั้นเมื่อผู้คัดค้านได้นำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในคดีนี้ชำระหนี้จำนวน 9,429,863 บาทให้แก่ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้มีประกันก่อนเจ้าหนี้อื่น ตามความเห็นของผู้คัดค้านซึ่งศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของผู้คัดค้านแล้ว ไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นที่จะไล่เบี้ยเอาจากนางกัลยาผู้ค้ำประกันและจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิที่จะนำเงินจำนวน 3,143,287.66 บาท ไปขอหักกลบลบหนี้กับนายสันติและนางสาวสายสวาททายาทของนางกัลยาได้
ปัญหาต่อไปมีว่า ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลภายในกำหนดเวลา14 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งของผู้คัดค้านหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า ผู้ร้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้ใน 2 ฐานะคือในฐานะเจ้าหนี้รายที่ 3 โดยนายทวี คงแสงภักดิ์ ผู้รับมอบอำนาจยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจากกองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามเอกสารหมาย ร.8 และในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 685/2530 ของศาลจังหวัดสมุทรปราการได้ขอให้ศาลจังหวัดสมุทรปราการออกหมายบังคับคดีอายัดเงินที่นายสันติและนางสาวสายสวาททายาทหรือผู้จัดการมรดกของนางกัลยามีสิทธิได้รับจากผู้คัดค้านเป็นเงินจำนวน 4,970,000 บาท โดยนายทวีผู้รับมอบอำนาจตามเอกสารหมาย ร.3 ร.4 และ ร.6 ตามบัญชีแสดงการรับ-จ่ายเงินเอกสารหมาย ร.9 (ค.3) นายทวีได้ลงลายมือชื่อรับรองว่าได้ตรวจและรับรองบัญชีถูกต้องเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2534ถือได้ว่าได้ลงลายมือชื่อรับรองในฐานะผู้รับมอบอำนาจเจ้าหนี้รายที่ 3 ตามบัญชีแสดงรายรับ-จ่ายเงินดังกล่าว ในหมวดค่าใช้จ่ายต่อไปภายหน้า ได้จ่ายค่าธรรมเนียมร้อยละ 5 ของเงิน 12,066,666.66บาท ซึ่งเป็นเงินส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 คิดเป็นเงินจำนวน603,333.33 บาท ค่าส่งหนังสือแจ้งรับเงิน 36 บาท จ่ายผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนอง 9,429,863 บาท หักส่วนของนางกัลยา6,033,333.34 บาท คงเหลือเข้ากองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 และที่ 3จำนวน 1,940,644.33 บาท ส่วนของนางกัลยาผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมจำนวน 6,033,333.34 บาท ได้มีหมายเหตุไว้ว่าหักชำระหนี้ค่าหุ้น135,000 บาท หักหนี้จำนอง 1 ใน 3 ของเงิน 9,429,863 บาทเป็นเงิน 3,143,287.66 บาท คงเหลือ 2,755,045.68 บาทการหักเงินทั้ง 2 จำนวนของนางกัลยาไม่ได้ระบุว่าเป็นการหักกลบลบหนี้ถือได้ว่าเป็นการกันส่วนไว้เพื่อดำเนินการต่อไปเท่านั้นการหักกลบลบหนี้เพิ่งปรากฏตามความเห็นของรองอธิบดีกรมบังคับคดีท้ายบันทึกข้อความลงวันที่ 22 เมษายน 2534 ของผู้คัดค้านเอกสารหมาย ร.10 แผ่นที่ 2 ต่อมาผู้คัดค้านจึงได้ทำบันทึกข้อความลงวันที่ 18 มิถุนายน 2534 เสนอผู้อำนวยการกองยึดอายัดและจำหน่ายทรัพย์สิน (บังคับคดีแพ่ง3) ขอหักกลบลบหนี้ ตามเอกสารหมายร.7 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2534 ผู้คัดค้านจึงออกหมายนัดแจ้งขอหักกลบลบหนี้ต่อนายสันติและนางสาวสายสวาท ผู้จัดการมรดกของนางกัลยาทราบตามเอกสารหมาย ค.6 แผ่นที่ 1 และแผ่นที่ 2พนักงานเดินหมายส่งหมายนัดโดยวิธีปิดหมาย เมื่อวันที่ 27 กันยายน2534 ตามเอกสารหมาย ค.6 แผ่นที่ 3 และแผ่นที่ 4 ซึ่งมีผลถือว่านายสันติและนางสาวสายใจทราบเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2534ดังนั้นการแสดงเจตนาขอหักกลบลบหนี้ของผู้คัดค้านต่อผู้จัดการมรดกของนางกัลยาจึงมีผลตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2534 ซึ่งนายทวีผู้รับมอบอำนาจผู้ร้องได้ลงลายมือชื่อรับทราบ การหักกลบลบหนี้ของผู้คัดค้านในท้ายบันทึกข้อความเอกสารหมาย ร.7 เมื่อวันที่25 ตุลาคม 2534 ซึ่งถือว่าผู้ร้องได้ทราบว่าผู้คัดค้านได้ทำการหักกลบลบหนี้ระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับผู้จัดการมรดกของนางกัลยาในวันนั้นที่นายทวีได้ลงลายมือรับทราบบัญชีแสดงรายการรับ-จ่ายเงินท้ายเอกสารหมาย ร.7 (ค.3)เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2534 ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการรับทราบการหักกลบลบหนี้ของผู้คัดค้านเพราะขณะนั้นผู้คัดค้านยังไม่ได้แสดงเจตนาขอหักกลบลบหนี้ต่อคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น การที่ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของผู้คัดค้านต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2534 จึงยังไม่เกินกำหนด 14 วันนับแต่วันทราบคำสั่งของผู้คัดค้าน
อนึ่ง ผู้ร้องฎีกาขอให้ผู้คัดค้านส่งเงินจำนวน 4,970,000 บาทตามที่ขออายัดไว้ แต่ตามคำร้องและข้อเท็จจริงในทางพิจารณาฟังได้ยุติแล้วว่า ผู้คัดค้านได้ส่งเงินไปให้เจ้าพนักงานบังคับคดีสำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ประจำศาลจังหวัดสมุทรปราการจำนวน 2,755,045.68 บาท ตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2534แล้วตามเอกสารหมาย ร.11 คงขาดอยู่เพียง 2,214,954.32 บาทผู้คัดค้านจึงต้องส่งเงินให้อีกเพียง 2,214,954.32 บาท เท่านั้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ผู้คัดค้านส่งเงินส่วนของนางกัลยาพัวพันธุ์ทอง จำนวน 2,214,954.32 บาท ไปให้เจ้าพนักงานบังคับคดีสำนักงานบังคับคดีและวางทรัพย์ ประจำศาลจังหวัดสมุทรปราการนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์