คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7812/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำว่า”โจทก์”ในคดีแพ่งแม้ไม่มีบทวิเคราะห์ศัพท์ไว้โดยตรงก็ตามย่อมหมายความว่าผู้ยื่นคำร้องต่อศาลหรือนัยหนึ่งหมายความถึงผู้เป็นคู่ความตามบทวิเคราะห์ศัพท์ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา1(11)ซึ่งรวมถึงบุคคลผู้มีสิทธิกระทำการแทนบุคคลนั้นๆตามกฎหมายหรือในฐานะทนายความด้วยฉะนั้นการส่งหมายหรือแจ้งคำสั่งของศาลไปยังตัวโจทก์หรือทนายโจทก์ก็ย่อมมีผลตามกฎหมายเช่นเดียวกันและไม่มีกฎหมายใดบังคับไว้ว่าต้องส่งหมายหรือแจ้งคำสั่งของศาลไปให้ตัวโจทก์เมื่อพนักงานเดินหมายได้นำหมายแจ้งคำสั่งดังกล่าวที่แจ้งถึงการส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยไม่ได้และให้โจทก์แถลงเพื่อดำเนินการต่อไปภายใน7วันนับแต่วันทราบไปส่งให้แก่ทนายโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลที่โจทก์ได้แต่งตั้งและให้มีอำนาจดำเนินคดีแทนตามใบแต่งทนายและเป็นคู่ความตามมาตรา1(11)จึงถือว่าเป็นการส่งหมายให้โจทก์ทราบโดยชอบเมื่อโจทก์ไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดจึงถือว่าทิ้งอุทธรณ์ตามมาตรา174(2)ประกอบมาตรา246

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเนื่องจากลูกจ้างของจำเลยทั้งสามจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้เกิดเพลิงไหม้ทรัพย์สินของโจทก์ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 300,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 20 มีนาคม2528 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3
โจทก์ยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2530 และศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันเดียวกันนั้นว่า รับอุทธรณ์โจทก์ สำเนาให้จำเลยแก้โดยให้โจทก์นำส่งภายใน 7 วันนี้ หากส่งไม่ได้ ให้แถลงถึงการดำเนินการต่อไปภายใน 10 วัน นับแต่วันส่งไม่ได้ มิฉะนั้นถือว่าทิ้งอุทธรณ์ ต่อมาวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2530 พนักงานเดินหมายรายงานว่า ในวันดังกล่าวส่งสำเนาอุทธรณ์ให้ทนายจำเลยไม่ได้ศาลชั้นต้นสั่งเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2530 ว่า รอโจทก์แถลงแต่โจทก์ไม่แถลง จนกระทั่งถึงวันที่ 10 มีนาคม 2530 เจ้าหน้าที่ศาลจึงรายงานให้ศาลทราบและศาลชั้นต้นได้สั่งในวันเดียวกันนั้นอีกว่าจำเลย (ที่ถูกคือโจทก์) ยังไม่ทราบผลการส่งหมาย จึงให้แจ้งผลการส่งหมายให้จำเลย (ที่ถูกคือโจทก์) ทราบก่อน และให้จำเลย(ที่ถูกคือโจทก์) แถลงเพื่อดำเนินการต่อไปภายใน 7 วัน นับแต่วันทราบ มิฉะนั้นถือว่าทิ้งอุทธรณ์ ต่อมาวันที่ 17 มีนาคม 2530พนักงานเดินหมายได้รายงานให้ศาลทราบว่าได้นำหมายแจ้งคำสั่งศาลให้ทนายโจทก์ทราบแล้วตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2530 โจทก์ก็ไม่แถลงให้ศาลทราบภายในกำหนด 7 วัน ดังกล่าว ครั้นวันที่ 26 มีนาคม2530 เจ้าหน้าที่ศาลจึงรายงานให้ศาลทราบอีกว่าได้แจ้งคำสั่งศาลให้โจทก์ทราบดังกล่าวข้างต้นแล้ว โจทก์ยังมิได้ยื่นคำแถลงเพื่อดำเนินการส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลย ซึ่งบัดนี้ล่วงเลยระยะเวลาแล้ว ศาลชั้นต้นจึงสั่งให้รวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลอุทธรณ์เพื่อสั่ง
ต่อมาวันที่ 3 เมษายน 2530 ทนายโจทก์ได้ยื่นคำแถลงว่าโจทก์ได้นำส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยไม่ได้ และศาลมีหมายแจ้งให้โจทก์ทราบเพื่อแถลงให้ศาลทราบต่อไป แต่ในระหว่างที่ศาลส่งหมายให้ทนายโจทก์ทราบนั้น ทนายโจทก์ติดธุระส่วนตัวเพิ่งกลับมา จึงทราบถึงความที่ไม่สามารถส่งหมายให้จำเลยได้ไม่ได้นิ่งนอนใจหรือละเลยในคำสั่งดังกล่าวของศาลแต่อย่างใดจึงขอให้ศาลอนุญาตให้ส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยอีกครั้งศาลชั้นต้นสั่งให้รวมสำนวนส่งศาลอุทธรณ์เพื่อสั่ง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ข้ออ้างของทนายโจทก์ที่ว่า มิได้จงใจหรือเจตนาละทิ้งอุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้มีว่า โจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า การส่งหมายหรือแจ้งคำสั่งศาลควรแจ้งไปยังตัวโจทก์หรือทนายโจทก์ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2) บัญญัติว่า ให้ส่งคำสั่งให้แก่โจทก์ก่อนเมื่อโจทก์ไม่ปฎิบัติตาม จึงจะถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง ในกรณีนี้มิได้บัญญัติให้ส่งคำสั่งแก่ทนายโจทก์แต่อย่างใด การส่งคำสั่งถึงทนายโจทก์จึงไม่ชอบและขัดต่อหลักของกฎหมายที่ประสงค์จะให้โจทก์เป็นผู้ทราบคำสั่งนั้น เมื่อตัวโจทก์ทราบแล้วไม่ปฎิบัติตามคำสั่ง ก็ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง แต่กรณีนี้โจทก์คือนายสมบูรณ์เฉกรัตน์ ยังไม่เคยได้รับหมายแจ้งคำสั่งจากศาลแต่อย่างใดจึงถือว่าเป็นการส่งคำสั่งศาลให้โจทก์โดยไม่ชอบ จะฟังว่าโจทก์ทิ้งฟ้องหาได้ไม่นั้น เห็นว่า คำสั่งของศาลที่ให้ออกหมายแจ้งให้คู่ความทราบนั้นเป็นกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวด้วยคดีดังที่บัญญัติไว้ในบทวิเคราะห์ศัพท์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 1(7) และคำว่า “โจทก์” ในคดีแพ่งแม้ไม่มีบทวิเคราะห์ศัพท์ไว้โดยตรงก็ตาม ย่อมหมายความว่าผู้ยื่นคำฟ้องต่อศาลหรือนัยหนึ่งหมายความถึงผู้เป็น “คู่ความ” ตามบทวิเคราะห์ศัพท์ในมาตรา 1(11)แห่งกฎหมายดังกล่าวซึ่งรวมถึงบุคคลผู้มีสิทธิกระทำการแทนบุคคลนั้น ๆตามกฎหมายหรือในฐานะทนายความด้วย ฉะนั้น การส่งหมายหรือแจ้งคำสั่งของศาลไปยังตัวโจทก์หรือทนายโจทก์ก็ย่อมมีผลตามกฎหมายเช่นเดียวกัน และไม่มีกฎหมายใดบังคับไว้ว่า ต้องส่งหมายหรือแจ้งคำสั่งของศาลไปให้ตัวโจทก์ก่อนดังที่โจทก์ฎีกา โดยเฉพาะที่โจทก์ฎีกาว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2)บัญญัติว่า ให้ส่งคำสั่งให้โจทก์ก่อน หมายถึง ต้องส่งแก่ตัวโจทก์นั้น เป็นความคิดและเข้าใจอย่างไม่ถูกต้องของโจทก์เอง สำหรับกรณีนี้เมื่อพนักงานเดินหมายได้นำหมายแจ้งคำสั่งไปส่งให้แก่ทนายโจทก์ ซึ่งเป็นบุคคลที่โจทก์ได้แต่งตั้งและให้มีอำนาจดำเนินคดีแทนตามใบแต่งทนายในสำนวน และเป็นคู่ความตามมาตรา 1(11) ดังกล่าวจึงถือว่าเป็นการส่งหมายให้โจทก์ทราบโดยชอบและไม่ขัดต่อหลักกฎหมายใด ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแจ้งผลการส่งหมายไปยังโจทก์ แต่เจ้าหน้าที่ศาลกลับแจ้งไปยังทนายโจทก์ หาใช่ตัวโจทก์ไม่และนายสุเมธผู้รับก็เป็นบุคคลที่สภาทนายความส่งเข้าฝึกหัดงานประจำสำนักงาน ยังไม่เคยรู้จักกับทนายโจทก์ ทำให้ไม่ทราบถึงว่าทนายโจทก์ได้ย้ายภูมิลำเนาจากสำนักงานเลขที่ 124, 126ถนนจักรเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานครไปเปิดสำนักงานใหม่ของทนายโจทก์เองที่เลขที่ 261/32 ถนนเพชรเกษมแขวงปากคลอง เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่5 มกราคม 2530 ส่วนท้ายอุทธรณ์ยังพิมพ์ที่อยู่เดิมของทนายโจทก์ก็ด้วยเหตุว่าเป็นความเข้าใจผิดในการพิมพ์ของเสมียนทนายโจทก์ที่ได้นำที่อยู่ตามคำฟ้องของศาลชั้นต้นมาพิมพ์ไว้ท้ายอุทธรณ์นั้นเห็นว่า ตามรายงานการเดินหมายลงวันที่ 17 มีนาคม 2530 ของพนักงานเดินหมายระบุไว้ชัดว่า นายสุเมธอายุประมาณ 26 ปีเต็มใจรับหมายไว้แทนทนายโจทก์เพราะอยู่ในสถานที่เดียวกันแสดงว่านายสุเมธเป็นผู้บรรลุนิติภาวะตามกฎหมายและทราบดีว่าทนายโจทก์ยังอยู่ที่เลขที่ 124, 126 ดังกล่าวซึ่งเป็นสำนักงานเดิมของทนายโจทก์ เพราะถ้านายสุเมธไม่ทราบหรือไม่เคยรู้จักทนายโจทก์แล้ว เชื่อว่านายสุเมธคงไม่กล้ารับหมายไว้แทนที่โจทก์อ้างว่าทนายโจทก์ได้ย้ายภูมิลำเนาจากที่อยู่เดิมไปอยู่ที่สำนักงานใหม่ดังกล่าวข้างต้นนั้น โจทก์ก็หาได้มีหลักฐานใดมาแสดงให้เห็นว่าได้ย้ายไปจริงดังที่ฎีกาไม่ เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆยิ่งไปกว่านั้นข้ออ้างตามฎีกาของโจทก์ดังกล่าวยังขัดกับข้อเท็จจริงที่ปรากฎตามสำนวน เพราะโจทก์ยื่นอุทธรณ์ลงวันที่ 30 มกราคม 2530แต่ท้ายอุทธรณ์ระบุข้อความไว้ชัดว่าอุทธรณ์ของโจทก์นายอากาศ มงคลพันธ์ ทนายโจทก์อยู่บ้านเลขที่ 124, 126ถนนจักรเพชร แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร จังหวัดกรุงเทพมหานครเป็นผู้เรียงพิมพ์ เช่นนี้แล้ว จะให้เชื่อได้อย่างไรว่าทนายโจทก์ได้ย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่ใหม่ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2530และผู้เรียงพิมพ์ก็เป็นตัวทนายโจทก์เอง หาใช่เสมียนทนายเป็นผู้เรียงพิมพ์ดังที่ฎีกาไม่ และถ้าทนายโจทก์ย้ายภูมิลำเนาไปตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2530 แล้วเหตุใดในวันที่ 30 มกราคม 2530ซึ่งเป็นวันที่ยื่นอุทธรณ์ทนายโจทก์ยังคงยืนยันว่ามีภูมิลำเนาอยู่ที่เดิมตามที่ระบุไว้ท้ายอุทธรณ์ นอกจากนี้ศาลฎีกาได้ตรวจดูพฤติกรรมต่าง ๆ ของทนายโจทก์ตลอดมาในชั้นพิจารณา ปรากฎว่าทนายโจทก์เป็นผู้ดำเนินการแทนตัวโจทก์ทั้งสิ้น หากแต่ใช้ชื่อของตัวโจทก์ขึ้นต้นแทนเท่านั้น แม้คำแถลงของโจทก์ลงวันที่3 เมษายน 2530 โจทก์ก็ยอมรับว่าได้นำส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยและทราบด้วยว่าเจ้าหน้าที่ศาลไม่สามารถส่งให้จำเลยได้เนื่องจากจำเลยไม่อยู่ คำแถลงดังกล่าวทนายโจทก์ก็เป็นผู้เรียงและเขียนเอง จึงเห็นได้ชัดว่าโจทก์ได้ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นตั้งแต่วันที่โจทก์ยื่นอุทธรณ์แล้วว่า หากส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยไม่ได้ ก็ให้แถลงให้ศาลทราบถึงการดำเนินการต่อไปภายใน10 วัน นับแต่วันส่งไม่ได้ มิฉะนั้นถือว่าทิ้งอุทธรณ์ แต่โจทก์หาได้แถลงให้ศาลทราบมาแต่ต้นไม่ เมื่อเจ้าหน้าที่รายงานให้ศาลทราบแล้ว ศาลชั้นต้นกลับมีคำสั่งว่า รอโจทก์แถลงอีก ซึ่งเป็นคุณต่อโจทก์อยู่แล้วและยังให้โอกาสโจทก์แถลงอีกว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร โดยกำหนดเวลาให้ 7 วัน นับแต่วันทราบผลการส่งหมายแต่โจทก์กลับเพิกเฉยละเลยไม่ดำเนินการภายในเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนดไว้และทนายโจทก์ก็อ้างว่าติดธุรกิจส่วนตัว จากข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ ดังกล่าวมาเห็นได้ว่าศาลได้ให้โอกาสโจทก์เป็นเวลานาน แต่โจทก์หาได้ดำเนินการตามเวลาที่ศาลกำหนดไม่เป็นการไม่สนใจในการดำเนินคดีทั้ง ๆ ที่ได้ทราบคำสั่งของศาลโดยชอบแล้ว คดีฟังได้ว่าโจทก์ทิ้งอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2) ประกอบด้วยมาตรา 246ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยและมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีนั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share