คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 905/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นนักแสดงภาพยนตร์และโทรทัศน์โดยเป็นนักแสดงอาชีพมิได้รับจ้างแสดงเป็นครั้งคราว เงินได้ที่ได้รับเนื่องจากการแสดงภาพยนตร์และโทรทัศน์จึงเป็นเงินได้จากวิชาชีพอิสระตามมาตรา 40(6) แห่งประมวลรัษฎากร หากเงินได้ของโจทก์ไม่ใช่เงินได้จากวิชาชีพอิสระตามมาตรา 40(6) เงินได้จากการประกอบอาชีพนักแสดงก็เป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวไม่ขัดกัน ไม่เป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุม
การแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากร จะใช้วิธีนำไปส่งหรือส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนก็ได้ จำเลยใช้วิธีการส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน ดังนั้นความในประมวลรัษฎากร มาตรา 8 วรรคสอง ที่ว่าถ้าให้นำส่งเมื่อผู้ส่งไม่พบผู้รับ จะส่งให้แก่บุคคลใดซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วและอยู่ในบ้านหรือสำนักงานของผู้รับก็ได้ จึงไม่ใช้กับกรณีนี้ แต่การส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับต้องบังคับตามไปรษณียนิเทศ พ.ศ. 2529 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22แห่งพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พุทธศักราช 2477 และมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2519 ซึ่งใช้บังคับขณะพิพาทกันในคดีนี้ ไปรษณียนิเทศ ข้อ 333 กำหนดว่าไปรษณียภัณฑ์และพัสดุไปรษณีย์อาจนำจ่ายให้แก่ผู้รับหรือผู้แทนของผู้รับก็ได้ ข้อ 334 กำหนดว่า ในกรณีนำจ่าย ณ ที่อยู่ของผู้รับการสื่อสารแห่งประเทศไทยถือว่าบุคคลต่อไปนี้เป็นผู้แทนของผู้รับคือ บุคคลซึ่งอยู่หรือทำงานในบ้านเรือนหรือที่สำนักทำการงานของผู้รับ และข้อ 336 กำหนดว่าไปรษณียภัณฑ์และพัสดุไปรษณีย์ที่นำจ่ายให้แก่ผู้แทนของผู้รับให้ถือว่าได้นำจ่ายให้แก่ผู้รับแล้วนับแต่วันเวลาที่นำจ่าย ดังนั้น การที่โจทก์แถลงยอมรับว่า นางสาว ส. อายุ 18 ปี คนรับใช้และอยู่ในบ้านโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2529 จึงถือได้ว่าโจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2529 ตามมาตรา 8 แห่งประมวลรัษฎากรการที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม2529 จึงเป็นการนำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ขัดต่อมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง. (วรรคสองวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ 4/2531)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกอบอาชีพเป็นนักแสดงภาพยนตร์และโทรทัศน์ มีเงินได้เนื่องจากการประกอบอาชีพดังกล่าว และโจทก์เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยถูกต้องครบถ้วน ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยกลับประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากโจทก์เพิ่มเติมสำหรับปี พ.ศ. 2519 ถึงปี พ.ศ. 2524 โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินตามหนังสือแจ้งดังกล่าว จึงได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในกำหนดแล้วคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์โดยให้ลดเงินเพิ่มลงเหลือเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ของเงินเพิ่มตามกฎหมาย แต่ยังวินิจฉัยว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินเป็นการถูกต้องแล้ว และวินิจฉัยให้โจทก์ชำระเงินภาษีและเงินเพิ่ม โจทก์เห็นว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากโจทก์เป็นนักแสดงอาชีพมิได้รับจ้างแสดงเป็นครั้งคราวเงินได้ที่โจทก์ได้รับเนื่องจากการแสดงภาพยนตร์และโทรทัศน์จึงเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร คือเป็นเงินได้จากวิชาชีพอิสระ ซึ่งโจทก์มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายได้ร้อยละ 30ของเงินได้พึงประเมินโดยไม่จำกัดจำนวนค่าใช้จ่ายสูงสุด อย่างไรก็ดีหากเงินได้ของโจทก์ไม่ใช่เงินได้จากวิชาชีพอิสระ ตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร เงินได้จากการประกอบอาชีพนักแสดงก็เป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (8) ไม่ใช่เงินได้ตามมาตรา 40 (2)แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร โดยไม่มีกำหนดจำนวนค่าใช้จ่ายสูงสุดที่โจทก์มีสิทธิหักได้ดังนั้นการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์จึงไม่ชอบ อนึ่ง โจทก์ไม่มีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงภาษีอากร จึงขอให้ลดหรืองดเงินเพิ่มแก่โจทก์ด้วย ขอให้เพิกถอนหนังสือแจ้งให้นำภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเลขที่ 1080/1/05197 – 05202 ลงวันที่ 24 มกราคม2527 รวม 6 ฉบับ และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เลขที่ 21 ก/2525 ถึงเลขที่ 21 ฉ/2529 ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2528 รวม 6ฉบับ และให้ลดหรืองดเงินเพิ่ม
จำเลยให้การว่า การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินชอบด้วยกฎหมายแล้ว อาชีพนักแสดงภาพยนตร์หรือการแสดงภาพยนตร์มิได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นวิชาชีพอิสระแต่อย่างใด โจทก์มีเงินได้จากการรับแสดงภาพยนตร์จึงหาใช่เงินได้ตามมาตรา 40 (6) แต่เป็นเงินได้ที่ได้มาเนื่องจากการรับทำงานให้อันเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้จัดสร้างภาพยนตร์ผู้จ่ายเงินได้ดังกล่าว จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณที่จ่ายตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิหักค่าใช้จ่ายจากเงินได้ของโจทก์ก่อนคำนวณภาษีอากรได้ตามมาตรา 42 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินได้หักค่าใช้จ่ายในเกณฑ์สูงสุดดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้ว ยิ่งกว่านั้นโจทก์ก็ไม่สามารถแสดงหลักฐานได้ว่าโจทก์มีค่าใช้จ่ายสูงกว่าที่เจ้าพนักงานประเมินหักให้ โจทก์อุทธรณ์การประเมินเฉพาะประเด็นเรื่องการหักค่าใช้จ่ายของโจทก์และขอลดเงินเพิ่มเท่านั้น คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาแล้ว จึงลดเงินเพิ่มให้คงเหลือเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ของเงินเพิ่มตามกฎหมาย คำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวของคณะกรรมการอุทธรณ์จึงเป็นคำวินิจฉัยที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2529 โดยเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ส่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวไปยังโจทก์ ณ ภูมิลำเนาโจทก์ โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ เจ้าหน้าที่ของจำเลยได้รับใบตอบรับคืนซึ่งแสดงว่ามีผู้รับเอกสารไว้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2529 จึงต้องถือว่าโจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์แล้วในวันดังกล่าวตามมาตรา 8 แห่งประมวลรัษฎากรการที่โจทก์นำคดีมาฟ้องต่อศาลในวันที่ 8 พฤษภาคม 2529 จึงเป็นการฟ้องเมื่อล่วงเลยกำหนดเวลา 30 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์จึงเป็นฟ้องที่ต้องห้ามตามมาตรา 30 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม เพราะโจทก์กล่าวอ้างว่าเงินได้ของโจทก์หากไม่ใช่เงินได้ตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร ก็คงเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากรจำเลยจึงไม่อาจทราบได้ว่าโจทก์ประสงค์จะฟ้องว่าเงินได้ของโจทก์เป็นเงินได้ตามกฎหมายใด จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า เงินได้ของโจทก์ต้องตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (8) จึงหักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควรตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 มาตรา 8 ทวิ ที่ใช้อยู่ในขณะนั้นส่วนโจทก์จะหักค่าใช้จ่ายได้เป็นจำนวนเท่าใดเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาในชั้นการประเมิน ที่จำเลยจักต้องประเมินให้โจทก์เสียภาษีเงินได้ในปี พ.ศ. 2519 ถึงปี พ.ศ. 2524ใหม่ต่อไป พิพากษาให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้ตามใบแจ้งภาษีอากรที่ 1080/1/05197 – 05202 ลงวันที่ 24มกราคม 2527 รวม 6 ฉบับ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ 21 ก/2529 ถึงเลขที่ 21 ฉ/2529 ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2528 รวม 6 ฉบับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์เป็นประการแรกว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม เพราะโจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่าเงินได้ของโจทก์หากไม่ใช่เงินได้ตามมาตรา 40 (6) ก็เป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร จำเลยจึงไม่อาจทราบได้แน่ชัดว่า โจทก์ประสงค์จะฟ้องโดยอ้างว่าเงินได้ของโจทก์เป็นเงินได้พึงประเมินตามกฎหมายใดแน่ ศาลฎีกาเห็นว่าฟ้องของโจทก์หาได้มีแต่เพียงเท่าที่จำเลยหยิบยกขึ้นอุทธรณ์ดังกล่าวแล้วเท่านั้นไม่ แต่โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ด้วยว่า โจทก์เป็นนักแสดงภาพยนตร์และโทรทัศน์ โดยโจทก์เป็นนักแสดงอาชีพมิได้รับจ้างแสดงเป็นครั้งคราว เงินได้ที่ได้รับเนื่องจากการแสดงภาพยนตร์และโทรทัศน์ จึงเป็นเงินได้จากวิชาชีพอิสระตามมาตรา40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร และบรรยายฟ้องต่อไปว่า หากเงินได้ของโจทก์ไม่ใช่เงินได้จากวิชาชีพอิสระ ตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากรเงินได้จากการประกอบอาชีพนักแสดงก็เป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่โจทก์เห็นว่าเงินได้ของโจทก์ควรจะเป็นเงินได้จากวิชาชีพอิสระตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร และถ้าเงินได้ของโจทก์ไม่ใช่เงินได้จากวิชาชีพอิสระ ก็เป็นเงินได้ตามมาตรา40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งระบุตัวเงินได้รวมทั้งเงินได้จากการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 40 (1) ถึง (7) แห่งประมวลรัษฎากรด้วย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ หากเงินได้ของโจทก์ไม่ใช่เงินได้ตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากรก็ไม่ใช่เป็นเงินได้ที่เข้าอนุมาตราหนึ่งมาตราใด ซึ่งเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากรนั่นเอง ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดว่าฟ้องของโจทก์ไม่ขัดกันหรือเมื่อไม่เข้าอยู่มาตราใดก็ไม่อาจเข้าอยู่มาตราอื่นอีกได้ดังจำเลยอุทธรณ์ ส่วนที่จำเลยอ้างว่าไม่สามารถต่อสู้คดีได้แน่ชัดว่า ฟ้องของโจทก์ไม่ถูกต้องเพราะเหตุใด ก็ปรากฏว่าจำเลยได้ให้การต่อสู้ไว้ชัดแจ้งแล้วว่า เงินได้ของโจทก์เป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (2) ไม่ใช่มาตรา 40 (6) และ (8) แห่งประมวลรัษฎากร คำฟ้องของโจทก์จึงเป็นคำฟ้องที่แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์รวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 แล้ว ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
จำเลยอุทธรณ์ประการต่อมาว่า โจทก์ได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์การประเมินเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2529 แต่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2529 จึงเป็นฟ้องที่เกินกำหนดตามมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากรแล้วโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาเห็นว่าประมวลรัษฎากร มาตรา 34 บัญญัติไว้ว่า ‘คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้มีหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์ ตามมาตรา 29 หรือมาตรา 30 ให้ทำเป็นหนังสือและให้ส่งไปยังผู้อุทธรณ์’ โดยมีมาตรา 8 แห่งประมวลรัษฎากรบัญญัติว่า ‘หมายเรียก หรือหนังสืออื่น ซึ่งมีถึงบุคคลใดตามลักษณะนี้จะให้นำไปส่งในเวลากลางวันระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก หรือจะส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนก็ได้
ถ้าให้นำไปส่ง เมื่อผู้ส่งไม่พบผู้รับ จะส่งให้แก่บุคคลใดซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วและอยู่ในบ้านหรือสำนักงานของผู้รับก็ได้
ฯลฯ
วิธีการแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากรเป็นดังนี้ จึงเห็นได้ชัดว่าหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวจะใช้วิธีนำไปส่งหรือส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนก็ได้ และข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์แถลงรับตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลภาษีอากรกลางเมื่อวันที่ 14สิงหาคม 2529 ว่า จำเลยได้แจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์โดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ และนางสาวสุพัตรา หุ่นบัวทอง คนรับใช้ซึ่งมีอายุ 18 ปีเศษ และอยู่ในบ้านโจทก์ได้รับไว้ตามเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2529 จึงรับฟังได้ว่าจำเลยใช้วิธีการแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์โดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หาได้ใช้วิธีนำไปส่งดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8 แห่งประมวลรัษฎากรไม่ ดังนั้นความในมาตรา8 วรรคสอง แห่งบทกฎหมายดังกล่าวที่ว่า ‘ถ้าให้นำไปส่ง เมื่อผู้ส่งไม่พบผู้รับ จะส่งให้แก่บุคคลใดซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วและอยู่ในบ้านหรือสำนักงานของผู้รับก็ได้’ จึงไม่ใช้กับกรณีนี้ แต่การส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับที่โจทก์ใช้ในกรณีนี้ ต้องบังคับตามไปรษณียนิเทศ พ.ศ. 2529 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พุทธศักราช2477 และมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการสื่อสารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2519 ซึ่งใช้บังคับขณะพิพาทกันในคดีนี้ไปรษณียนิเทศฉบับดังกล่าว ข้อ 333 ได้กำหนดไว้ว่า ‘ไปรษณียภัณฑ์และพัสดุไปรษณีย์อาจนำจ่ายให้แก่ผู้รับหรือผู้แทนของผู้รับก็ได้’ ข้อต่อมากำหนดว่า ‘ในกรณีนำจ่าย ณ ที่อยู่ของผู้รับ การสื่อสารแห่งประเทศไทยถือว่า บุคคลต่อไปนี้เป็นผู้แทนของผู้รับคือ บุคคลซึ่งอยู่หรือทำงานในบ้านเรือน หรือที่สำนักทำการงานของผู้รับฯลฯ และข้อ 336 กำหนดว่า ‘ไปรษณียภัณฑ์และพัสดุไปรษีย์ที่นำจ่ายให้แก่ผู้แทนของผู้รับให้ถือว่าได้นำจ่ายให้แก่ผู้รับแล้วนับแต่วันเวลาที่นำจ่าย’ ดังนั้น การที่โจทก์แถลงยอมรับว่า นางสาวสุพัตรา หุ่นบัวทอง คนรับใช้และอยู่ในบ้านโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2529 ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่มีมติว่า โจทก์ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2529(ตามมาตรา 8 แห่งประมวลรัษฎากร) และดังนั้นการที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2529 จึงเป็นการนำคดีมาฟ้อง เมื่อพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ขัดต่อมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องดังจำเลยอุทธรณ์
ที่โจทก์แก้อุทธรณ์ว่า นางสาวสุพัตรา หุ่นบัวทอง มาอยู่บ้านของโจทก์เป็นการชั่วคราวเพียงเดือนเศษ ก็ขัดกับคำแถลงรับของโจทก์เองที่ว่านางสาวสุพัตรา เป็นคนรับใช้ของโจทก์ และอยู่ในบ้านโจทก์ ส่วนที่นางสาวสุพัตรามีอายุเพียง 18 ปีเศษ ไม่มีความรู้สึกผิดชอบเท่ากับผู้บรรลุนิติภาวะแต่ก็ได้ความว่านางสาวสุพัตราอยู่หรือทำงานในบ้านเรือนของโจทก์ในฐานะคนรับใช้ จึงหาเป็นการขัดกับไปรษณียนิเทศ ฉบับ พ.ศ. 2529 ข้อ 334ซึ่งไม่ได้กำหนดอายุของผู้แทนของผู้รับไว้ดังโจทก์แก้อุทธรณ์แต่อย่างใดไม่และที่โจทก์แก้อุทธรณ์ว่า โจทก์เพ่ิงทราบโดยได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2529 นั้น ก็เป็นเรื่องที่โจทก์เข้าใจกฎหมายคลาดเคลื่อนเพราะบทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติแต่เพียงว่า คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้มีหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์นั้นให้ทำเป็นหนังสือและส่งไปยังผู้อุทธรณ์เท่านั้น ส่วนการที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้อุทธรณ์จะทราบหรือไม่ และทราบเมื่อใด เป็นอีกเรื่องหนึ่งจะนำมาเป็นข้อแก้ตัวไม่ได้
พิพากษากลับ ยกฟ้องโจทก์.

Share